กรมอนามัย เตือนดื่มน้ำใช้หลอดหรือแก้วเดียวกัน เสี่ยงโรคติดต่อทางน้ำลาย

กรมอนามัย เตือนดื่มน้ำใช้หลอดหรือแก้วเดียวกัน เสี่ยงโรคติดต่อทางน้ำลาย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนดื่มน้ำใช้หลอดหรือแก้วเดียวกัน เป็นพฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงโรคติดต่อทางน้ำลาย แนะเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ TikTok มีการเผยแพร่คลิปที่มีเนื้อหา ‘How to กินโกโก้ยังไงไม่ให้อ้วน’ ซึ่งภายในคลิปมีครูที่นำน้ำโกโก้มาดื่มผ่านหลอด จากนั้นเป็นภาพการนำน้ำโกโก้แบ่งให้เด็กนักเรียนหลายคนดื่มต่อนั้น ถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงไม่ควรทำ

เพราะปากเป็นช่องทางการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และโรคหลายชนิดอยู่ในน้ำลาย โพรงจมูก ลำคอ ได้แก่ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือเชื้อจากแผลบริเวณริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม หรือโรคเหงือกและฟันอักเสบ ซึ่งโดยปกติในปากและน้ำลายของแต่ละคนมีเอนไซม์ และภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้บางส่วน

 

  • ติดเชื้อโรคทางน้ำลาย อันตรายถึงชีวิต

การติดโรคทางน้ำลายมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณความรุนแรงของเชื้อ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงติดเชื้อสูง หรือผู้รับเชื้อมีแผลในปาก มีเชื้อราในปาก เหงือกอักเสบ ก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คางทูม ไวรัสตับอักเสบเอและอี โรคติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งยังเสี่ยงกับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ในน้ำลายอื่น ๆ ด้วย

สำหรับประเด็นการดื่มโกโก้ไม่ให้น้ำหนักเพิ่มนั้น การดื่มโกโก้อย่างเดียวไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น หากดื่มในปริมาณที่เหมาะสมและไม่เติมน้ำตาลมากไป เพราะในครื่องดื่มประเภทโกโก้เย็น  ชาเย็น กาแฟเย็น ชาเขียวเย็น ใน 1 แก้ว มีน้ำตาลเฉลี่ย 10 - 11 ช้อนชา

 

  • ย้ำสาเหตุน้ำหนัเพิ่ม พฤติกรรมติดอาหารหวานหรือติดรสหวาน

สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม คือ การมีพฤติกรรมติดอาหารหวานหรือติดรสหวาน ผู้บริโภคจึงต้องให้ความสำคัญโดยไม่ควร    บริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน หรือเลือกสั่งแบบหวานน้อยเพื่อลดน้ำตาลลง หรือเลือกดื่มน้ำเปล่าแทน   เครื่องดื่มรสหวาน ก็จะดีต่อสุภาพมากขึ้น