คัมภีร์บำนาญแห่งชาติ “สูงวัย-รวย-สุขภาพดี”

คัมภีร์บำนาญแห่งชาติ “สูงวัย-รวย-สุขภาพดี”

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วขึ้น ทำให้เป็นโจทย์ใหญ่ของฝ่ายการเมืองว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยดีขึ้นได้อย่างไร จำเป็นต้องบรรจุ "บำนาญแห่งชาติ" ลงในรัฐธรรมนูญหรือไม่

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เคยคาดการณ์ไว้ว่าสังคมไทยกำลังจะเข้าสังคมผู้สูงอายุในปี 2568 แต่ล่าสุดพบว่าในปี 2565 ประเทศไทยไม่เพียงแต่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเท่านั้น แต่มีหลายจังหวัดเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พบสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรทุกวัย เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าร้อยละ 20

ว่ากันว่าปี 2576 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยถึง 28 % ของประชากรทั้งหมด หรือเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย ระดับสุดยอด ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 5.5 แสนคนเท่านั้นในปี 2564 โดยอัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงเหลือ 1.5 จากเดิมที่อยู่ที่ 2.0 ทว่าประชากรที่สูงวัยเหล่านั้นกลับอายุยืนขึ้น จากการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้า ขณะเดียวกันอายุที่มากขึ้นก็มาพร้อมกับโรคประจำตัว ประมาณการว่า ผู้สูงอายุของไทยที่มีอยู่ราว 12 ล้านคน ประมาณ 8 – 9 แสนคน อยู่ในภาวะพึ่งพิงหรือต้องการคนดูแลนั่นเอง

ขณะเดียวกันปีนี้กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้เป็นปีแห่ง “สุขภาพสูงวัยไทย” เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึงจึงมีการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ จัดบริการคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทุกระดับ การมอบวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นแก่การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ พร้อมคัดกรองความถดถอย 9 ด้านของผู้สูงอายุ อาทิ 1.การเคลื่อนไหวร่างกาย 2.การขาดสารอาหาร 3.การมองเห็น เช่น ตาฝ้าฟางหรือยัง 4.การได้ยิน 5.ภาวะซึมเศร้า 6.การกลั้นปัสสาวะ 7.ความคิดความจำ 8.การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และ 9.สุขภาพช่องปากด้วย Blue Book Application ครอบคลุมผู้สูงอายุอย่างน้อย 10 ล้านคน

คนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ หรือสูงวัยอย่างไรถึงจะมีคุณภาพ เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องหาคำตอบ  กำหนดนโยบายเพื่อทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัย”อย่างมีคุณภาพได้อย่างไร และเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคการเมืองที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชนนำไปใช้ในการหาเสียงได้อย่างเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่แค่ 10 ล้านที่สูงวัย แต่ยังรวมไปถึง ลูกหลานของกลุ่มคนเหล่านั้นอีกด้วย 

จะเห็นได้จากตัวแทนพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคต่างนำเสนอแนวคิด “บำนาญแห่งชาติ” หลากหลายมิติในงานรำลึก 15 ปี “นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทหนึ่งในผู้บุกเบิก และผลักดันโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ไม่ใช่แค่การออมเพื่อให้มีเงินใช้ยามชราเท่านั้น ทว่าต้องมีแนวทางที่ทำให้ทั้ง “มีเงินใช้ยามสูงวัยอย่างมีความสุข และมีสุขภาพดี" ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ได้เสียก่อน 

คำถามคือทำอย่างไรถึงจะทำให้ “สูงวัยและมีเงินออมบวกสุขภาพดี” เนื่องจากผู้สูงวัยราว 12 ล้านคน แต่มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีการออม รัฐบาลจำเป็นต้องบรรจุเป็นคัมภีร์ “บำนาญแห่งชาติ” ไว้ในรัฐธรรมนูญเลยหรือไม่ เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาลจะต้องปฏิบัติตาม เป็นโจทย์ที่ท้าทายกับทุกรัฐบาลที่ต้องรับมือในวันที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยระดับสุดยอด