Sheep ไม่นิยาม “ความสำเร็จ” “เด็กรุ่นใหม่”ต้องทำงานหลายขา
คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าความสำเร็จ ต้องเริ่มจากการมีต้นทุนที่สูง เป็นลูกผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ เป็นลูกเถ้าแก่
KEY
POINTS
- เมื่อเราทำงานมีน้องๆ ในทีม ผู้บริหารจะต้องเป็น Inspiration สร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้องๆ ในทีม "ตุ่ย- อภินันท์ ตรีรัตน์พิจารณ์” Founder&CEO บริษัท ชีพ แก็ดเจ็ต จำกัด
- ไม่รู้ว่านิยามของความสำเร็จคืออะไร เพราะเริ่มจากศูนย์ ต่อให้ตอนนี้ทำธุรกิจเติบโตมากขึ้น หลายคนอาจมองว่าเป็นความสำเร็จ แต่สำหรับ ตุ่ย- อภินันท์ไม่ใช่ ยังมีอีกหลายโปรเจคที่เขาต้องทำ
- ผู้นำในยุคนี้ ต้องมีความแฟร์ ทั้งพาสเนอร์ ทั้งลูกน้อง เวลาไปทำงานกับคนอื่นจะต้องไม่มองเฉพาะกำไรของตัวเอง และอะไรที่อยากให้เด็กทำ ผู้บริหารต้องทำให้ได้ด้วย
คนส่วนใหญ่มักจะมองว่าความสำเร็จ ต้องเริ่มจากการมีต้นทุนที่สูง เป็นลูกผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ เป็นลูกเถ้าแก่
แต่สำหรับ “ตุ่ย- อภินันท์ ตรีรัตน์พิจารณ์” Founder&CEO บริษัท ชีพ แก็ดเจ็ต จำกัด เขาไม่เคยเรียกร้องต้นทุนเหล่านั้น แต่เขาเรียนรู้จากการลงมือปฎิบัติ เดินตามความถนัด ความต้องการของตนเอง และสร้างธุรกิจของเขาเอง ด้วยต้นทุนที่เริ่มจากศูนย์ มีพนักงานเพียง 1 คน จนปัจจุบันมีพนักงาน 120 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เรียนรู้จากการทำงาน
“ตุ่ย อภินันท์”เป็นเด็กลำพูนที่มีพี่น้อง 3 คน และพ่อแม่เปิดร้านขายของเล็กๆ ในจังหวัด ต้องนั่งเฝ้าร้านเป็นประจำไม่ได้ไปเที่ยวเล่นอย่างเพื่อนๆ แต่นั่นกลับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาชอบการค้าขาย การทำงานหาเงินด้วยตนเอง ระหว่างเรียนสาขาบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย โดยเริ่มขายรถจักรยานมือสอง กล้องส่องทางไกลมือสอง ที่หาได้จากแม่สาย จ.เชียงราย เขาทำงานเร็วกว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน เมื่อเรียนจบเขามีเงินก้อนที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการ Work and Travel in USA
เมื่อไปอยู่อเมริกาได้ไปทำงานเป็นเด็กปั้มน้ำมัน ตลอด 6 เดือน เรียนภาษาไปด้วยทำงานไปด้วย จนได้เงินกลับบ้านมาประมาณ 5 แสนกว่าบาท มาเปิดร้านขายของฝากที่ ปาย จ.แม่ฮ่องสอนในช่วงปีใหม่ ขณะนั้นปายกำลังบูมทำได้ซีซั่นเดียว เพราะหลังจากนั้นไม่มีนักท่องเที่ยว จึงไปเรียนภาษาที่ประเทศอังกฤษ ตลอดระยะเวลา 13 เดือน ทำงานตลอดตั้งแต่เป็นเด็กล้างห้องน้ำ ไปจนถึงเป็นเชฟในร้านอาหาร เรียนรู้งานทุกอย่าง ทั้งกะเช้ากะเย็นเพราะการทำงานทำให้ได้เรียนรู้จากการปฎิบัติจริง ได้เรียนรู้จากรุ่นพี่ที่ทำงาน ตอนอยู่อังกฤษก็อาสาทำงานทุกอย่างที่ทำได้แม้ว่าจะได้เงินหรือไม่ก็ตาม
“รักการขายของ”สร้างธุรกิจ
แต่พอกลับมาไทยไม่มีงาน เพื่อนแนะนำให้สมัครเป็นนักบิน พร้อมเรียนต่อปริญญาโทด้านภาษาศาสตร์ และทำงานประจำเป็นติวเตอร์ ซึ่งทำพร้อมกันทั้ง 3 อย่าง แต่อยากเป็นพ่อค้า อยากขายของ ช่วงนั้นก็ไปซื้อไอแพดมาเพื่อเรียนหนังสือ และเห็นว่าไม่มี accessory ก็เริ่มมองหา accessory จากเว็บ Amazon หรือ eBay ตอนแรกเริ่มจากซื้อมาใช้เอง พออยากได้เคสใหม่ ก็นำเคสเก่าไปขายเป็นสินค้ามือสองในเว็บ Kaidee.com ปรากฏว่าขายดี ขายง่าย มีคนมาซื้อเร็วมาก ขณะนั้นยังไม่มีใครนำเคสไอแพดที่มีที่เก็บปากกาขายมากนัก เราก็ซื้อมาและขายไปกลายเป็นธุรกิจ ทำแบบนั้นอยู่ประมาณ 1 ปี
หลังจากนั้นก็สอบนักบินจนเข้าสู่รอบสุดท้ายเหลือเพียงไปสอบสัมภาษณ์ , เรียนปริญญาโท, ทำงานประจำ และเริ่มเปิดบริษัท Sheep ได้กลับมาถามตัวเองว่าอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร จึงตัดสินใจสละสิทธิ์การสอบสัมภาษณ์นักบิน ไปลาออกจากงานประจำ และพอเข้าสู่การทำงานธุรกิจเต็มตัว ทำให้ไม่มีเวลาไปทำวิทยานิพนธ์
“จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจของผม เป็นศูนย์ ใช้เงินจากบัตรเครดิต 30,000 บาท ในการไปซื้อของตามเว็บไซต์ต่างๆ ในต่างประเทศ เมื่อขายได้เงินสดมาก็นำไปซื้อเป็นล็อตใหญ่ๆ ทำให้ได้กำไรมากขึ้น และเปิดแบรนด์ของตัวเอง โดยแบรนด์ IT accessory ขณะนั้นยังไม่มีใครทำ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง และไม่ได้เป็นตลาดที่ประเทศไทยได้เปรียบ”
ก่อตั้งบริษัทด้วยพนักงาน 1 คน
เขาก่อตั้ง บริษัท ชีพ แก็ดเจ็ต จำกัด ตั้งแต่ปี 2561 “ตุ่ย อภินันท์” ทำงานคนเดียวเป็นเวลาเกือบ 2 ปีกว่า เพราะไม่มีทุน ทุกอย่างในบริษัทต้องทำเอง ทั้งออกแบบสินค้าเอง คุยกับโรงงานเอง สั่งผลิตเอง รับออเดอร์เอง ทำการตลาดเอง เป็นฝ่ายเซลล์เอง ให้ครอบครัวช่วยแพคของส่งลูกค้า และเขียนเว็บเอง ทำกราฟฟิคเอง หัดยิงโฆษณาในโซเซียลมีเดียเอง คือ ทำเองทุกอย่าง ผ่านการเรียนรู้จาก Youtube และ Google
ผ่านไป 3 ปี อยากให้บริษัทเติบโตมากขึ้น จึงย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ แพคกระเป๋ามาคนเดียว และมาเช่าคอนโดแถวรัชดา เริ่มหาทีมโดยเปิดรับพนักงาน 1 คน ใช้พื้นที่ตามร้านกาแฟ ,co-working space ในการทำงาน คุยงานกัน จนกระทั่งน้องพนักงานต้องมีที่เก็บคอมพิวเตอร์ จึงเช่าออฟฟิศพื้นที่ 17 ตารางเมตร และเริ่มลุยงานกับน้องพนักงาน 1 คน เติบโตมาเรื่อยๆ จาก 1 คนเพิ่มเป็น 7 คน เพื่อทำทีมกราฟฟิค ทีมทำโปรดักส์ ทีมถ่ายภาพ ทีมออกแบบ พอครบ 1 ปี ก็ย้ายไปเช่าตึกแถว 2 คูหา และรับพนักงานมากขึ้นปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 120 คน และส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 26 ปีที่ผ่านการทำงาน มีประสบการณ์มาไม่กี่ปี
“เมื่อเป็นผู้บริหาร มีน้องๆ ที่ต้องดูแลมากขึ้น มุมมองในการบริหารงาน บริหารคนแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งการทำงานคนเดียวเราควบคุมทุกอย่างได้หมด เป็นการทำงานแบบ operation เราเป็นคนปฎิบัติงาน แต่พอเรามีทีม มีน้องๆ การทำงานของผมจะต้องเป็น Inspiration สร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้องๆ ในทีม ให้อยากทำงานกับเรา รู้ถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง มีเป้าหมาย มีไฟในการทำงาน และเติบโตไปในองค์กร ที่สำคัญมีความเชื่อมั่นในตัวผม และบริษัท”
บริหารคนตามอัจฉริยภาพ
หลักในการบริหารคนของ “ตุ่ย อภินันท์” ไม่มีการอิงจาก How to แต่เป็น On the job training ซึ่งเขาได้เปรียบ เพราะทำงานทุกอย่างในสิ่งที่น้องๆทำ Sheep ไม่มีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างวัย เพราะพนักงานทั้งหมดเป็นคนรุ่นใหม่ แต่จะมีปัญหาเรื่องความต่างเสมือนเด็กหน้าห้อง กับเด็กหลังห้อง ซึ่งเด็กทั้ง 2 กลุ่มนี้ มีความเก่ง มีความฉลาดและเฉลียวต่างกัน ขณะที่เขาเป็นเหมือนกบที่อยู่ในน้ำหรือบนดินก็ได้ จึงเข้าใจเด็กทั้ง 2 กลุ่ม จึงต้องบาลานซ์พวกเขาทำงานร่วมกันให้ได้ จูนเข้าหากัน
“ผมได้มีโอกาสเรียนทฤษฎีของ ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ที่บอกเล่าถึงอัจฉริยภาพ ของผู้คนที่ไม่ได้มีด้านเดียว แต่ละคนจะมีอัจฉริยภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งคนไทยจะให้ค่าเด็กเรียนเก่ง แต่ในต่างประเทศเขาให้ค่าของอัจฉริยภาพของมนุษย์ ผู้บริหารจึงต้องเข้าใจอัจฉริยภาพและดึงศักยภาพของพนักงานออกมาให้ได้ เราจะไม่พยายามให้ทุกคนขายของเก่ง เพราะถ้าคุณขายของไม่เก่ง คุณก็ไปทำอย่างอื่น”
ทำงานกับเด็กรุ่นใหม่สไตล์ Sheep
ปัจจุบัน “Sheep” มีหน้าร้านทั้งหมด 10 สาขา มีร้านตัวแทนที่กระจายสินค้าทั่วประเทศ ตั้งเป้าขยายให้ได้ 300 กว่าสาขาภายในปีนี้ ด้วยการมีทีมงานที่แบ่งงานอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อมีโปรเจคเข้ามา จะมีการตั้งทีมและเลือกผู้นำจากทีมไหนมาทำก็ได้ ฉะนั้น ทุกคนในบริษัทจะมีโอกาสเป็นผู้นำในทีมของตนเอง และไม่จำเป็นจะต้องทำเฉพาะสายเดียว เพราะการที่เด็กทำงานได้อย่างเดียว หากเขาไปสมัครงานที่อื่นคงไม่มีใครรับเขาเข้าทำงาน แต่ถ้าเขาทำงานได้ทุกอย่าง เขาจะเป็นที่ต้องการของตลาด วันนี้ทักษะ มายเซตต้องต่างไปจากเดิม การจะทำเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้
“จริงๆ การทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ สิ่งที่สำคัญ คือ ความเข้าใจ เพราะสิ่งที่เด็กทำคงไม่ได้ดั่งใจเหมือนเราทำเอง เราต้องรู้ตัวเสมอว่าเขาไม่ใช่เจ้านาย เขาไม่ได้ผ่านอะไรมามากเหมือนคนที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นเจ้านาย ผมแทบจะไม่แก้งานน้องๆ ต่อให้งานนั้นผมรู้ว่าจะมีข้อผิดพลาดอะไร จะปล่อยให้เขาเสนอไอเดีย ใช้ความคิด นำเสนอผลงานอย่างเต็มที่ตามแผนที่เขาคิดมาก และเมื่อเขาเจอปัญหา เราจะแนะนำและแก้ไขไปพร้อมกัน"
“ตุ่ย อภินันท์” เล่าว่าการเป็นผู้นำในยุคนี้ ต้องมีความแฟร์ ทั้งพาสเนอร์ ทั้งลูกน้อง เวลาไปทำงานกับคนอื่นจะต้องไม่มองเฉพาะกำไรของตัวเอง และอะไรที่อยากให้เด็กทำ ผู้บริหารต้องทำให้ได้ด้วย ขณะที่เด็กจูเนียร์ ต้องทำตัวเองให้พร้อม เพราะนั่นคือความยั่งยืนของตนเอง ต้องสร้างคุณค่าในตัวเองให้เป็นที่ต้องการของตลาดและจะทำให้ตัวของเขาเติบโตอย่างยั่งยืน และน้องๆ เลือกได้ว่าจะทำงานหนัก หรือจะใช้ชีวิตแบบ Work Life Balance แต่สุดท้ายแล้วต้องยอมรับผลที่ตามมา ต้องบาลานซ์ทั้งชีวิตการทำงานและส่วนตัวให้ดี