หนาวนี้ต้องระวัง เช็ก 4 กลุ่ม "โรคภัย" สุขภาพ เสี่ยงเจ็บป่วย

หนาวนี้ต้องระวัง เช็ก 4 กลุ่ม "โรคภัย" สุขภาพ เสี่ยงเจ็บป่วย

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ "หน้าหนาว" ปลายตุลาคมจนถึงกุมภาพันธ์ อากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย ดังนั้น การหมั่นดูแลร่างกายให้อบอุ่นและแข็งแรงอยู่เสมอ จะช่วยลดโอกาสที่จะเจ็บป่วยจากโรคและภัยสุขภาพ

ตามที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ ฤดูหนาว ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2565 คาดการณ์ว่าปีนี้อุณหภูมิจะลดลงมากกว่าปีที่ผ่านมา และจะหนาวไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน และเชื้อโรคบางชนิดอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย 

 

โรค และ ภัยสุขภาพ หน้าหนาว 

 

กรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศเตือนเรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2565 โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ)  

2.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง)

3.โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว (โรคหัด)  

4.ภัยสุขภาพ (การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว)

 

กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ 

  • โรคไข้หวัดใหญ่ โควิด-19 

สามารถติดต่อจากการไอ จามรดกัน หรือสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อ  หากได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการไข้ ไอแห้ง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เยี่อบุโพรงจมูกอักเสบและเจ็บคอ

 

  • โรคปอดอักเสบ 

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราบางชนิดที่ถุงลมปอดจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อ จะมีอาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย อาการดังกล่าวมักเป็นเฉียบพลัน และพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่จะมีอาการรุนแรงในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและมีโรคประจำตัว

 

"โดยทั้งสองโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่ออยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง"

 

 

กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ

  • โรคอุจจาระร่วง 

เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรค จะมีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย ป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย ดื่มน้ำสะอาดและรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด

 

กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว

  • โรคหัด 

เกิดจากการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากการไอ จามของผู้ป่วย หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ อาการจะมีไข้ ไอ ตาแดงและแฉะ และมีผื่นขึ้นหลังมีอาการ 3-4 วัน ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะ แต่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ โดยต้องฉีดเข็มแรก ตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มสอง ตอนอายุ 1 ปีครึ่ง

 

กลุ่มที่ 4 ภัยสุขภาพ

  • การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว 

ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เนื่องจากไม่มีเครื่องนุ่งห่มหรือผ้าห่มกันหนาวที่เพียงพอ จากการเฝ้าระวังการเสียชีวิตที่มาจากสภาวะอากาศหนาว ระหว่างวันที่ 2 พ.ย. 64 - 1 มี.ค. 65 พบว่า มีผู้ป่วยเข้านิยามเฝ้าระวัง 10 ราย เสียชีวิตภายนอกบ้าน 6 ราย (เป็นสถานที่ที่ไม่สามารถป้องกันความหนาวได้ เช่น กระท่อม ทุ่งนา ใต้ถุนบ้าน) เสียชีวิตในบ้าน 4 ราย เดือนธันวาคมเป็นช่วงที่พบผู้เสียชีวิตมากที่สุด 5 ราย 

 

เตรียมพร้อมเข้าสู่ "หน้าหนาว" 

 

  • เตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้เพียงพอ
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรง
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 
  • สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้พิการ ควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวหากป่วยจะมีอาการหนักกว่าคนทั่วไป
  • ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงภาวะอากาศหนาว

 

หนาวนี้ต้องระวัง เช็ก 4 กลุ่ม \"โรคภัย\" สุขภาพ เสี่ยงเจ็บป่วย

 

การดูแลร่างกาย 

 

สำหรับ การดูแลสุขภาพร่างกายในหน้าหนาว กรมอนามัย แนะนำว่า

  • ดื่มน้ำอุ่นเป็นประจำเพื่อช่วยสร้างความอบอุ่นกับร่างกาย เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว ช่วยให้ระบบย่อยทำงานได้ดีขึ้น และช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย
  • 1 วัน ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
  • กินอาหารครบ 5 หมู่
  • เน้นอาหารที่ร้อนและปรุงสุกใหม่ ๆ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อาทิ เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน เวทเทรนนิ่ง คีตะมวยไทย เต้นแอโรบิก โยคะ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ กระโดดเชือก การกีฬาประเภทต่าง ๆ
  • ทำงานบ้าน อย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

 

อาบน้ำอย่างไร ในหน้าหนาว

 

  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำในช่วงกลางคืน ในช่วงที่อากาศเย็น
  • หากจำเป็นต้องอาบน้ำ ควรอาบน้ำอุ่นประมาณ 10-15 นาที ไม่ควรเกิน 30 นาที เพราะการอาบน้ำนานเกินไปจะทำให้ผิวหนังแห้ง แตก ลอก   
  • ไม่ควรปรับอุณหภูมิน้ำร้อนจนเกินไป
  • ควรราดน้ำไล่จากเท้าขึ้นไป อย่ารีบราดทั้งตัว โดยที่ยังไม่ปรับอุณหภูมิร่างกาย อาจทำให้เป็นหวัดได้ง่าย
  • หลังจากอาบน้ำอุ่นในช่วงท้ายให้อาบน้ำอุ่นสลับน้ำเย็น เพื่อปิดรูขุมขนและปรับสมดุลผิวหนัง
  • และหลังอาบน้ำอุ่น ควรทาครีมบำรุงผิวทันที เพื่อความชุ่มชื่นและป้องกันผิวแตก
  • ที่สำคัญ ต้องสวมเสื้อผ้าหนา ๆ ห่มผ้าในช่วงเวลากลางคืนหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็น เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น