วิธีจัดการ วางแผน เตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่บั้นปลายชีวิต

วิธีจัดการ วางแผน เตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่บั้นปลายชีวิต

สช.ผนึกภาคีเครือข่าย จัด“มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” วางแผนและเตรียมความพร้อม เพื่อสุขที่ปลายทาง "รมช.สธ." ย้ำบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยถอดรหัสความทุกข์ ให้ผู้ป่วยเลือกเส้นทางระยะสุดท้าย ขณะที่ "หมอประสิทธิ์" แนะกำหนดเป้าหมายชีวิต ระดับขั้นความต้องการ

ไม่มีใครหลีกหนีความตายได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างรับรู้ในข้อนี้ เพราะต่อให้มีวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวล้ำมากขนาดไหน แต่ทุกคนก็ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดาของชีวิต ดังคน คนเราทุกคนต้องวางแผน เตรียมพร้อมการใช้ชีวิต เพื่อตัดสินใจว่าในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตจะเป็นอย่างไร? มีเป้าหมายอย่างไร?  เพื่อให้คุณภาพชีวิตของเราและครอบครัวดีที่สุด

วันนี้ (15 ก.ย.2565) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช.และภาคีเครือข่าย 13 องค์กร ประกอบด้วย กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก สสส. สปสช. สภาการพยาบาล กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย กลุ่ม Peaceful Death ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม เยือนเย็นวิสาหกิจเพื่อสังคม และศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา ได้จัดงาน “มหกรรมสร้างสุขที่ปลายทาง ครั้งที่ 4” ระหว่างวันที่15-16 กันยายน 2565 ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี 

โดยมี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมปาฐกถา“วางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตเพื่อสุขที่ปลายทาง”ตอนหนึ่งว่า การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในบั้นปลายของชีวิต ให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเลือกเส้นทางชีวิตร่วมกับการตัดสินใจจากคนสำคัญที่สุดในครอบครัวของเขา ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทาย เพราะหากพูดในบริบทสังคมทั่วไปอาจจะมีความเข้าใจแตกต่างกันออกไป

 

  • ถอดรหัสความทุกข์ ช่วยเลือกเส้นทางระยะสุดท้ายของชีวิต

ทว่าหากพูดกับบุคลากรที่ต้องดูแลผู้ป่วย ทุกคนจะมีความเข้าใจร่วมกันในการดูแลผู้ป่วย ให้พวกเขามีสิทธิและการแสดงเจตนาในการรับบริการจากสาธารณสุขตามมาตรา 12  พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550  “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่   เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต  หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้"

"มาตรา 12 เป็นเรื่องคนส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบ นอกจากคนทำงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนได้มีโอกาสติดตามโครงการผู้ป่วยที่ได้ใช้สิทธิตามมาตรา 12 ของกรมการแพทย์ ในการตัดสินใจเลือกเส้นทางระยะสุดท้ายของชีวิต โดยผู้ที่ตัดสินใจ และครอบครัวที่ร่วมตัดสินใจส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในสภาวะที่มีความทุกข์ แต่เป็นเสมือนการสมัครใจ และให้เขาถอดรหัสความทุกข์ไปสู่ความคิดและเข้าใจหลักสัจธรรมของชีวิต ตามหลักพระพุทธศาสนา ทุกคนเกิดมา ตั้งอยู่ และดับไป" ดร.สาธิต กล่าว 

การทำให้ทุกช่วงวัยเข้าใจเรื่องสัจธรรมของชีวิต เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหลายคนอาจจะเข้าใจ แต่ด้วยความรักต่อคนในครอบครัวอาจเป็นเรื่องยากที่เขาจะทำใจได้ ดังนั้น การที่ทางสช. และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่คนในครอบครัว และผู้ป่วยได้เลือกเส้นทางในชีวิต ดูแลสุขภาพในระยะสุดท้าย และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นความท้าทาย และภาระหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

 

  • สร้างเสริมสุขภาวะประชาชนช่วงสุดท้าย รองรับปัญหาระบบสุขภาพ

รมช.สธ. กล่าวต่อไปว่าถ้าทำให้คนในครอบครัว และผู้ป่วยเข้าใจ รู้สิทธิ์ และสถานะในการเลือกรับบริการสุขภาพได้ จะทำให้การปฎิบัติหน้าที่ของบุคลากรมีแรงกดดันน้อยลง ทำให้การปฎิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงผู้ป่วย และครอบครัวมีความผ่อนคลาย ทำให้ภาวะจิตใจที่อยู่ในความทุกข์ จะค่อยๆ เข้าใจสัจธรรมของชีวิต

"สิ่งที่ทุกคนปฎิบัติหน้าที่เพื่อให้เข้าใจ ทั้งบริบทครอบครัว ความรัก หรือ มีความกตัญญูเฉียบพลัน แม้จะเป็นความจริงที่เจ็บป่วย แต่บุคคลที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายซึ่งต้องเจอกับครอบครัวที่มีความหลากหลายต้องเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ และสร้างความเข้าใจไปสู่ครอบครัวผู้ป่วยร่วมด้วย"รมช.สธ. กล่าว

แนวคิดการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชนในช่วงสุดท้าย เป็นการรองรับปัญหาระบบสุขภาพของไทยที่มีแนวโน้มเกิดโรคร้ายแรงคุกคามในชีวิตเพิ่มสูงขึ้น เพราะสังคมใหญ่ขึ้น โรคระบาดมากขึ้น  โรคประจำตัวมากขึ้น และโครงสร้างประชากรของประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เราจะเข้าสู่สังคมที่มีผู้สูงอายุ60ปีขึ้นไป มากกว่า 20 % ของประชากรทั้งหมด

ฉะนั้น เมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่วนหนึ่งย่อมหมายถึงความเจ็บป่วย ความหลากหลายที่เจ็บป่วยตามอาการของโรคจะมีมากขึ้น ภารกิจของสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจ รับรู้ เตรียมพร้อมสิทธิด้านสุขภาพ และแสดงเจตนาเลือกเส้นทางชีวิตในบั้นปลาย

การระบบสุขภาพดูแลแบบประคับประคองเป็นการเยียวยาความทุกข์ ที่เน้นเรื่องคุณภาพชีวิตที่ทุกฝ่ายต้องมีความเมตตา กรุณา ต้องเติมไปด้วยพื้นฐานข้อมูล เพื่อทำให้เข้าใจอย่างแท้จริง ทั้งภาพใหญ่ ภาพกว้าง ทำให้ประชาชนได้เข้าใจการวางแผนชีวิตในบั้นปลายชีวิต

  • วางแผน เตรียมพร้อมชีวิตบั้นปลาย "สร้างสุข ที่ปลายทาง ครั้งที่ 4" 

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตามมาตรา 12 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550  เป็นการคุ้มครองให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิการรักษาสุขภาพระยะสุดท้ายของชีวิตนั้น  สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ความร่วมมือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้าย ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ กลไกและร่วมบูรณาการแผนระบบบริการสุขภาพ 

รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้เพื่อใช้ในระบบบริการสุขภาพ และการสื่อสารสังคม สร้างการรับรู้ในวงกว้างมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีความท้าทายในการระบบบริการสุขภาพในการดูแลแบบประคับประคอง การรับรู้ของประชาชนต่อการเวางแผน การเตรียมความพร้อมต่อชีวิตล่วงหน้า หรือสิทธิด้านสุขภาพในการรับบริการสาธารณสุขที่ตนเองต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิต

"การจัดงานสร้างสุข ที่ปลายทาง ครั้งที่ 4ระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย.2565 ภายใต้แนวคิด การวางแผนและเตรียมความพร้อม เพื่อสุขที่ปลายทาง โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อสื่อสารนโยบาย และองค์ความรู้ในการสร้างสุขระยะยาวในวาระสุดท้ายของชีวิตให้แก่กลุ่มประชากรสาธารณสุข และภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และระดับภูมิภาค 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ให้ตระหนัก และสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บูรณาการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไปในระยะยาว" นพ.ประทีป กล่าว

  • แนะหลักวางแผนชีวิต สู่สูงวัยคุณภาพ มีความสุขในชีวิต

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวสร้างพลังใจ พลังความร่วมมือทางสังคม เพื่อสุขที่ปลายทางด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ว่า อยากให้ทุกคนถามตัวเองว่าได้วางเป้าหมายชีวิตหรือยัง? ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าปลายทางของชีวิตจะเป็นอย่างไร? แต่หากไม่มีการวางเป้าหมายชีวิตก็จะไม่มีการเตรียมการ เมื่อเราไม่ได้เตรียมพร้อม หรือวางแผนอะไรอาจจะทำให้จากโลกนี้ด้วยชีวิตสับสน

หลักการกำหนดเป้าหมายชีวิต

  • ควรเริ่มวางแผนตั้งแต่ในช่วงต้นวัยทำงาน และควรตั้งเป้าหมายในชีวิตเป็นช่วงๆ เพราะเส้นทางชีวิตในแต่ละช่วงอาจมีสิ่งที่เข้ามาทำให้เกิดปัญหาได้

กำหนดระดับชั้นความต้องการ (Maslow,s Hierarchy of Needs)

  • คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน เราเริ่มต้นไม่เท่ากัน แต่เราทำให้ชีวิตเท่ากันได้

ระดับชั้นความต้องการของคนเราจะแบ่งออกเป็น 5 ขั้น คือ

1. Physiological Needs ความต้องการพื้นฐาน เช่น อาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย

2. Safety Needs ความต้องการด้านความปลอดภัย

3. Love and belonging Needs ความต้องการเป็นที่รักและเป็นส่วนหนึ่ง

4. Esteem Needs ความต้องการมีคุณค่า 

5. Self-Actualization Needs ความปรารถนาที่จะสามารถเติมเต็มภายในตนเองได้อย่างสมบูรณ์

 ดังนั้น บางคนเกิดมาในครอบครัวฐานะดี ความต้องการปัจจัยพื้นฐานของชีวิตมีมาตั้งแต่แรก จะทำให้มีชั้นความต้องการ Physiological  และ Safety  มีอยู่แล้ว แต่บางคนเกิดขึ้นในส่วนนี้กลับไม่มี เพราะเกิดมาในครอบครัวที่ดิ้นรนกับการคงอยู่ต่อชีวิต ยังขาดที่เป็นปัจจัยสำหรับชีวิต หากเขาตั้งเป้าหมาย เขาอาจจะตั้งเป้าหมายฐานรากสุด ก็จะไปในขั้นต่อไป

" ไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะต้องอยู่ที่ขั้น 1 ไปขั้น2  ไปขั้น 3 ไปขั้นที่ 4 และมาสุดท้ายขั้นที่ 5 แต่บางคนอาจจะติดอยู่ขั้นใดขั้นหนึ่ง โดยเฉพาะขั้นที่ 3 และขั้นที่ 4 คนส่วนมากจะติดอยู่ในขั้นนี้ ซึ่งเป็นขั้นที่ติดอยู่กับกิเลส ยังต้องการชื่อเสียง ต้องการให้คนรัก คนนับถือ  แต่ไม่ถึงปัจจัยที่ภายในเป็นผู้กำหนด" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

  • เตรียมพร้อมเป็นสูงวัยที่มีสุขภาพกาย ใจที่ดี

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพกายและใจที่ดีนั้น การกำหนดนิยามความสุขของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ทำให้บางคนอยู่ในขั้นใดขั้นหนึ่งของความต้องการ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นความสุขของพวกเขา การเตรียมตัวเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องเข้าใจความหมายว่าสิ่งที่ตนเองมีอยู่ในวันนี้ เพียงพอหรือไม่ และอะไรที่ตนเองยังอยากได้ อยากมี อยากดิ้นรนเพื่อให้ได้มา และหากได้มาแล้วมันทำให้มีความสุขจริงๆ หรือ หากตอบคำถามตัวเองเหล่านี้ได้ หากพอใจในสิ่งที่มีอยู่ และไม่ขวนขวาย เชื่อว่าทุกคนจะมีความสุขได้ 

"ผู้สูงวัย เมื่อรู้สึกว่ามีความทุกข์ให้ถามตัวเองว่าทุกข์ใจอะไรอยู่ ตัวเองขาดอะไรที่ทำให้เป็นทุกข์ แต่ถ้าเป็นกิเลส เป็นสิ่งที่เราอยากได้ เราไม่ได้จะได้หรือไม่ ถ้าคุยกับตัวเอง และค้นหาว่าอะไรเป็นความทุกข์ของเรา และมีความพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ก็จะทำให้ทุกคนไม่ทุกข์ได้ แต่ทั้งนี้ การจัดการความทุกข์ การสร้างความสุขของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน และเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นตรรกะที่จะมีเหตุผลชัดเจน แต่เมื่อวันหนึ่งเราเข้าใจ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเหตุผลที่ชัดเจนที่สุด"ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว