เปิดเกณฑ์ "โควิดรักษาฟรี"ทุกที่ หลัง 1 ต.ค.2565

เปิดเกณฑ์ "โควิดรักษาฟรี"ทุกที่ หลัง 1 ต.ค.2565

โควิดรักษาฟรี หลังเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 เป็นไปตามสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐของแต่ละบุคคล ทว่า หากป่วยเข้าเกณฑ์วิกฤติฉุกเฉินสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาที่รพ.ได้ทุกที่ทั้งรัฐและเอกชนจนหาย ภายใต้สิทธิ “UCEP Plus”

นับตั้งแต่ที่รัฐบาลออกประกาศใช้ UCEP Plus เป็นกลไกดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งในรพ.รัฐและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ป่วยสะสม 383,258 ราย แยกเป็นสิทธ์บัตรทองกว่า 2 แสนราย ประกันสังคมราว 140,000 ราย ข้าราชการประมาณ 40,000 ราย อื่นๆราว 3,000 ราย โดยเป็นกลุ่มที่เข้าเกณฑ์ 81,304 ราย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และกลุ่มไม่เข้าเกณฑ์ 301,954 ราย ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ 1 ต.ค.2565 ที่โรคโควิด-19จะไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย กลายเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง สิทธิ UCEP Plus จะยังคงอยู่แต่มีส่วนที่ต่างออกไปจากเดิม โดยเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แถลงข่าวประเด็น “สิทธิ UCEP Plus หลังโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง”ตั้งแต่ 1 ต.ค.2565ว่า จากการที่รัฐบาลประกาศให้โรคโควิด-19เป็นโรคติตต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565ทำให้เกิดกลไกปรับปรุงเกณฑ์UCEP Plus โดยมีการพิจารณาปรับลดเกณฑ์ลงในบางส่วน

เช่น กลุ่ม 608 คือ สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ติดโควิด-19แบบไม่มีอาการ เดิมถือเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและใช้สิทธิ UCEP Plusได้ แต่เกณฑ์ใหม่ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ จะตัดกลุ่มที่ไม่มีอาการออกไป เหลือเฉพาะกลุ่มที่มีอาการวิกฤติ เช่น ตรวจพบติดโควิด-19 กับมีภาวะหัวใจหยุดเต้น ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น หอบเหนื่อย หรือมีภาวะทำให้ระบบทางเดินหายใจรุนแรง ภาวะช็อค ความดันโลหิตต่ำที่เกิดจากการติดเชื้อหรือเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด รวมถึงอาการที่นำไปสู่การเสียชีวิตโดยเร็ว จะเข้าเกณฑ์UCEP Plus เข้ารักษาได้ในสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน จนหาย ซึ่งภายในวันที่ 30 ก.ย.2565 สพฉ. จะออกประกาศเกณฑ์ที่เป็นรายละเอียดและแจ้งให้ประชาชน สถานพยาบาลรับทราบอย่างละเอียด
“UCEP Plus ผู้ป่วยโควิด-19 จะเข้ารับการรักษาได้ทุกที่จนหาย จะแตกต่างจากUCEPทั่วไปที่จะรักษาได้ทุกที่จนพ้นภาวะวิกฤติใน 72 ชั่วโมง หรือกรณีไปรพ.ด้วยสาเหตุอื่น แต่ไปติดเชื้อที่ รพ. ก็จะเข้าเกณฑ์ทันที ส่วนอัตราค่ารักษาที่สถานพยาบาลจะเรียกเก็บจากกองทุนประกันสุขภาพต่างๆ กรณี UCEP Plus จะจ่ายเพิ่มขึ้น 25% จาก UCEPปกติ” ”ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าว

ทั้งนี้ กรณีที่มีข้อเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างอาการวิกฤติสีแดงระหว่างผู้ป่วย ญาติและบุคลากรทางการแพทย์ สพฉ.จะมีศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต เพื่อดูแล เป็นตัวกลางให้คำแนะนำและวินิจฉัย สามารถติดต่อที่เบอร์ 02-872-1669
ด้าน นพ.วิฑูรย์ อนันตกูล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า วันที่ 28 ก.ย.2565 สธ.มีคำสั่งปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด -19หรือEOCสธ. หลังเปิดดำเนินการมา 2 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่ 22 ม.ค.2563 ประชุมทั้งหมด 482 ครั้ง มีการออกข้อสั่งการ จำนวน 480 ฉบับ โดยมาตรการและข้อสั่งการ อาทิ มาตราการ Buble and Seal ,ยุทธศาสตร์ขนมครก ,พื้นที่ไข่ขาว-ไข่แดงกรณีการระบาดในจ.สมุทรสาคร ,แซนด์บ็อก ,Test and Go และSHA Plus ,พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว(พื้นที่สีฟ้า),Covid Free Setting,เจอ แจก จบ และมาตรการ2U และ 3 พ เป็นต้น
“แม้จะมีการยุติบทบาทของศูนย์EOC ระดับกระทรวงฯ แต่ยังมีระดับกรมควบคุมโรค และให้ความมั่นใจประชาชนว่า กระทรวงสาธารณสุขยังติดตาม เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดและพร้อมกลับมาปฏิบัติการระดับกระทรวง ถ้ามีสถานการณ์เปลี่ยนแปลง”นพ.วิฑูรย์กล่าว