ขึ้นค่าแรง-เพิ่มค่าจ้าง เพิ่มผลิตภาพแรงงาน

ขึ้นค่าแรง-เพิ่มค่าจ้าง เพิ่มผลิตภาพแรงงาน

ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ได้พิจารณาสูตรการคำนวณ "อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ" แบบใหม่ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นครั้งแรกที่มีการพิจารณารอบ 2 คาดว่าจะประกาศใช้อัตราใหม่ในเดือน เม.ย. 2567

ปลายปี 2566 รัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” มีความพยายามที่จะทำให้นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่แถลงต่อรัฐสภาในช่วงเดือน ก.ย. ให้เป็นจริงโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามหาเสียงไว้ว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 600 บาทต่อวัน ให้ได้ภายในปี 2570

ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ก.ย. ให้กระทรวงแรงงานเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 3 สัปดาห์ ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคี ได้ข้อสรุปตัวเลขการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ว่าควรอยู่ในอัตรา 2-16 บาทแล้วแต่จังหวัด 

โดยเสนอให้ภูเก็ตได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากที่สุดอีก 16 บาท จาก 354 บาทเป็น 370 บาทขณะที่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นจังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด คือได้เพิ่มขึ้น 2 บาท จากเดิม 328 บาทเป็น 330 บาทต่อวัน

ขณะเดียวกันสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เสนอเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ว่า การปรับค่าจ้างต้องเป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงานและควรปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในระดับที่แรงงานสามารถดูแลคนในครอบครัวได้ ต่อมา ครม. มีมติเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่คณะกรรมการไตรภาคี เสนอและมีผลมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 และมีการตั้งอนุกรรมการชุดพิเศษ โดยมีตัวแทนสภาพัฒน์ฯ​ กระทรวงพาณิชย์​ กระทรวงการท่องเที่ยว​ และธนาคารแห่งประเทศไทย​ พิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละสาขาต่างๆ เพื่อเสนอค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ภายในเดือน มี.ค. 2567

ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุด เมื่อวันที่ 27 ก.พ. มีการพิจารณาสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ และแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยนำเรื่องมิติของเวลามาใช้ในการปรับค่าจ้าง ที่สะท้อนระยะเวลาการปรับค่าจ้างที่แท้จริงในปัจจุบันและเป็นธรรม เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งตัวแปรอื่น ๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นผลิตภาพแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ อัตราสมทบของแรงงาน (ค่า L) เป็นต้น

โดยจะมีการสำรวจข้อมูลประเภทกิจการด้านท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ มาตรฐานการครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง และข้อเท็จจริงทางสังคมและเศรษฐกิจตามพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลผลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีอีกครั้งในวันที่ 26 มี.ค.

การพิจารณาสูตรค่าจ้างครั้งนี้ เป็นมิติใหม่ของการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นครั้งแรกที่มีการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำรอบ 2 และไม่ได้เท่ากันทั้งจังหวัด ซึ่งสูตรใหม่ปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายมากขึ้น ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง โดยคาดว่าจะประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ในเดือน เม.ย. และจะเป็นค่าจ้างที่จะใช้ในปี 2567 “เพื่อเป็นของขวัญสงกรานต์” ให้กับผู้ใช้แรงงาน ต้องรอดูว่า “ค่าจ้าง” ที่ปรับใหม่จะสะท้อนความเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน