วาเลนไทน์ปีนี้ รักอย่างไร? ให้ปลอดโรค ไม่ท้องในวัยเรียน

วาเลนไทน์ปีนี้ รักอย่างไร? ให้ปลอดโรค ไม่ท้องในวัยเรียน

Happy Valentine's Day 14 กุมภาพันธ์ วาเลนไทน์ เทศกาลแห่งความรักของคู่รักที่มักจะตัวเตรียมฉลองกับคนรัก โดยเฉพาะวัยรุ่น มักมีการแสดงออกถึงความรักความปรารถนาดีที่มีต่อกัน

'วาเลนไทน์' ถือเป็นวันหนึ่งที่วัยรุ่นให้ความสำคัญมาก อาจมีการมอบดอกกุหลาบ ช็อคโกแลต หรือของขวัญต่างๆ ให้แก่กัน อีกเรื่องหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า วัยรุ่นมักจะกล่าวอ้างว่าเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความรัก คือ การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันหรือในช่วงวัยรุ่น มักจะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ได้แก่ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม หรือการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เช่น การติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ ซิฟิลิส หนองใน หูดหงอนไก่ เริม เป็นต้น

สถิติของสถานการณ์การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในประเทศไทย จากรายงานการเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า แนวโน้มอัตราการป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มสูงขึ้น โดยมีสาเหตุจาก 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคแผลริมอ่อน กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง และโรคซิฟิลิส 

โดยในปี พ.ศ. 2564 อัตราการป่วยคิดเป็น 41.97 ต่อประชากรแสนคน  โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ โรคซิฟิลิส มีอัตราป่วยที่สูงขึ้น คิดเป็น 14.83 ต่อประชากรแสนคน พบมากที่สุดในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี และในปี 2564 มีอัตราการป่วยด้วยโรคซิฟิลิสเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 2 เท่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

วาเลนไทน์เงินสะพัด 2.3 พันล้านบาท คักสุดรอบ 4 ปี

เลือกซื้อ 'ถุงยางอนามัย' อย่างไร? ให้ได้มาตรฐาน ไม่ฉีกขาด ถุงไม่แตก

13 กุมภา 'วันถุงยางอนามัยสากล" ป้องกันท้อง ป้องกันโรคติดต่อทางเพศ

 

วันวาเลนไทน์นี้ แนะให้รักตัวเอง กล้าที่จะปฎิเสธ

ดร.ทิวาภรณ์ เฉลิมพิชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือการมีคู่นอนหลายคน ค่านิยมที่ผิดของวัยรุ่น เช่น การอวดการมีเพศสัมพันธ์กัน การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ไม่ใส่ถุงยางอนามัย หรือการใช้ถุงยางอนามัยไม่ถูกวิธี รวมถึง การเจาะหรือสักตามร่างกาย การดื่มสุราของมึนเมา ทำให้ขาดสติมีโอกาสเพลี่ยงพล้ำได้ง่ายกว่าปกติ เป็นต้น

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้เราสามารถพบผู้ป่วยที่มีอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้มากขึ้น โดยข้อสังเกตหากสงสัยว่า เรามีการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ภายหลังจากที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หากมีอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้ได้แก่ เจ็บหรือแสบขัดขณะถ่ายปัสสาวะ มีผื่น คัน แผล ฝี หรือหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ ขาหนีบบวมแดง หรือตกขาวผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจ

เนื่องจากภายหลังการติดเชื้อในระยะแรกๆ มักพบอาการผิดปกติและหายไป แต่เชื้อยังคงแฝงอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการ เช่น เอชไอวี/เอดส์ หรือซิฟิลิส เชื้อเหล่านี้สามารถติดต่อไปยังคู่สมรส หรือคู่นอนได้ ในกรณีของสตรีที่ตั้งครรภ์ เชื้อสามารถถ่ายทอดจากมารดาสู่ทารกในครรภ์และก่อให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตแก่ทารกในครรภ์ได้หากไม่ได้รับการรักษา

"แนะวัยรุ่นในวันวาเลนไทน์นี้ ให้รักตัวเอง เลี่ยงการไปในสถานที่ลับตา หลีกเลี่ยงการไปอยู่กับคนแปลกหน้า หรือคนที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และอีกหนึ่งวิธี คือ กล้าที่จะเจรจาต่อรอง ป้องกันตนเอง ให้สามารถหลุดพ้นจากสถานการณ์คับขัน"

 

โรคติดต่อเพศสัมพันธ์พุ่งสูง ต้องรู้จักป้องกันตนเอง

สิ่งสำคัญหากเลี่ยงไม่ได้ วิธีที่ป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ คือ การใช้ถุงยางอนามัย โดยควรศึกษาวิธีการใส่ให้ถูกต้อง และตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป สปสช.สนับสนุนบริการถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่น สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ จะได้รับถุงยางอนามัยครั้งละ 10 ชิ้นต่อสัปดาห์ สามารถลงทะเบียนผ่านแอพเป๋าตัง 

หากท่านใดมีปัญหาหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรืออยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่าจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างไรให้ถูกวิธี สามารถสอบถามได้จากทาง Facebook Fanpage : Lady’s Talk คุยเฟื่องเรื่องหญิง  ซึ่งจะมีคณาจารย์ จากภาควิชาการพยาบาลสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมให้คำแนะนำและคอยตอบคำถามจากทุกคน

จากสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของประเทศไทย ในปี 2563 อัตราป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก ในทุกกลุ่มอายุ คิดเป็นร้อยละ 33.6 ต่อประชากรแสนคน โรคที่มีอัตราป่วยสูงสุดและมีแนวโน้มสูงขึ้น คือ โรคซิฟิลิส รองลงมาคือ โรคหนองใน โรคหนองในเทียม โรคแผลริมอ่อน และโรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง คิดเป็นร้อยละ 16.4, 11.9, 3.1, 1.8 และ 0.4 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ

โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราป่วยโรคซิฟิลิสค่อนข้างสูงในรอบ 5 ปี จากปี 2559 เท่ากับร้อยละ 13.7 เพิ่มเป็นร้อยละ 50.4 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2563 และพบอัตราป่วยด้วยโรคหนองในเท่ากับร้อยละ 58.8 ต่อประชากรแสนคน และคาดว่าในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจากการสำรวจเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี (BSS) ของกองระบาดวิทยาปี 2562 พบว่า เยาวชนมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุด ประมาณร้อยละ 80 ซึ่งยังมีบางส่วนที่ยังไม่ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์   

Start Safe SEX, Use Condom

กรมควบคุมโรค จึงแนะนำหลัก Start Safe SEX, Use Condom : รักปลอดภัยเริ่มที่ "ถุงยางอนามัย" เพื่อเป็นแนวทางให้กับเยาวชนได้เห็นถึงความสำคัญในการป้องกันตนเองและคู่ให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี ตลอดจนส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยให้เป็นเรื่องปกติในการดูแลสุขภาวะทางเพศ รวมถึงการมีความรับผิดชอบต่อคู่และสังคม

โดยยึดหลัก ดังนี้ รักปลอดภัย (Safe SEX) การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยอย่างมีสุขภาวะทางเพศที่ดี โดยการพกอุปกรณ์ป้องกัน และหากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงควรเข้ารับการคัดกรอง หรือหากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็ว พร้อมชวนคู่มาตรวจด้วย

นอกจากนี้คุณแม่ที่มีเชื้อซิฟิลิส สามารถถ่ายทอดเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ควรเข้ารับการฝากครรภ์โดยเร็วก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพื่อคัดกรอง และรักษา เพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ได้ จึงอยากให้ทุกคนเริ่มที่การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ด้วยการ ใช้ถุงยางอนามัย (Use Condom) อย่างถูกวิธีทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ โดยเลือกให้ถูกไซส์ ใช้ให้ถูกสเต็ป เก็บและทิ้งให้ถูกวิธี ซึ่งถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ชนิดเดียวที่สามารถป้องกันได้ทั้งเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม

การใช้ถุงยางอนามัยไม่ได้หมายความว่าไม่เชื่อใจต่อกัน แต่เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและคู่ เพียงเริ่มต้นด้วยการหยิบถุงยางอนามัยมาใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ก็จะทำให้คุณมีรักที่ปลอดภัย ไร้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2286 2465 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

เช็กเสี่ยงติดเชื้อ HIV หรือไม่?

ผศ.นพ.ถนอมศักดิ์ อเนกธนานนท์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่าสำหรับผู้ที่สงสัยว่าอาจจะติดเชื้อ HIV   ในระยะที่เริ่มมีอาการบ้างแล้ว จะพบฝ้าขาวที่ลิ้น กระพุ้งแก้มและเพดานปากเนื่องจากเป็นเชื้อราในปาก หรือมีน้ำหนักลดผิดปกติ ท้องเสียเรื้อรัง  ไข้ไม่ทราบสาเหตุ ต่อมน้ำเหลืองโต  มีตุ่มคันจำนวนมากคล้ายกับตุ่มที่เกิดจากการเกาหลังถูกยุงกัดที่บริเวณแขนขา  ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรมาปรึกษาแพทย์ 

 การที่จะรู้ว่าติดเชื้อ HIV หรือไม่นั้น  ต้องมีการตรวจเลือด  ซึ่งผู้ที่มาพบแพทย์ควรได้รับการให้คำแนะนำถึงผลดีและผลเสียของการตรวจรวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้นจากการตรวจ โดย ทั่วไปถ้าตรวจพบว่าผู้นั้นติดเชื้อ HIV จากผลการตรวจเลือดแล้ว  แพทย์จะให้ตรวจเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า CD4 ดูว่าภูมิต้านทานของร่างกายอยู่ในระดับใด   เพื่อจะได้วางแผนการรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสมต่อไป 

ระดับภูมิต้านทานยังดีอยู่ หมายถึง  มีเม็ดเลือดขาว CD4 มากกว่า 350  เซลล์ต่อลบ.มม.    แพทย์จะแนะนำให้ผู้ติดเชื้อปฏิบัติตัวตามปกติ  หลีกเลี่ยงการรับเชื้อเพิ่ม  เช่น ไปมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยาง  หรือใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกับผู้อื่น  ส่วนเรื่องอาหารและน้ำดื่มจะต้องสะอาด  ไม่ควรรับประทานอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เช่น ไข่ดาวไม่สุก หรือตอกไข่ใส่โจ๊กหรือเครื่องดื่มบางชนิด  ถ้าจะรับประทานผักสดผลไม้ ควรล้างให้สะอาด ผลไม้ควรปอกเปลือกทุกครั้ง

ระดับภูมิต้านทานต่ำ  หมายถึง  มีเม็ดเลือดขาว CD4   เหลือน้อยกว่า  350  เซลล์ต่อลบ.มม.

แพทย์จะแนะนำผู้ป่วยก่อนตัดสินใจให้ยาต้านไวรัส HIV (เดิมพิจารณาเริ่มยาต้าน HIV เมื่อเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม.)  ถ้าผู้ติดเชื้อเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสหรือมีระดับเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลบ.มม. จะถือว่าผู้ติดเชื้อนั้นเข้าสู่ระยะที่เป็นโรคเอดส์แล้ว

ในปัจจุบันมียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพดี ราคาถูก สามารถรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ตามสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิประกันสังคม  ถ้าเม็ดเลือดขาว CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลบ.มม.  แพทย์จะให้ยาป้องกันการติดเชื้อจากโรคฉวยโอกาสด้วย  เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis (PCP) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบมากในผู้ป่วยเอดส์เป็นอันดับ 2 รองจากวัณโรค

ปัญหาที่พบบ่อยหลังจากผู้ป่วยรับประทานยาต้านไวรัสไปสักระยะหนึ่งคือ ผู้ป่วยบางรายอาจจะหยุดยาเอง เนื่องจากเห็นว่าอาการดีขึ้น หรือผู้ป่วยย้ายที่อยู่   ซึ่งผลเสียของการหยุดยาอาจทำให้เชื้อที่อยู่ในตัวเกิดดื้อยา เมื่อกลับไปรับประทานยาเดิมอาจไม่ได้ผล  ทำให้การรักษาต่อไปยุ่งยากซับซ้อนขึ้น อีกทั้งยา กลุ่มอื่นๆ ที่จะใช้ต่อไป 

นอกจากมีผลข้างเคียงมากขึ้นแล้ว ราคายายังแพงกว่าเดิม แต่ประสิทธิภาพการรักษาอาจลดลง ปัจจุบันประมาณว่าผู้ป่วยเกือบหนึ่งแสนคน ที่เกิดเชื้อดื้อยาขึ้นหลังได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแล้ว อีกปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยคือ ผู้ป่วยรับประทานสมุนไพรบางอย่างหรือยาที่ไม่รู้สรรพคุณ ซึ่งอาจทำให้เกิดตับอักเสบหรือทำปฏิกิริยากับยาต้านไวรัสได้ 

แม้ว่าโรคเอดส์จะยังไม่สามารถรักษาหายขาดได้ก็จริง หากแต่การรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งด้านการป้องกันภาวะแทรกซ้อน  การติดเชื้อซ้ำเติม  ตลอดจนป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นอีก ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต     

สำหรับผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อจากชายสู่ชาย หรือ ชายสู่หญิง หรือหญิงสู่ชาย สิ่งสำคัญคือ การป้องกันอย่าไปรับเชื้อใหม่เพิ่มมาอีก ไม่ควรมีคู่นอนหลายคน งดการมีเพศสัมพันธ์  ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางปากด้วย (oral sex) ด้วย ให้ใช้ถุงยางอนามัยเสมอ เพราะอาจจะมีโอกาสติดเชื้ออื่นๆเพิ่มขึ้นจากเพศสัมพันธ์ได้  และถ้าได้รับเชื้อ HIV ที่ดื้อยามาอาจทำให้เกิดปัญหาในการรักษาเชื้อเอชไอวีดื้อยาได้

หลายท่านอาจคิดว่าเป็นโรคเอดส์แล้วต้องตายอย่างรวดเร็วทุกราย ที่จริงแล้วถ้าผู้ป่วยดูแลตัวเองดีๆ รับประทานยาตรงเวลาและครบถ้วน จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานใกล้เคียงกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่    ออกกำลังกาย    พักผ่อนให้เพียงพอ   เลิกสิ่งเสพติดและของมึนเมาทุกชนิด  เช่น สุรา บุหรี่   และลดความวิตกกังวล  เป็นต้น

วาเลนไทน์นี้  ไม่มีเพศสัมพันธ์ ไม่มีโรค

วิธีการป้องกัน : การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุดคือการไม่มีเพศสัมพันธ์ หากยังมีเพศสัมพันธ์ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก

  • ไม่เปลี่ยนคู่นอน ให้มีสามีหรือภรรยาคนเดียว
  • ใส่ถุงยางให้ถูกต้องหากจะมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
  • อย่ามีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยเพราะจากสถิติหากมีเพศสัมพันธ์อายุน้อยจะมีโอกาสติดโรคสูง ให้ตรวจประจำปีเพื่อหาเชื้อโรคแม้ว่าจะไม่มีอาการ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการแต่งงานใหม่ เรียนรู้อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • อย่าร่วมเพศขณะมีประจำเดือน เพราะจะทำให้เกิดโรคติดต่อได้ง่าย
  • อย่ามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หากจำเป็นให้สวมถุงยางอนามัย
  • อย่าสวนล้างช่องคลอดเพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย

Safe Sex วาเลนไทน์ได้ง่ายๆ

  • วิธีการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยที่สุด คือ การไม่มีเพศสัมพันธ์
  • รักเดียวใจเดียวและมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักที่อยู่ร่วมกันโดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับทุกช่องทาง
  • พกอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อมตลอดเวลา เช่น ถุงยางอนามัย (เลือกให้ถูกไซต์ไม่ควรคับหรือหลวมไป)
  • หากพลาดพลั้งคุณผู้หญิงควรกินยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
  • หากมีอาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจทันที
  • มีสติทุกครั้งในการมีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้การมีเพศสัมพันธ์ไม่ควรเป็นการบังคับ ควรมีสติและป้องกันทุกครั้ง เพราะไม่ว่าใครก็ไม่ควรตกเป็นเหยื่อ ทั้งหญิงและชายเพราะโรคทางเพศสัมพันธ์หรือปัญหาท้องไม่พร้อมผ่านความสนุกเพียงครั้งเดียว ฉะนั้นวาเลนไทน์นี้ “Safe Sex Safe MySelf” 

อ้างอิง: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  กรมควบคุมโรค