สปสช. จ่อถก สธ. วาง 5 แนวทางลดภาระงานหมอ-บุคลากร ดึงใช้ไอทีช่วย

สปสช. จ่อถก สธ. วาง 5 แนวทางลดภาระงานหมอ-บุคลากร ดึงใช้ไอทีช่วย

สปสช. เตรียมหารือ สธ.วาง 5 แนวทางลดภาระงาน “หมอ-บุคลากร” ดึงไอทีมาช่วย ยกเลิกคีย์ข้อมูลเบิกจ่าย ใช้การเชื่อมโยง API ให้สายด่วน 1330 ประสานหาเตียง รพ.เอกชน ลดรอคิว กระจายบริการโรคทั่วไปสู่หน่วยบริการภายนอก ปรับแนวทางห้องฉุกเฉินคุณภาพ

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมนัดหารือกับ สปสช.ในประเด็นเรื่องภาระงานของแพทย์ที่เพิ่มขึ้นมากจากการให้บริการ ซึ่งเชื่อมโยงกับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า บัตรทองที่ สปสช.ดูแลอยู่เพื่อให้คนไทยกว่า 48 ล้านคนเข้าถึงการรักษา อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แพทย์และบุคลากรในวิชาชีพอื่นๆ มีภาระงานเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา สปสช.มีการบริหารจัดการและนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ เพื่อลดภาระการทำงานของแพทย์และบุคลากรหลายแนวทาง

สปสช.ได้เตรียม 5 แนวทางหารือกับ สธ.เพื่อลดภาระการทำงาน ดังนี้

1. เสนอยกเลิกคีย์ข้อมูลในระบบเพื่อเบิกจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์กับ สปสช. โดยจะนำร่องใน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปทุกแห่ง และสามารถดำเนินการได้ทันทีหาก รพ.มีความพร้อมในการเชื่อมต่อระบบกับ สปสช. โดยจะเป็นการเชื่อมโยง API หรือเชื่อมต่อระบบของทาง รพ.โดยตรง ทั้งนี้ การบันทึกข้อมูลในระบบนั้นมีประโยชน์ในการตรวจสอบการเบิกจ่าย นำข้อมูลมาใช้วางแผนเพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ
 

2. เสนอให้สายด่วน 1330 ช่วยกระจายผู้ป่วยในที่รอเตียง ไปยัง รพ.ชุมชนและ รพ.เอกชนที่มีเตียงว่าง ซึ่งเริ่มบริการแล้วใน กทม.

3. ผลักดันนวัตกรรมบริการเพื่อลดการมา รพ.โดยความร่วมมือกับหน่วยบริการต่างๆ ตั้งเป้าช่วยลดการมา รพ.ได้ร้อยละ 30 หรือ 60 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งบางรายการสามารถทำนอก รพ.ได้และมีหน่วยบริการอื่นที่มีความพร้อม ได้แก่ เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการรับยาที่ร้านยาพร้อมรับคำปรึกษาจากเภสัชกร ให้บริการแล้วกว่า 1.4 แสนราย มากกว่า 2.02 แสนครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน, จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์, เจาะเลือดหรือตรวจแล็บใกล้บ้าน, กายภาพบำบัดที่คลินิกกายภาพบำบัด, บริการพยาบาลพื้นฐาน เช่น ทำแผลชนิดต่างๆ ที่คลินิกการพยาบาล, เทเลเมดิซีน , ผ่าตัดวันเดียวกลับ ผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก หรือเคมีบำบัดที่บ้านในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่

4. สนับสนุนนโยบายห้องฉุกเฉินคุณภาพ เพื่อให้เป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ ไม่ใช่ everything room แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “ห้องฉุกเฉินคุณภาพ” ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) มีการจัดห้องแยกเฉพาะ พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรตามแนวทางจัดบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และ “ห้องบริการแยกจากห้องฉุกเฉิน” สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง กรณีมีเหตุสมควร เจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ
 

5.ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตนเองหรือ self care โดย สปสช.ร่วมกับหน่วยบริการหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เจ็บป่วยเล็กน้อยไปรับยาที่ร้านยาได้ หรือหากอยู่ใน กทม. ใช้บริการการแพทย์ทางไกลหรือพบหมอออนไลน์พร้อมจัดส่งยาถึงบ้านกับแอปพลิเคชันสุขภาพ 4 แห่งที่เข้าร่วม

“สปสช.เตรียมหารือ 5 แนวทางนี้ร่วมกับ สธ.เพื่อดำเนินการต่อไป ตั้งเป้าว่าจะช่วยลดภาระงานของแพทย์และบุคลากรลงได้ ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเบื้องต้นหรือเจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ต้องไปแออัดที่ รพ. ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษารวดเร็วขึ้นผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย แพทย์ลดภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรคเบื้องต้นที่เป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ มีเวลาให้กับการรักษาผู้ป่วยในเคสที่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ที่ รพ.” เลขาธิการ สปสช. กล่าว