กรมควบคุมโรคเร่งคุมระบาด 2 โรคจากยุง 

กรมควบคุมโรคเร่งคุมระบาด 2 โรคจากยุง 

กรมควบคุมโรคเร่งคุมระบาด 2 โรคจากยุง  ทำ Dead Case Conference สอบสวนการตายจากไข้เลืดออกทุกรายให้เสร็จใน 3 วัน พร้อมหารือ สธ.เมียนมา คุม ‘มาลาเรียง 6 จังหวัด Hot Zone

      เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2566 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ครั้งที่ 3/2566 ว่า คณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยควบคุมและกำจัดโรคมาลาเรีย เนื่องจากมีการตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดใน 6 จังหวัดที่เป็น Hot Zone เป็นชายแดนไทย-เมียนมา เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานกำจัดโรคมาลาเรีย ทำให้การดำเนินงานมีความเข้มแข็ง เพราะเมื่อผู้ว่าฯ เป็นกรรมการ ก็จะไปขับเคลื่อนผลักดันต่อผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
         นอกจากนี้ เรายังได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ในการติดต่อกับทางเมียนมามาร่วมกันพูดคุยหารือในการจัดการโรคมาลาเรีย ซึ่งล่าสุดทางรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมียนมาก็ได้นำคณะมาร่วมพูดคุยกันว่าจะจัดการอย่างไร เพราะโรคมาลาเรียเป็นเรื่องระหว่างชายแดนด้วย

เร่ง2มาตรการคุมไข้เลือดออก

        ล่าสุด ตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกของไทยอยู่ที่ประมาณ 3.1 หมื่นคน ถือว่าสูงมาก โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 3 พันคน ทั้งนี้ มีการทำงานร่วมกันทุกจังหวัดทำ Mapping และวิเคราะห์สถานการณ์ จึงได้เร่งรัดมาตรการ คือ

      1.การควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พบว่า โรงเรียน รพ. และโรงงาน ยังมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูง จึงขอให้เร่งรัดลงไปดูและจัดการ โดยเฉพาะที่วัด ซึ่งมีค่าดีชนีลูกน้ำยุงลายสูงมาก เราลงไปดูในพื้นที่และแจ้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ให้ช่วยกันดำเนินการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในวัด

         2.การลดการเสียชีวิต ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 33 ราย จึงเน้นย้ำถ้าเป็นไข้เลือดออกแล้ววินิจฉัยเร็ว รักษาเร็วก็จะช่วยลดการเสียชีวิตลงได้ โดยหากมีอาการกินยาลดไข้แล้วไม่ลง มีอาการเข้าได้กับไข้เลือดออก เช่น ตัวแดง เป็นต้น ขอว่าอย่าทิ้งไว้นาน ให้รีบไปรับการรักษา ซึ่งเรามีชุดตรวจวินิจฉัยเร็ว ซึ่งสามารถตรวจได้ที่ รพ.สต. มีการกระจายชุดตรวจลงไปที่จังหวัดและลงไปถึง รพ.สต.แล้ว

กรมควบคุมโรคเร่งคุมระบาด 2 โรคจากยุง 

     “การดูแลรักษาและป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ถ้าเป็นและรีบรักษาเร็ว ก็จะไม่เข้าสู่กลุ่มอาการช็อก จนทำให้เกิดการเสียชีวิต สำคัญคือไม่ไปซื้อยากลุ่มเอ็นเสด หรือยาแอสไพรินกิน เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย”นพ.ธเรศกล่าว   

      นพ.ธเรศกล่าวว่า การดำเนินการหาสาเหตุเสี่ยงของโรคไข้เลือดออก (Dead Case Conference) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่ง ที่เมื่อมีคนป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต เราจะได้รู้สาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร เดิมปรากฏว่าบางพื้นที่ไปยึดว่า จะต้องทำกระบวนการทางคลินิก เราสื่อสารว่าอยากให้ไปทำ Dead Case ด้าน Public Health สอบสวนโรคและที่มาง่ายๆ ไม่ต้องไปทำวิเคราะห์อย่างละเอียด เพียงแค่ให้รู้คำตอบว่าจุดอ่อนคืออะไร ปัญหาอยู่ที่ไหน ขอความร่วมมือว่าให้เสร็จในสัก 3 วัน เพื่อจะได้ควบคุมโรคในพื้นที่นั้นได้อย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น
ปัจจัยเสียชีวิตจากไข้เลือดออก

         ขณะนี้มีการดำเนินการไปแล้ว 20 กว่าราย ซึ่งจากการสอบสวนหาสาเหตุผู้เสียชีวิตก็ยังเป็นปัจจัยเดิมๆ คือ วินิจฉัยช้า รักษาช้า บางคนไปกินยากลุ่มเอ็นเสด โดยพบผู้เสียชีวิตในผู้ใหญ่มากขึ้นและสูงกว่าในเด็ก อาจมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง แต่อย่างหนึ่งคือเพราะผู้ใหญ่คิดว่าไข้เลือดออกเป็นโรคในเด็ก คิดว่าตนเองแข็งแรงจึงทิ้งไว้นาน

        “ปีนี้เป็นไปตามวงรอบ คือ 2-4 ปีก็จะระบาดสูงขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง ซึ่งทีมก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี ซึ่งอย่างที่ย้ำว่ามาตรการตอนนี้คือ รู้เร็วรักษาเร็ว จัดการแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งต้องขอเน้นย้ำประชาชนถึงการจัดการโรคไข้เลือดออกว่า เป็นการดูแลที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ต้องร่วมกันทำในบ้านตนเอง ไปจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งหมด พวกแจกัน ตู้กับข้าว โอ่งน้ำรอบบ้าน และฉีดพ่นยากันยุง ถ้าทุกคนทำก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ลง”นพ.ธเรศกล่าว 
มาลาเรีย6จ.hot Zone

      นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียขณะนี้ยังเป็นขาขึ้นแต่ไม่ได้ขึ้นเร็วมากนัก โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเราใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยเฉพาะทั้ง 6 จังหวัด Hot zone มาช่วยกันดำเนินการ สำหรับที่ประชุมวันนี้มีการหารือความร่วมมือระหว่างไทย-เมียนมามากขึ้น ซึ่งรองปลัด สธ.เมียนมาและคณะเพิ่งมาเยือนไทยและพูดคุยถึงแผนงานควบคุมมาลาเรียที่ชายแดน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล การเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ทั้งสองฝั่ง ซึ่งตรงนี้ต้องต่างคนต่างช่วยกัน หรือหากมีต่างด้าวเข้ามาเราจะช่วยในการคัดกรองและรักษาเช่นเดียวกัน ก็หวังว่าการจัดการคู่กันทั้งสองฝั่งจะช่วยการควบคุมโรคสำเร็จเร็วขึ้น