'นิโคติน' ในบุหรี่-บุรี่ไฟฟ้า 'กดสมอง'

'นิโคติน' ในบุหรี่-บุรี่ไฟฟ้า 'กดสมอง'

'นิโคติน'ในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า กดสมอง อภ.วิจัยยาไซทิซีนจากสมุนไพรสำเร็จ จ่อขึ้นทะเบียน อย. ดันเข้าบัญชียาหลักฯ ก่อนนำมาใช้เป็นยาเลิกบุหรี่

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า คนติดบุหรี่หรือติดนิโคติน เมื่อจะเลิกบุหรี่มักมีอาการลงแดงหรืออาการอยากบุหรี่ คือ หงุดหงิด งุ่นงาน ไม่เป็นตัวของตัวเอง ฉุนเฉียว ขี้โมโห โกรธง่าย ไม่มีสมาธิ อย่างเคยมีคนไข้เป็นศิลปินก็บอกวาดรูปไม่ได้ เหมือนไม่ใช่ตัวเอง

รวมถึง เวียนหัว นอนไม่หลับ แต่อาการลงแดงที่พบบ่อยแต่คนมักไม่ค่อยพูดถึง คือ อาการหิวบ่อย  ซึ่งเจอเยอะมากคือ ร้อยละ 70 เมื่อหยุดบุหรี่ก็คือกินเก่ง สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้น้ำหนักขึ้นและอ้วน ทั้งนี้ มีงานวิจัยรายงานออกมาว่า คนเลิกบุหรี่เมื่อขาดนิโคตินไประยะหนึ่ง จะเห็นอันดับแรก คือ ร่างกายน้ำหนักขึ้น 5-10 กิโลกรัม และกว่าจะลดได้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

\'นิโคติน\' ในบุหรี่-บุรี่ไฟฟ้า \'กดสมอง\'

"สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า นิโคตินจะมีฤทธิ์กดสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความอยากอาหาร จึงไม่อยากอาหาร อิ่มตลอดเวลาจะไม่ค่อยอยากกิน  ซึ่งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีผลกระทบเดียวกัน คือ กดความอยากอาหาร เมื่อเลิกสูบบุหรี่จะรีบาวนด์ คือ ที่กดๆ มันไว้ก็หายหมด จะกลับมากินตามที่ร่างกายอยาก เหมือนโยโย่ จึงกลับขึ้นมา 5-10 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย" รศ.นพ.สุทัศน์กล่าว

รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า แนวทางในต่างประเทศ หากสูบบุหรี่จะให้ยาเลิกบุหรี่หมดทุกคน แต่บ้านเรามีปัญหาเรื่องงบประมาณ เราจึงลองดูเฉพาะรายที่ไม่มียาแล้วเลิกไม่ได้ จึงให้ยาเลิกบุหรี่ในคนที่ติดนิโคตินเยอะ ซึ่งมี 2 กลุ่ม คือ คนที่ต้องสูบมวนแรกในครึ่งชั่วโมงหลังตื่นนอน และกลุ่มที่ต้องสูบวันละ 20 มวนขึ้นไปหรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า 20 ทีขึ้นไป ก็จะแนะนำให้ยา เพราะโอกาสที่จะเลิกไม่ได้มีสูงมาก ซึ่งยาเลิกบุหรี่และนิโคตินทดแทน ทั้งรุปแบบแผ่นแปะและหมากฝรั่ง ยังไม่เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เนื่องจากมีราคาแพง ผู้ที่เลิกบุหรี่เมื่อต้องรับยาเลิกบุหรี่หรือนิโคตินทดแทนยังต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

 ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตยาตัวหนึ่งใช้เลิกบุหรี่เป็นรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ชื่อไซทิซีน (Cytisine) เป็นสารสกัดพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งในอเมริกาใต้ ซึ่งผลการศึกษาออกมาพบว่ามีประสิทธิภาพดี ปลอดภัย คาดว่าจะจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จากนั้นจะผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีตามกระบวนการ หากเข้าได้ก็จะเป็นคุณูปการกับคนไทยอย่างมาก เพราะมีประสิทธิภาพดี ปลอดภัย ราคาถูก และผลิตเองได้ในประเทศไทย