'วัณโรค'ในไทยหลากหลายสายพันธุ์ พบ Lineage 2 แพร่สูง-ดื้อยา

'วัณโรค'ในไทยหลากหลายสายพันธุ์ พบ Lineage 2 แพร่สูง-ดื้อยา

ไทยมีวัณโรคหลากหลายสายพันธุ์  พบ Lineage 2 เกือบ 40 % แพร่ระบาดสูง-มักดื้อยา ทำระบาดกลุ่มก้อน 24 มีนาคมของทุกปีเป็นวันวัณโรคสากล (World TB Day)

 สหพันธ์องค์กรต่อต้าน วัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD: International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) เสนอกำหนดวันที่ 24 มีนาคมของทุกปีเป็นวันวัณโรคสากล (World TB Day) เพื่อย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดและเป็นปัญหาทั่วโลก
สถานการณ์วัณโรคในไทย

       กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน กองวัณโรค รายงานสถานการณ์และการเฝ้าระวังวัณโรคประเทศไทย ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 พบว่า ผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำ ของทุกประเภท (คนไทย ไม่ใช่คนไทย และเรือนจำ) ที่ขึ้นทะเบียน จำนวน 35,951 ราย คิดเป็นอัตราการรายงานผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำ 54.0 ต่อแสน ประชากร
วัณโรคดื้อยาหลายขนาน

       วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงเป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 13 ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นโรคมีผลกระทบด้านสาธารณสุขสูง เนื่องจากการรักษาโรคนี้ มีความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูงกว่าการรักษาวัณโรคที่ยังไวต่อยาหลายเท่า และต้องใช้เวลารักษานานถึง 20 เดือน

          โรควัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก (XDR-TB) สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นจากการไอ จาม ทำให้เกิดละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคลอยอยู่ในอากาศ เมื่อผู้สัมผัสใกล้ชิดสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไปในปอด ทำให้เกิดการติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้

สาเหตุที่ทำให้ป่วยเป็นวัณโรคดื้อยา คือ
1.ติดเชื้อวัณโรคดื้อยาจากผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคดื้อยาโดยตรง  

2. ผู้ป่วยได้รับการรักษาวัณโรคที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดสายพันธุ์เชื้อดื้อยา 
          ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นวัณโรคดื้อยา ได้แก่ ผู้ป่วยวัณโรคที่ปฏิเสธการรักษา ไม่ยินยอมให้มีผู้กำกับการกินยา ไม่ปฏิบัติตามแผนการรักษา เช่น กินหรือฉีดยาไม่สม่ำเสมอ 
         ผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ หากรับประทานยาแล้วเกิดอาการข้างเคียงจากยาควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเอง อาจทำให้เกิดเชื้อวัณโรคดื้อยาในภายหลัง
       หากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคควรแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับคำแนะนำในการติดตามเฝ้าระวังอาการตนเอง เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

วัณโรคLineage 2 แพร่สูง-มักดื้อยา

        นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรม ร่วมกับ สถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น (National Institute of Infectious Diseases, Japan), มหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) และศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ (CENMIG) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยพบเชื้อวัณโรคสายพันธุ์ Lineage 2 (สายพันธุ์ปักกิ่ง) ซึ่งพบการระบาดในภูมิภาคเอเชียกลางและตะวันออก, ยุโรปตะวันออก, แอฟริกาใต้ และมีการกระจายหลายวงระบาดในภาคเหนือของประเทศไทย

         ทีมวิจัยได้มีการเก็บข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคเป็นระยะเวลาตั้งแต่ ปี 2560-2563 ในจ.เชียงราย พบว่า มีเชื้อวัณโรคที่สามารถเพาะเชื้อขึ้น และสกัดสารพันธุกรรมมาตรวจหาสายพันธุ์ด้วยวิธีถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม (whole genome sequencing) จำนวน 592 ตัวอย่าง สามารถระบุสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคได้ 4 สายพันธุ์ คือ Lineage 1-4 โดยพบเป็นสายพันธุ์ Lineage 1 (สายพันธุ์อินเดีย) มากที่สุด คือ 45.8 %  สายพันธุ์ Lineage 2 (สายพันธุ์ปักกิ่ง) พบ 39.9 % ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของประเทศไทยที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคในประเทศสูง เนื่องจากมีการเชื่อมโยงของผู้คน เชื้อวัณโรคมาจากทั้งสายพันธุ์ของเชื้อวัณโรคในแถบมหาสมุทรอินเดีย และจากสายพันธุ์จากภูมิภาคเอเชียตะวันออก

วัณโรค Lineage 2ระบาดกลุ่มก้อน

            เมื่อทำการวิเคราะห์เฉพาะการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อน (cluster analysis) จากข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อวัณโรค พบเป็นสายพันธุ์ Lineage 2 มากถึง 46.2 % ซึ่งสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการแพร่ระบาดสูงและมักดื้อยา
          นอกจากนี้ ยังพบการระบาดที่เป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ คือมีผู้ป่วยวัณโรค 10 คนขึ้นไป จำนวน 4 การระบาด โดย 20 – 40% ของผู้ป่วยมีประวัติเคยเป็นผู้ต้องขัง ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญกับการระบาดมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีประวัติเป็นผู้ต้องขัง ประมาณ 4 เท่า โดยบางรายมีอาการของวัณโรคหลังจากเคยต้องขังผ่านมาถึง 10 ปี 

        ปัจจุบัน ประเทศไทยดำเนินการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและผู้สัมผัสวัณโรค เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาวัณโรคและวัณโรคแฝง ดังนั้นเครือข่ายต่างๆ หากประเมินแล้วมีผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงกลุ่มนี้ เช่น กลุ่มผู้ต้องขัง ควรมีการตรวจคัดกรองวัณโรคและการตรวจวัณโรคแฝง ภายหลังจากออกจากทัณฑสถาน เพื่อให้ตรวจพบวัณโรคได้รวดเร็วลดโอกาสเสียชีวิตจากวัณโรค เกิดการควบคุมวัณโรคแบบครบวงจรในกรณีระบาด โดยย้ำว่าการป้องกันวัณโรคที่ดีที่สุด คือการหาผู้ป่วยวัณโรคให้เจอเร็ว และรักษาให้ครบถ้วน เพื่อลดการแพร่เชื้อ

        ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินงานการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อวัณโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติในการยุติวัณโรค โดยปี 2566 มีเป้าหมายในการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อวัณโรค จำนวน 700 ตัวอย่าง โดยคาดหวังว่าจะสามารถขยายการใช้ประโยชน์จากข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อวัณโรคเพื่อนำไประบุวงระบาดและเพิ่มประสิทธิภาพในการสอบสวนและควบคุมโรคในพื้นที่อื่นเพิ่มเติมได้

กลุ่มเสี่ยงที่พบติดวัณโรคมาก
       นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้การรณรงค์ภายใต้แนวคิด “ยุติวัณโรค เราทำได้” (YES WE CAN END TB) โดยให้สถานบริการทุกแห่งจัดกิจกรรมตรวจคัดกรองวัณโรคในประชากรกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส การให้ความรู้และให้คำปรึกษา เพื่อเร่งรัดค้นหาผู้ที่มีอาการ และรักษาให้หายขาด ลดการรังเกียจตีตรา และเลือกปฏิบัติผู้ป่วยสามารถกินยาและรักษาต่อเนื่องจนครบและหายขาดจากวัณโรคได้

          วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถติดต่อได้ด้วยระบบทางเดินหายใจและติดต่อจากคนสู่คน พบได้ทั่วไป แต่จะพบมากที่สุดในกลุ่มเสี่ยงที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีที่สูบบุหรี่ หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร่วมกับโรคเบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตเรื้อรังที่รับยากดภูมิคุ้มกัน  โรคปอดฝุ่นหิน ประชากรกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เช่น ชุมชนแออัด นักโทษในเรือนจำ สถานสงเคราะห์ บ้านพักคนพิการ คนไร้ที่พึ่ง ผู้ใช้สารเสพติด แรงงานต่างด้าว

วิธีป้องกันวัณโรค

     การป้องกันวัณโรค ให้ประชาชนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ควรตรวจร่างกายโดยการเอกซเรย์ปอดอย่างน้อยปีละครั้ง หากมีผู้ป่วยวัณโรคในบ้านต้องให้รับประทานยาให้ครบถ้วนสม่ำเสมอทุกวัน พร้อมให้สมาชิกในครอบครัวไปตรวจคัดกรองการติดเชื้อเพื่อรับประทานยาป้องกัน และขอเชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรม หรือขอรับคำปรึกษาฟรีได้ที่สถานบริการสาธารณสุข/โรงพยาบาลของรัฐ ทุกแห่ง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านหรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422