เริ่มแล้ว ทดสอบ "เข็มกระตุ้น" วัคซีนโควิด-19 ตัวแรกไทยผลิต

เริ่มแล้ว ทดสอบ "เข็มกระตุ้น" วัคซีนโควิด-19 ตัวแรกไทยผลิต

โค้งสุดท้าย วัคซีนโควิด-19 ไทยทำเองของ อภ. เริ่มวิจัยระยะ 3 ใช้เป็นเข็มกระตุ้น อาสาสมัคร 4,000 คน หากสำเร็จตามแผน กลางปี 2566 ยื่นขึ้นทะเบียน อภ.พร้อมผลิต 5 - 10 ล้านโดสต่อปี

 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2565 ที่ศาลากลาง จ.นครพนม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวระหว่างการเป็นประธานเปิดโครงการวิจัยระยะที่ 3 เพื่อประเมินความปลอดภัย และความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน เอชเอ็กซ์พี จีพีโอ(HXP-GPOVac) ซึ่งดำเนินการโดยองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ว่า เมื่อโรคโควิด-19 ยังอยู่ต่อไป หากโครงการวิจัยวัคซีนนี้สำเร็จ ประเทศไทยก็จะสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ จะใช้เสริมสร้างภูมิคุ้มกันเป็นเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดส เงินทองไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ และเสริมสร้างความมั่นคง แข็งแกร่งระบบสาธารณสุข มีความมั่นคงด้านสุขภาพ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้งบประมาณจัดหาวัคซีนโควิด-19 กว่า 8 หมื่นล้านบาท

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ. กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 นี้ ถือเป็นรายแรกของประเทศไทยที่มีความก้าวหน้าที่สุด ถึงขั้นตอนการวิจัยระยะ3 โดยเป็นวัคซีนที่ผลิต ด้วยการใช้เชื้อไวรัสนิวคาสเซิลที่ก่อให้เกิดโรคในไก่ ไม่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ มาเป็นเวกเตอร์ และใช้เทคโนโลยี Hexapro เพื่อเอาไวรัสก่อโรคโควิด-19 ไปฝังตัว เป็นแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยตั้งแต่แรก เพราะใช้พื้นฐานเป็นเชื้อไวรัสนิวคาสเซิล และนำมาทำให้เป็นเชื้อตายอีกครั้งหนึ่ง ความปลอดภัยถึง 2 ชั้น 

   "ถ้าการวิจัยเป็นไปตามกำหนดการ จะยื่นขอทะเบียนได้กลางปี 2566 ภายในปีหน้าจะได้ใช้ ส่วนกำลังการผลิตช่วงแรกน่าจะผลิตประมาณ 5-10 ล้านโดสต่อปี ถ้าใช้กระตุ้นน่าจะเพียงพอในประเทศ แต่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต"นพ.วิฑูรย์ กล่าว

ด้าน นพ.เกรียงไกร ประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยระยะที่ 3 เพื่อประเมินความปลอดภัย และความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน เอชเอ็กซ์พี จีพีโอ(HXP-GPOVac) กล่าวว่า การศึกษาวิจัยในระยะที่ 3 จะดำเนินการในอาสาสมัครจำนวน 4,000 คน เพื่อติดตามความปลอดภัย และดูผลกระตุ้นภูมิคุ้มกัน วัตถุประสงค์เพื่อเป็นเข็มกระตุ้น ในผู้ที่เคยรับวัคซีนโควิดมาแล้ว 2 เข็มที่เป็นตัวเดียวกัน เช่น แอสตร้า - แอสตร้า ซิโนแวค - ซิโนแวค ไฟเซอร์ - ไฟเซอร์ โดยจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) ขนาด 10 ไมโครกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และติดตามดูเรื่องความปลอดภัย และผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยหลังการฉีดจะมีการเจาะเลือดตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่ 14 วัน,3 เดือน ,6 เดือน และ 1 ปี เพื่อนำผลไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในประเทศไทย ก่อนนำมาใช้เป็นวัคซีนโควิด-19 ในไทยต่อไป  

 ทั้งนี้ สถานที่ศึกษาวิจัยระยะ 3 มี 2 แห่ง ได้แก่ 1.ศาลาประชาคมยงใจยุทธ ศาลากลาง จังหวัดนครพนม และ 2.อำเภอนาแก อาสาสมัครที่สนใจสามารถมารับได้ทั้ง 2 แห่ง แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาในการฉีด คือ 23-29 ธ.ค.2565 และ 5-11 ม.ค.2566

คุณสมบัติอาสาสมัครที่จะเข้าร่วมได้ คือ
1.อายุ 18 ปีขึ้นไป
2. มีสุขภาพดีถ้ามีโรคประจำตัวอาการจะต้องคงที่ อาการต้องผ่านการพิจารณาโดยแพทย์ว่าอาการคงที่ และเข้าร่วมโครงการได้
3.ไม่เคยมีประวัติเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนใน 3 เดือน
4. มีการตรวจยืนยัน atk วันที่มาฉีดต้องเป็นลบ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์