คร. เข้มมาตรการสกัด"อีโบลา" ในผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกา

คร. เข้มมาตรการสกัด"อีโบลา" ในผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกา

กรมควบคุมโรค เข้มมาตรการป้องกัน "อีโบลา" ในผู้เดินทางจากทวีปแอฟริกาที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศทวีปแอฟริกาที่ เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2565 โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขประเทศยูกันดาและองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2565 มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย

 

และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 44 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 49 ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย ซึ่งการระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน ซึ่งมีความรุนแรงเป็นอันดับสอง (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 53) รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ (อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 68)

 

 

 

สำหรับการระบาดในครั้งนี้ ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยยังไม่มากแต่เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดโดยมีการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดในประเทศยูกันดาอย่างเข้มข้น จากการตรวจสอบข่าว พบว่า องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศ ให้การระบาดครั้งนี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) แต่ปกติจะมีการประเมินสถานการณ์ระบาดเป็นระยะ  
 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 กรมควบคุมโรคได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เนื่องจากโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากประเทศยูกันดา ทุกรายจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพ และลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย 

 

 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางไปประเทศระบาด

 

ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมโรค ได้ออกคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เนื่องจากองค์การอนามัยโลก ยังไม่มีประกาศห้ามการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด ผู้ที่จะเดินทางสามารถเดินทางไปได้ แต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำ ได้แก่

1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย  

2) หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร

3) หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพ  

4) หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือบ่อยๆ  

5) หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย ภายหลังกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้รีบพบแพทย์ทันที

 

หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422