"การเล่น 6 แบบ" สัมพันธ์กับ "พัฒนาสมองเด็ก"

"การเล่น 6 แบบ" สัมพันธ์กับ "พัฒนาสมองเด็ก"

“การเล่น”เปรียบเสมือนอาหารหลักหมู่ที่ 6 ของเด็ก โดยเฉพาะปฐมวัย  เล่นแบบไหนที่จะช่วยพัฒนาสมองเด็ก สธ.-สสส.ชูเล่นเปลี่ยนโลก เด็กมีเล่นอิสระ

เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับหลายภาคส่วนจัดงาน "มหกรรม Play Day สร้างโอกาสเล่น เพื่อเด็กทุกคน" ครั้งที่ 4 ขึ้นที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เพื่อส่งเสริมการ "เล่น" หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตพร้อมก้าวสู่โลกอนาคต

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ภายใต้วิสัยทัศน์ "เด็กปฐมวัยทุกคนมีพัฒนาการอย่างครบล้วน เต็มตามศักยภาพ คำนึงถึงคุณภาพความเท่าเทียมและความจำเป็นชั้นพื้นฐานของเด็กปฐมวัย เพื่อนำไปสู่ความเป็นพลเมืองคุณภาพ"

4P เล่นเปลี่ยนโลกในศูนย์พัฒนาเด็ก  

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเด็ก ซึ่งเป็นอนาคตขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยที่เป็นช่วงเริ่มต้นของชีวิต  เมื่อปี 2563 สธ. ได้ประกาศนโยบายเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก และสร้างกระแส Play Day สร้างโอกาสเล่นเพื่อเด็กทุกคน พร้อมพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกนำร่องในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้คลอบคลุมทุกจังหวัด ภายใต้ 4P ได้แก่

1.Play Space : พื้นที่เล่น

 2.Play Process : กระบวนการเล่น

3.Play Worker : ผู้อำนวยการเล่น

 4.Play Management Unit : หน่วยบริหารจัดการการเล่น
เพื่อสนับสนุนให้เด็กไทยได้เล่นทุกที่ ทุกเวลาอย่างเหมาะสม

เด็กต้องได้เล่นอิสระ

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่เล่น ให้เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน คู่ขนานไปกับระบบการศึกษา หัวใจสำคัญของการเปิดพื้นที่เล่น คือ การให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระตามธรรมชาติของเด็ก

โดยผู้อำนวยการเล่นเพียงจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ไว้ ต่างจากการเข้าไปจัดกิจกรรมที่ผู้ใหญ่กำหนดให้เด็กทำแบบนั้นแบบนี้ การปล่อยให้เด็กได้เล่นอิสระ จะทำให้เขามีความสุข ได้พัฒนาการตามช่วงวัย ช่วยเพิ่มความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ ลดความเนือยนิ่งจากการอยู่กับหน้าจอและเพิ่มกิจกรรมทางกาย

แต่ ปัจจุบันพบว่า เด็กทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขนาดเล็ก มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ทำให้เด็กจำนวนมากใช้เวลาว่างนอกเวลาเรียนไปกับหน้าจอมือถือ ขาดโอกาสเรียนรู้ในเวลาว่างผ่านการเล่น หรือการลงมือทำ

สสส. จึงสานพลังกับ สธ. และภาคีเครือข่าย จัดพื้นที่เล่นนำร่องหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนแต่ละกลุ่ม ทั้งในสถานศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด

“เล่น”กระตุ้นสมองเปิดการเรียนรู้

ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า ผลงานวิจัยในระดับสากลชี้ชัดว่า การเล่นในเด็กปฐมวัย เช่น การเล่นกับพ่อแม่ พี่น้อง ธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ ดิน ทราย น้ำ ระบายสี ปั้นดินน้ำมัน ต่อบล็อกไม้ ฉีก ตัด ปะกระดาษ วิ่งเล่นในสนาม ปีนป่าย เล่นบทบาทสมมติ เล่นดนตรี ทำงานบ้าน และการอ่านหนังสือ

เป็นการกระตุ้นสมองให้เปิดรับการเรียนรู้ ผ่านความรู้สึกสนุก ก่อให้เกิดวงจรการเรียนรู้ และพัฒนาการรอบด้าน  ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ สติปัญญา และช่วยเสริมทักษะการคิดเชิงบริหาร EF (Executive Function) ในการจัดการความคิด ความรู้สึก และการกระทำ การยืดหยุ่นทางความคิด การวางแผน ตั้งเป้าหมาย แก้ไขปัญหา เตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่วัยเรียน วัยรุ่น และวัยทำงาน

6 ลักษณะเล่นพัฒนาสมอง

จากคู่มือเล่นเปลี่ยนโลก สำหรับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ของกรมอนามัย ระบุถึง ลักษณะการเล่นเด็กปฐมวัยที่สัมพันธ์กับการพัฒนาสมอง ประกอบด้วย

1. การเล่นกับร่างกายตนเอง (Unoccupied play)

เป็นการเล่นในช่วงเด็กแรกเกิดจนถึง 3 เดือน เป็นช่วงที่ทารกมักจะชอบการเคลื่อนไหวร่างกายของตน (แขน ขา มือ นิ้ว เท้า) และเริ่มเรียนรู้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและการเคลื่อนไหวร่างกายของตนเอง

2. การเล่นตามลำพัง (Solitary play)

เป็นการเล่นในช่วงเด็กแรกเกิดจนถึง 2 ปี จะชอบเล่นคนเดียวและไม่สนใจที่จะเล่นกันเป็นกลุ่ม โดยมากการเล่นตามลำพังของเต็กมักจะชอบหยิบจับสิ่งของ นำสิ่งของเข้าปากเพื่อรับรู้รสชาติ

การเล่นตามลำพังของเด็กไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองยังเล่นด้วยไม่ได้ โดย ผู้ปกครองควรเล่นกับเด็ก พูดคุย หยอกล้อ หยิบ ยื่นกับเด็ก

นอกจากจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์และการรับรู้ ของเด็กแล้ว เด็กยังเรียนรู้การพัฒนาด้านภาษาจากผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี และเน้นการเล่นโดยให้เต็กเคลื่อนไหวอย่างอิสระ

3. การเล่นแบบสังเกตการณ์ (Spectator/Onlooker Behavior)

เป็นการเล่นในช่วง 2 ปี เด็กจะให้ความสำคัญกับการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวโดยเฉพาะ ดูเด็กคนอื่น

ครูและผู้ดูแลเด็ก อาจจะช่วยสนับสนุนให้เด็ก ได้เข้าไปเล่นร่วมกับเต็กอื่น ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์

ทั้งนี้ เด็กบางคนอาจจะไม่กล้าพูดคุย การส่งเสริมให้เต็กได้เล่นกับเด็กที่อายุต่างวัยและต่างเพศจะช่วยทำให้เด็กได้เรียนรู้ได้เป็นอย่างมาก

4. การเล่นแบบต่างคนต่างเล่น (Parallel play)

เป็นการเล่นในช่วงมากกว่า 2 ปี เป็นการเล่นของเด็กอย่างอิสระหลังจากที่ตน อาจไปสังเกตการณ์จากเด็กคนอื่นแล้ว และนำกระบวนการเล่นมาเล่นเอง เช่น สังเกตเห็นเด็กคนอื่นก่อปราสาททราย หลังสังเกตและเข้าใจแล้วจึงเล่นตามลำพังและไม่ไปแทรกแชงการเล่นหรือขอคนอื่นเล่นด้วย ครูและผู้ดูแลเด็กควรสอดแทรกให้เด็กรู้จักการแบ่งปัน และการแบ่งเวลาการเล่นให้ดี

5. การเล่นร่วมกับคนอื่น (Associative play)

เป็นการเล่นในช่วงเด็กอายุ 3 ถึง 4 ปี เต็กจะชอบที่จะเล่นกับคนอื่น อาจมีการเล่นกับอุปกรณ์คนละชิ้น แต่จะชอบการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่น ๆ โดยมากจะเล่นเป็นกลุ่มเล็ก 2-3 คน

การเล่นแบบนี้จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกรัก สามัคคี การแบ่งปัน การแก้ปัญหา และการพัฒนาการทางภาษาได้ และการเล่นร่วมสามารถทำได้ทั้งกลางแจ้ง และทำได้ ในห้องเรียน ห้องที่จัดสำหรับการเล่นและพื้นที่เปิดที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก

6. การเล่นแบบร่วมมือกัน (Cooperative play)

เป็นการเล่นในช่วงเด็กอายุ 4 ปีขึ้นไป เป็นการเล่นโดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เป็นการเล่นเพื่อสร้างความเพลิดเพลินและเล่นกับคนอื่น การเล่นชนิดนี้สามารถมีการตั้งกฎกติกา ให้เด็กได้เรียนรู้การรู้จักแพ้ อภัยและแบ่งปัน