รพ.เงินบำรุงติดลบ -หนี้เสียบุคลากร สธ.ลุยแก้

รพ.เงินบำรุงติดลบ -หนี้เสียบุคลากร สธ.ลุยแก้

รพ.สธ.เงินบำรุงติดลบ 25-35 แห่งยอดราว 1,000 ล้านบาท มอบนพ.สสจ.เกลี่ยเงินภายในจังหวัด  พร้อมลุยแก้หนี้บุคลากร หลังมีข้อมูลจากธนาคาร 1 แห่งพบหนี้เสียราว 200 ล้านบาท  เร่งสำรวจข้อมูลจริง ก่อนหารือแนวทางร่วมสถาบันการเงิน

      เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ว่า มีการติดตามเชิงนโยบายหลายเรื่อง อาทิ 1.การดูแลบุคลากร ซึ่งที่ผ่านมา สธ. มีตำแหน่งข้าราชการและบุคลากรว่างมาก  แต่จากการติตตามพบว่าเปอร์เซ็นต์ตำแหน่งว่างลดลงจากเดิม 7-8 % เหลือ 5 % จึงมีการเร่งรัดให้สอดคล้องกับการเตรียมทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของสธ.  ซึ่งปัจจุบันระบบการแพทย์มีการเปลี่ยนแปลง มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ การจัดบุคลากรต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ สอดรับกับความต้องการของประชาชน เช่น การใช้เทเลเมดดิซีน (Telemedicine) การส่งยาเดลิเวอรีใกล้บ้าน และการพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาชีพที่มีความต้องการ เช่น ทันตแพทย์

           “เรื่องการดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ พบว่าบุคลากรของสธ.จะมีเรื่องภาระหนี้สินจำนวนหนึ่ง  แม้ไม่มากนัก แต่จำเป็นต้องดูแล จึงมอบให้นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ดูแลเรื่องนี้ โดยประสานกับหน่วยงาน สถาบันการเงินต่างๆ ในการดูแลเจ้าหน้าที่”นพ.โอภาสกล่าว

    2.การติดตามนโยบายพลังงาน ด้วยการติดแผงโซล่าเซลล์ พบว่า 2-3 เดือนที่ผ่านมารพ.หลายแห่ง เสียค่าไฟเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 20-30 % ดังนั้น การติดโซล่าเซลล์หรือโซล่ารูฟ ก็ทำให้ประหยัดพลังงานขึ้น โดยปัจจุบันมีการติดตั้งแล้ว 20% ของแผนทั้งหมด ที่เหลือจะทยอยติดตั้งต่อไปใน 3-4 เดือน ซึ่งเร่งรัด รพ.ที่มีแผนการติดตั้งในปีงบประมาณ 2567 ให้ทำเสร็จภายในปี 2566 เพราะในปีงบประมาณ 2567-2568 จะต้องวางแผนการจัดอุปกรณ์ประหยัดพลังงานอื่น ๆ และวางแผนปรับเปลี่ยนรถพยาบาลให้เป็นระบบไฟฟ้า
       3.การจัดบริการให้กับประชาชน เช่น การเพิ่มบุคลากรเฉพาะเวชศาสตร์ฉุกเฉิน การจัดบริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่น การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งวันนี้มีการสรุปยอดการรักษาผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดแบบเช้าไปเย็นกลับ (One Day Surgery : ODS) ให้บริการไปแล้ว 2-3 หมื่นรายต่อปี พบว่า ผลข้างเคียงการรักษาน้อย ประชาชนได้รับความสะดวก ประหยัดเวลาและงบประมาณภาพรวม จึงมีการเร่งรัดหัตถการที่สามารถทำ ODS ได้ ก็ให้เร่งดำเนินการ เช่น การส่องกล้องลำไส้เพื่อหาความผิดปกติในลำไส้ ที่เดิมทำได้ใน รพ.ขนาดกลางและใหญ่ ก็ให้หารือกันว่าจะปรับมาให้บริการใน รพ.ชุมชนได้อย่างไร

รพ.เงินบำรุงติดลบ -หนี้เสียบุคลากร สธ.ลุยแก้

    4.กรณีประเด็นเงินบำรุงติดลบ ขอย้ำว่า เงินบำรุงติดลบไม่ได้มีความผิด แต่เป็นสิ่งที่สธ.จะไปแก้ไข โดยภาพรวมของประเทศ มีประมาณ 25-35 แห่ง ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ซึ่งไม่ได้มากถ้าเทียบกับรพ.ในกระทรวงมีประมาณ 1 พันแห่งและถ้าเทียบกับภาพรวมเงินบำรุงสธ.อยู่ที่แสนกว่าล้านบาท  ได้มอบนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ไปช่วยดูแล ซึ่งแต่ละแห่งที่มีปัญหาเงินบำรุงติดลบ มีหลายสาเหตุ เช่น บางแห่ง เป็นรพ.ขนาดเล็ก พื้นที่ประชากรน้อย งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ขึ้นกับจำนวนประชากรเข้ารพ.น้อย จึงได้มอบให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ไปดำเนินการหาทางออก โดยให้ยึดนโยบายหนึ่งจังหวัด หนึ่งโรงพยาบาล (One Province One Hospital) 
     “นพ.สสจ.หากพิจารณาแล้ว ว่ามีความจำเป็นก็ให้สามารถโอนเงินบำรุงจาก รพ.หนึ่งไปยังรพ.หนึ่ง เป็นการเฉลี่ยความรับผิดชอบ และการดูแลซึ่งกันและกัน แต่จากการคาดการณ์ไตรมาส 3 และ 4 สถานการณ์น่าจะดีขึ้น และเมื่อมีนโยบายช่วยกันดูแลเป็นทั้งจังหวัด ก็ไม่น่าจะทำให้รพ.เล็กๆมีปัญหามาก แต่ก็ต้องดูประสิทธิภาพการเก็บเงินค่ารักษา และการลดค่าใช้จ่ายต่างๆด้วย”นพ.โอภาสกล่าว
           ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ. กล่าวถึงเรื่องหนี้ของบุคลากรว่า ขณะนี้จะมีการสำรวจหนี้สิน โดยเฉพาะกลุ่ม NPL ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องหารือกับธนาคาร จากที่มีตัวเลขจากธนาคารแห่งหนึ่งพบว่ามีตัวเลขหนี้เสีย 200 ล้านบาท โดยสธ.จะเจาะตัวบุคคลและดูเรื่องสถาบันการเงิน เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้อันดับต้น มีทุกจังหวัด โดยสถาบันการเงินจะเข้ามาช่วยลดภาระหนี้ด้วยการลดดอกเบี้ยให้ ขณะนี้มีการหารือกับคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องหนี้อยู่ ล่าสุดธนาคารออมสิน จะมีแนวทางในการลดดอกเบี้ยให้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม จะดูตัวอย่างความสำเร็จของสหกรณ์ฯ สัก 2-3 แห่ง และขยายต่อไป

          “ข้อมูลเกี่ยวกับหนี้สินของบุคลากรทางการแพทย์ค่อนข้างหายาก เบื้องต้นทราบว่าสธ.เคยร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำรวจปัญหาหนี้สินเมื่อปี 2562  โดยสำรวจราว 60,000 ตัวอย่าง ก็จะนำข้อมูลนั้นมาเปรียบเทียบกับข้อมูลใหม่ที่จะทำการสำรวจร่วมกับธนาคารออมสินว่าตรงกันหรือไม่อย่างไร แล้วจึงค่อยหาแนวทางแก้ไขต่อไป”นพ.ทวีศิลป์กล่าว 
        นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่บุคลากรจะกู้เงินไปเพื่อซื้อบ้าน และบางส่วนอาจมีการประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ ซึ่งในช่วงเกิดโรคโควิด-19 ระบาด อาจทำให้ประสบปัญหาด้านการเงิน ทำให้เป็นหนี้สิน โดยการแก้ปัญหาหนี้สินของสธ. จะศึกษาต้นแบบจากการแก้ปัญหาหนี้สินของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ซึ่งมีการแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง