กรมวิทย์เผยเส้นทางกลายพันธุ์ "โควิดโอมิครอน BQ.1"

กรมวิทย์เผยเส้นทางกลายพันธุ์ "โควิดโอมิครอน BQ.1"

กรมวิทย์ระบุโควิดโอมิครอน BQ.1 เป็นรายเก่ารายงานตั้งแต่ปลายก.ย.  ขณะนั้นGISAID ระบุเป็น BE.1.1 ก่อนพบข้อมูลเพิ่มจึงเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ เผยเส้นทางกลายพันธุ์มาจากโอมิครอน BA.5 ยังไม่พบก่ออาการรุนแรงมากขึ้น

เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดีแจ้งข้อมูลพบโควิด-19 โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BQ.1 ในประเทศไทยจำนวน 1 รายว่า  ข้อเท็จจริงคือ เป็นข้อมูลที่กรมได้รายงานเข้าไปยังระบบ GISAID ตั้งแต่ 21 ก.ย.2565  โดยในช่วงเวลานั้นข้อมูลที่ GISAID มีอยู่ระบุเข้าได้กับ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BE.1.1 กระทั่ง เมื่อมีข้อมูลพบการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง N460Kจำนวนมากขึ้น จึงกำหนดเป็นสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และเปลี่ยนข้อมูลจากBE.1.1 เป็นBQ.1 เมื่อมีวันที่ 18 ต.ค.2565

“รายที่เจอ BQ.1ในไทย 1 รายเป็นรายเดิมที่รายงานไปตั้งแต่ปลายก.ย. เพียงแต่GISAID เพิ่งมาเปลี่ยนการระบุสายพันธุ์ใหม่ โดยผู้ป่วยรายนี้เป็นชายต่างชาติ อายุ  40 ปี  เดินทางมาจากประเทศจีน รักษาที่รพ.แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ส.ค.2565   ไม่มีอาการอะไรมาก หายเป็นปกติแล้ว  แต่รพ.ส่งตัวอย่างมาให้กรมถอดรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์ ตามระบบเฝ้าระวังที่ได้วางระบบไว้ คือ หากเป็นผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยในแถบชายแดน ผู้ป่วยที่เดินทางมาจากประเทศที่มีปัญหา ซึ่งระบบเฝ้าระวังของเรายังได้ผลอยู่” นพ.ศุภกิจกล่าว 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดขึ้นเรื่อยๆ   BQ.1 เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนหลายตัว ที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO บอกให้จับตาดู เนื่องจากดูโตเร็ว อำนาจแพร่กระจายมากขึ้น ขณะที่ตัวที่โตเร็วสุด แพร่กระจายได้เร็วสุดหรือหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดตอนนี้  คือ XBB  รองลงมา คือ BQ.1.1 จึงเป็นตัวที่ต้องให้น้ำหนักในการตามากสุด โดย BQ.1.1 ยังไม่เจอในประเทศไทย ทั้งหมดยังเป็นโควิด-19 โอมิครอน และยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ความรุนแรงมากขึ้น แต่อาจจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นได้

สำหรับเส้นทางกลายพันธุ์ของ BQ.1  มาจากโควิด-19 โอมิครอน BA.5 มาเป็น BA.5.3 มาเป็น BE.1.1 มาเป็น BQ.1 และต่อไปเป็น BQ.1.1ซึ่งเป็นตัวที่แพร่กระจายได้เร็วเป็นอันดับ 2 อยู่ตอนนี้ แต่ยังไม่เจอในไทย

ส่วนสายพันธุ์ XBB ที่อำนาจแพร่กระจายได้เร็วสุดอยู่ตอนนี้นั้น กลายพันธุ์มาจาก โอมิครอน BA.2 มาเป็น BA.2.10 มาเป็น BJ.1 และเป็น XBB 

“มาตรการส่วนบุคคลที่ใช้ในการป้องกันตนเอง ทั้งการใส่หน้ากากและล้างมือบ่อยๆยังสามารถช่วยป้องกันได้ ขอให้คนไทยอย่าเพิ่งหย่อนมาตรการ เมื่อรวมกับการฉีดวัคซีนได้มาก น่าจะช่วยให้ป้องกันการระบาดในไทย ส่วนที่สิงคโปร์เจอการระบาดเพราะมีการเลิกมาตรการป้องกันต่างๆ”นพ.ศุภกิจกล่าว