สธ. วาง 4 ระบบ เฝ้าระวัง "โควิด" ระบาด ฉีดวัคซีนเด็ก 6 เดือน - 4ปี

สธ. วาง 4 ระบบ เฝ้าระวัง "โควิด" ระบาด ฉีดวัคซีนเด็ก 6 เดือน - 4ปี

กระทรวงสาธารณสุข วาง 4 ระบบ เฝ้าระวัง "โควิด-19" ระบาด ยืนยันไทยยังไม่พบ โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ แนะประชาชน ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังคงมาตรการทางสังคมอย่างสมดุล เดินหน้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาแดงเข้ม เด็ก 6 เดือน - 4 ปี ย้ำเป็นไปด้วยความสมัครใจ

หลังจากที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป และ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคยุโรป (ECDC) ออกแถลงการณ์ร่วม ถึงสถานการณ์ โควิด-19 ที่ชัดเจนว่ายังไม่จบ ในยุโรปการติดเชื้อระลอกใหม่เริ่มต้นขึ้น พร้อมแนะนำให้ประชาชนฉีดทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่และ โควิด-19 

 

ไทยวาง 4 ระบบ เฝ้าระวัง โควิดระบาด

 

ขณะที่ประเทศไทยเอง กระทรวงสาธารณสุข ยังคงเฝ้าระวัง “โควิด” ต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาจะพบว่า ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล และผู้ป่วยอาการหนักมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ผู้เสียชีวิตลดลงเช่นกัน

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวนับเป็นสัญญาณที่ดี และแม้จะปรับมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ยังมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 65 ที่ผ่านมา "นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์" ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า กระทรวงสาธารณสุข มีการเฝ้าระวังใน 4 ระบบ ได้แก่

  • ระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล
  • ระบบเฝ้าระวังการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน
  • ระบบเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงหรือกลุ่มเสี่ยง
  • ระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์

 

ซึ่งยังไม่พบสัญญาณของสายพันธุ์ที่จะมีการระบาดรวดเร็ว หลบภูมิคุ้มกัน หรือมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องการป้องกันตัวของประชาชน พบว่า มีการสวมหน้ากากอนามัยลดลง แต่ยังมีการสวมในที่ชุมชนอยู่ ซึ่งขณะนี้ไม่ได้บังคับเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ขอให้พิจารณาตามความเหมาะสม 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

 

อย่างไรก็ตาม การฉีด วัคซีนโควิด-19 ยังต้องรณรงค์ต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง รวมถึงเข็มกระตุ้นที่มีความจำเป็น โดยจะเร่งรัดการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมอีก 2 ล้านโดสภายในปลายปีนี้ เน้นกลุ่ม 608 เป็นหลัก แต่ภาพรวมประชาชนทั่วไปยังควรต้องฉีดเช่นกัน รวมถึง การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้ม ในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี ที่คิกออฟวันที่ 12 ตุลาคม ขอเชิญชวนผู้ปกครองนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนได้ตามความสมัครใจ หากเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัวจะมีแพทย์ให้คำแนะนำ

 

ไทยยังไม่พบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

 

จากรายงานข่าวในต่างประเทศได้มีการตรวจพบ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ตัวใหม่ สายพันธุ์ BQ.1.1 และ XBB โดยระบุว่าสามารถแพร่เชื้อได้เร็วนั้น "นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์" รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ออกมายืนยันเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 ว่า ประเทศไทยยังไม่พบโควิด 19 สายพันธุ์ BQ.1.1 และจากการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า ยังไม่มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย โดยปัจจุบันสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.5 ซึ่งแนวโน้มสอดคล้องกับทั่วโลกที่มีการระบาดของสายพันธุ์ BA.5 เป็นสายพันธุ์หลัก

 

คงมาตรการทางสังคม ที่สมดุล

 

รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำว้า แม้ในขณะนี้มีแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ลดลง ประกอบกับในหลายพื้นที่มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ยังคงมีมาตรการที่สำคัญ โดยเน้นมาตรการทางสังคมที่สมดุลกับชีวิตวิถีใหม่ คือ

  • มาตรการสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่เสี่ยง
  • ล้างมือ
  • เว้นระยะห่าง
  • หากติดเชื้อโควิด 19 ให้รักษาตามอาการ
  • ถ้าไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ให้กินยาตามอาการ และแยกตัวเอง 5 วัน
  • หากจำเป็นต้องเดินทางหรือไปทำงาน ให้สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น
  • หากมีอาการมากขึ้นให้ไปพบแพทย์
  • การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังเป็นตัวช่วยที่ลดความรุนแรงของโรคได้

 

 

วัคซีนโควิดเด็ก 6 เดือนถึง 4 ปี

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้มีทำการ คิกออฟ ฉีดวัคซีนโควิด-19 เด็ก 6 เดือนถึง 4 ปี ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี พร้อมให้บริการทั่วประเทศ ผู้ปกครองพาบุตรหลานมาฉีดได้ตามความสมัครใจ 

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้รับวัคซีน พบว่ามีอัตราป่วยมากกว่าเด็กโต 1.5 เท่า และป่วยเสียชีวิตมากกว่าเด็กโต 3 เท่า ดังนั้น เมื่อ อย.มีมติเห็นชอบวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ขยายขอบเขตข้อบ่งใช้วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดง สำหรับกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน - 4 ปี

 

ประเทศไทยจึงเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่จัดหาและนำเข้ามาฉีดให้แก่เด็กกลุ่มนี้ จำนวน 3 ล้านโดส โดยจะส่งในเดือนตุลาคมนี้ 1 ล้านโดส และจะทยอยเข้ามาจนครบในสิ้นปีนี้ เบื้องต้นเข้ามาแล้ว 5 แสนโดส กระจายส่งถึงทุกจังหวัดแล้ว และเริ่มให้บริการวันนี้เป็นวันแรก

 

การขยายกลุ่มรับวัคซีนโควิด-19 ลงมาจนถึงเด็กอายุ 6 เดือน สอดคล้องกับนโยบายการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่มีเป้าหมายสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยเข้าถึงวัคซีนอย่างสะดวกตามความสมัครใจ ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งหากมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทุกช่วงวัยมากขึ้น ประเทศก็จะปลอดภัยมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ขอให้กลุ่มเสี่ยง 608 เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมวางแผนงบประมาณสำหรับจัดหาวัคซีนโควิด 19 รุ่นใหม่ให้เพียงพอกับประชาชนทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

 

แนวทางการฉีดวัคซีนเด็ก 6 เดือนถึง 4 ปี

 

ทั้งนี้ วัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี มีขนาด 3 ไมโครกรัม ปริมาณ 0.2 มิลลิลิตร  ฉีดจำนวน 3 เข็ม ระยะห่างเข็มแรกกับเข็มสอง 4 สัปดาห์ และระยะห่างเข็มสามอีก 8 สัปดาห์ สามารถให้พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นได้ในวันเดียวกัน หรือห่างกันเท่าใดก็ได้

 

ขณะนี้ กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการจัดส่งวัคซีน จำนวน 5 แสนโดสแรกถึงโรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ 11 ตุลาคม โดยพื้นที่สามารถจัดให้บริการได้ทันที และหากพื้นที่ใด ประชาชนมีความต้องการวัคซีนเพิ่มเติม ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสามารถประสานมายังกรมควบคุมโรคได้ และผู้ปกครองสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ 1422 สายด่วนกรมควบคุมโรค