ท่าทีล่าสุด "อนุทิน" ต่อการถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ.

ท่าทีล่าสุด "อนุทิน" ต่อการถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ.

 หลังจากที่มีการเปิดเผยผลการติดตามประเมินผลการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยัง อบจ. พบว่า บุคลากรกว่า 40% ที่โอนย้ายไป มีความต้องการขอย้ายกลับกระทรวงสาธารณสุข และสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย ได้ยื่นฟ้องผู้ให้ข้อมูลฐานบิดเบือน ล่าสุด "อนุทิน" ตอบคำถามเรื่องนี้

     ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นหน้าที่ของปลัด สธ. ที่จะทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา เป็นเรื่องของสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว ส่วนตัวรับทราบเพียงว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน คงไม่สามารถมีนโยบายใหม่อะไรได้ เมื่อเป็นกฎหมายก็จะเป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติ ในส่วนของ สธ.คือ ปลัดกระทรวง

         ปลัดฯ เน้นย้ำตลอดเวลา เท่าที่ฟังเมื่อท่านประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ว่า หน่วยงานต่างๆ ในบังคับบัญชาต้องให้บริการดีที่สุดต่อประชาชน ส่วนประเด็นถ่ายโอนที่เกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปคุยกัน เพราะรัฐมนตรีวางนโยบาย แต่ไม่สามารถไปบอกว่า ต้องทำงานแบบนี้แบบนั้น หากทำจะเป็นการก้าวก่าย

           “ส่วนตัวเข้ามารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข หลังมี พ.ร.บ.กระจายอำนาจ ... ให้มีการถ่ายโอน ซึ่งก็เป็นกฎหมาย  ดังนั้น จะไปมีนโยบายว่า ไม่ให้ถ่ายโอน ย่อมทำไม่ได้  เรื่องนี้จึงเป็นการปฏิบัติงาน เป็นเรื่องของปลัดฯ ไม่ใช่รัฐมนตรี” นายอนุทิน กล่าว

     กรณีลูกจ้าง พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเรียกร้องความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นกำหนดตำแหน่ง บรรจุข้าราชการ ค่าเสี่ยงภัย  นายอนุทิน กล่าวว่า การกำหนดตำแหน่งอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) จะมีขั้นตอน ต้องผ่านสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.)และมา ก.พ.  หากผ่านขั้นตอนดังกล่าว สธ.ไม่ได้มีปัญหาใดๆ ส่วนเรื่องสวัสดิการของบุคลากร มีการปรับอยู่เรื่อยๆ ทุกอย่างเป็นไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ ในฐานะรัฐมนตรี หากผู้บริหารกระทรวงนำเสนอ ก็สนับสนุน และนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ตามขั้นตอนทางกฎหมาย

    “หากจะส่งเรื่องถึง รมว. ก็ต้องส่งเรื่องตามลำดับสายงาน ผู้บังคับบัญชา การบริหารแผ่นดินต้องมีขั้นตอน ไม่ใช่บริษัท หากทำเกินก็จะเข้าข่ายละเมิดอำนาจหน่วยงานได้ สิ่งที่ทำได้ เมื่อมีการนำเสนอ ก็รีบดำเนินการตามหน้าที่ ที่มี” นายอนุทิน กล่าว

40% บุคลากรถ่ายโอนอยากกลับ

       เรื่องนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565  นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ระดับ 11) และประธานคณะอนุกรรมการ MIU วิชาการ และติดตามประเมินผลถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ให้แก่ อบจ. กล่าวว่า หลังจากมีการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) / โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จากการติดตามประเมินผลการถ่ายโอนภารกิจ  โดยการสำรวจ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปกว่า 3,000 แห่ง ใน 49 พื้นที่  และลงพื้นที่ไปสำรวจแบบโฟกัส กรุ๊ป ให้ตอบคำตอบแบบอิสระ เป็นไปตามหลักข้อมูลวิชาการ ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ ทำเพื่อประโยชน์เพื่อระบบสาธารณสุข และประชาชน  ถือเป็นการสะท้อนให้ข้อแนะนำเชิงสร้างสรรค์ (Constuctive  feedback) จากการสำรวจ พบว่า

  • การโอนย้ายไป อบจ.ครั้งนี้ ที่อยู่ในระดับพอใช้ ดี และดีมาก มีประมาณ 10%
  • มีราว 90% ที่ค่อนข้างมีปัญหาหลากหลาย
  • บุคลากรกว่า 40% ที่โอนย้ายไปมีความต้องการขอย้ายกลับกระทรวงสาธารณสุข เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ ประกอบด้วย

1.ความไม่พร้อมในการรับถ่ายโอนของ อบจ. ระบบใหม่ยังไม่ลงตัว ระเบียบต่างๆ และแนวทางการดำเนินงานยังไม่ชัดเจน และไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานของสาธารณสุข โดยระบุว่า อยากให้โครงสร้าง อบจ. มีความพร้อมมากกว่านี้ถึงจะทำการถ่ายโอน และให้สมัครใจย้าย ไม่ใช่บังคับสมัครใจโดยนำกฎหมายมาอ้าง แต่ขาดความพร้อม ขาดความเข้าใจ

 2.ภาระงาน ให้เหตุผลว่า ภาระงานเพิ่มมากขึ้น บุคลากรไม่เพียงพอต่องาน ความไม่มั่นคงทางการเงินของ รพ.สต. ทำให้ต้องหาเงินเข้า รพ.สต.ด้วย ขณะที่บุคลากร อบจ.ไม่เพียงพอ และไม่มีความรู้ด้านสาธารณสุข ทำให้ประชาชนเสียผลประโยชน์ ระบบบริการเดิมที่ดีอยู่แล้ว แย่ลงมาก ประชาชนได้รับผลกระทบ

3.ความก้าวหน้า และความมั่นคงในการทำงาน โดยลูกจ้างมีโอกาสก้าวหน้าค่อนข้างยาก และไม่มีความชัดเจน ความก้าวหน้าไม่เป็นไปตามโครงสร้าง การปรับเงินเดือนขึ้นน้อยกว่า เงินเวรน้อยกว่า สวัสดิการ และเงินค่าตอบแทนต่างๆ ได้ไม่เท่าเดิม อีกทั้งยังมีปัญหาสิทธิการรักษาพยาบาลที่ได้ไม่เท่าเดิม สิทธิการรักษาของกระทรวงสาธารณสุขมีความมั่นคงมากกว่า อปท.      
4.ระบบการทำงานของ อบจ.ไม่เอื้อต่อการทำงานของ รพ.สต. แนวทางการปฏิบัติงานยุ่งยาก ซับซ้อน ขั้นตอนมาก ไม่มีความคล่องตัว ระบบการประสานงานข้ามกระทรวงยุ่งยาก ประสานงานลำบาก  ขอบเขตงานทันตกรรมไม่ชัดเจน ที่สำคัญ อบจ.ไม่มีทันตแพทย์รองรับการให้บริการทันตสุขภาพ เพิ่มชั้นความห่างของการทำงาน บาง รพ.สต. กว่าจะเดินทางมาถึง อบจ. มีระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร จากเดิมที่ผู้บังคับบัญชาอยู่ในพื้นที่คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ

 5.ความรู้สึกหลังการโอนย้าย โดยระบุว่า ไม่ชอบระบบทางการเมือง แนวนโยบายก่อนกับหลังถ่ายโอนไม่สามารถทำตามได้จริง หรือทำไม่ได้อย่างที่ออกนโยบาย ต้องรอความชัดเจน และมีบุคลากรส่วนหนึ่งระบุว่า ไม่ได้อยากโอนย้าย แต่อยากทำงานที่ รพ.สต.เหมือนเดิม และขอให้กระทรวงสาธารณสุข หาแนวทางช่วยเหลือผู้ที่ประสงค์โอนย้ายกลับ ภายในปี 2568 โดยขอย้ายกลับในตำแหน่งเดิม เลขที่ตำแหน่งเดิม และมีแนวทางรองรับเจ้าหน้าที่ย้ายกลับให้ชัดเจน
สมาคม อบจ.ยื่นฟ้องบิดเบือน
      ต่อมาวันที่ 24 ม.ค.2566 นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)แห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายสมาคมฯ ยื่นฟ้องร้องผู้ให้ข้อมูลไปลงสื่อต่างๆ ขณะนี้เราดำเนินการฟ้องแล้ว เพราะสิ่งที่ลงข่าวมานั้นจริงหรือเปล่า จึงไม่อยากให้สื่อไปทำในสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ต้องฟ้องเพราะบิดเบือนความจริง

      และวันที่ 25 ม.ค.2566 สมาคมฯ ออกแถลงการณ์ ระบุส่วนหนึ่งว่า สมาคมฯ ขอชี้แจงและทำความเข้าใจในกรณีดังกล่าว

1.ตามที่ นพ.รุ่งเรือง ได้กล่าวถึงว่า บุคลากรกว่า 40% ที่โอนย้ายไปมีความต้องการขอย้ายกลับคืนสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอให้ระบุมาให้ชัดเจนว่า มีที่มาของข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ได้หรือไม่ว่าบุคลากร ที่กล่าวถึงนั้นคือใคร มีจังหวัดไหนบ้าง  

    จากการที่ทางสมาคมฯ ได้สอบถามไปยัง อบจ.ต่างๆ แล้วก็ได้รับข้อมูลมาว่ายังไม่มีจังหวัดไหนที่มีบุคลากรขอโอนกลับหรือจะมีบ้างก็ประเภทที่มีความขัดแย้งกันใน รพ.สต.มาขอย้ายสลับไปอยู่ที่อื่น และส่วนใหญ่ก็จะมาทวงถามกันว่าเมื่อไหร่จะเปิดให้มีการประเมินเพื่อขึ้นระดับชำนาญการพิเศษมากกว่า

          2.การที่ท่านระบุว่า อบจ.ไม่มีความพร้อมในการรับการถ่ายโอน นั้น ขอเรียนว่า ก่อนที่จะมีการถ่ายโอน 49 อบจ.ที่รับถ่ายโอน ได้ผ่านการประเมินความพร้อมจากคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนฯ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีการให้คะแนนตามเกณฑ์ชี้วัดในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน อีกทั้งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และการถ่ายโอนจริงเพิ่งจะเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2565 ซึ่งมีระยะเวลาที่ อบจ.ได้เข้าไปดำเนินการบริหาร รพ.สต.เพียง 3 เดือน ถือว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมากถ้าเทียบกับ รพ.สต.ที่อยู่กับกระทรวงสาธารณสุขมาเกือบ 100 ปี

        3. อยากให้ท่านกลับไปอ่านทบทวน ประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ระบุให้ส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข จะต้องดำเนินการสนับสนุนการถ่ายโอนในฐานะพี่เลี้ยงในหลายๆ เรื่อง ซึ่งในบทเฉพาะกาลก็ได้ระบุว่าภารกิจใดที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขระเบียบหรืออยู่ในระหว่างดำเนินการก็ให้ถือปฏิบัติตามเดิมไปก่อนจนกว่าจะมีการแก้ไขระเบียบมารองรับ แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ปฏิบัติตาม

           เช่น กรณีเงินค้างท่อของ สป.สช.ซึ่งเป็นผลงานของ รพ.สต. ที่ดำเนินการในช่วงโควิด-19 หรือเงิน HICI ซึ่งขณะนี้ได้มีการโอนไปที่โรงพยาบาลแม่ข่าย หรือ CUP แต่ไม่ยอมโอนต่อไปยัง รพ.สต.ที่ถ่ายโอน โดยอ้างว่าระเบียบเงินบำรุงของกระทรวงสาธารณสุขไม่ให้โอนนอกสังกัด ทำให้ขณะนี้มีเงินก้อนนี้ค้างท่ออยู่เฉยๆ โรงพยาบาลก็ใช้ไม่ได้เพราะเป็นเงิน รพ.สต. ในขณะที่ รพ.สต.ก็ไม่ได้ใช้เพราะโรงพยาบาลไม่โอนมาให้ ซึ่งทั่วประเทศคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นต้น

            4. สมาคม อบจ.ยอมรับว่า การรับถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.เป็นเรื่องใหม่ที่ อบจ.ไม่เคยทำมาก่อน และการดำเนินงานในด้านต่างๆ อาจจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกมิติ และเราพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะมาช่วยชี้แนะหรือร่วมกันพัฒนางานในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้มาใช้บริการ และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์