เศรษฐกิจดิจิทัล แรงงานดิจิทัล ข้อคิดต่อสิทธิประโยชน์ของแรงงาน

เศรษฐกิจดิจิทัล แรงงานดิจิทัล ข้อคิดต่อสิทธิประโยชน์ของแรงงาน

โลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ได้เชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัลและเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ความก้าวหน้าในการผลิตนำมาสู่การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

ทุกวันนี้ ผู้คนถูกรายล้อมด้วยสิ่งแวดล้อมดิจิทัล และมีความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างกันผ่านสื่อทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น การใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่อติดต่อสื่อสาร แสดงความคิดเห็นและแสดงอัตลักษณ์ การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์สั่งซื้อสินค้า รวมไปถึงการใช้แอปพลิเคชันทำธุรกรรมทางการเงิน

กล่าวได้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาพลิกโฉมกิจกรรมเดิมของมนุษย์ให้สามารถถูกกระทำ โดยลดทอนความจำเป็นกายภาพลง และดำเนินการได้รวดเร็วอย่างไร้พรมแดนมากขึ้น

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ คำว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” ถูกพูดถึงและให้ความสำคัญในฐานะที่เชื่อกันว่า เป็นเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ช่วยสร้างประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ 

นักทฤษฎีวิพากษ์แห่งมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ คริสเตียน ฟุคส์ (Christian Fuchs) ได้เขียนในหนังสือ “Digital Labour and Karl Marx” เพื่อทำความเข้าใจเศรษฐกิจดิจิทัล โดยให้น้ำหนักแก่บทบาทของแรงงาน

ฟุคส์ อธิบายว่า เศรษฐกิจดิจิทัลคือพัฒนาการล่าสุดของพลังการผลิตของทุนนิยม ที่มาพร้อมกับความสัมพันธ์ทางการผลิตที่รวบรวมพลังแรงงานไว้อย่างมหาศาล ด้วยลักษณะเครือข่ายการแบ่งงานกันทำในระดับนานาชาติ เพื่อผลิตสินค้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) 

แรงงานแต่ละขั้นตอนของเครือข่ายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้เผชิญกับรูปแบบการผลิตและความตึงเครียดในงานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

• ขั้นการผลิตเชิงวัตถุ เป็นต้นน้ำที่ทำการสกัดแร่ธาตุต่างๆ จำเป็นต่อการผลิตวัสดุและอุปกรณ์ด้าน ICT ฟุคส์ได้สืบสาวว่า เบื้องหลังการกิจกรรมถลุงแร่นี้ (ซึ่งมักเกิดในประเทศแถบแอฟริกาด้วยเงินลงทุนจากบรรษัทในประเทศพัฒนาแล้ว)

มีการใช้แรงงานเยี่ยงทาสทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่เลวร้าย เพราะต้องผจญกับอากาศ น้ำและดินที่เป็นพิษจากการผลิตโดยที่ไม่ได้รับการป้องกันที่ดีพอ

• ขั้นตอนพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นขั้นกลางน้ำ ประกอบด้วย แรงงานที่รับค่าจ้างสูงและต่ำ โดยวิศวกรซอฟต์แวร์ นักพัฒนา นักวิเคราะห์ข้อมูล ผู้จัดการโครงการ ฯลฯ ในบรรษัทเจ้าของนวัตกรรมได้รับค่าจ้างสูง

ในขณะเดียวกันบรรษัทเหล่านี้จัดการกับต้นทุนแรงงานราคาแพงด้วยการจ้างเหมาช่วงการผลิตไปยังประเทศโลกที่สาม ที่มีการคุ้มครองแรงงานต่ำและการควบคุมทางสังคมสูง เพื่อให้สามารถจ้างแรงงานดิจิทัลได้ในราคาถูกและเรียกใช้งานนอกเวลาได้ตามต้องการ

• ขั้นตอนของผู้ใช้ เป็นขั้นปลายน้ำ โดยมากผู้ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ และแอปพลิเคชันต่างๆ มักไม่รู้ตัวว่าตนเองทั้งกำลังเป็นผู้รับสาร/ใช้งาน และเป็นแรงงานสร้างเนื้อหา/ให้ข้อมูล ให้แก่ทุนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันเพื่อให้นำข้อมูลเหล่านั้นไปทำกำไรต่อ 

นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จาก “passive object” เป็น “active object” ในรูปแบบสินค้าอัจฉริยะต่างๆ ซึ่งก็มีหน้าที่เก็บเกี่ยวข้อมูลผู้ใช้อย่างละเอียด เพื่อให้บรรษัทนำไปใช้วางแผนการผลิตและการตลาดต่อไป

• ขั้นตอนดูแลลูกค้าและระบบ เป็นขั้นที่มีแรงงานทำหน้าที่บริการซ่อมบำรุงและให้ข้อมูลลูกค้า เช่น พนักงานคอลเซนเตอร์หรือพนักงานที่รับข้อมูลร้องเรียนถูกฝึกฝนให้ทำตาม “ระเบียบการ” (protocol) ในการโต้ตอบและให้ข้อมูลแก่ลูกค้าในเรื่องต่างๆ

แต่สิ่งที่เสริมเข้ามาคือ พวกเขาได้ทำหน้าที่เป็นแรงงานดูแลด้วย (care worker) เพราะต้องรองรับอารมณ์ลูกค้า และบางครั้งก็ต้องแสดงความห่วงใย รวมถึงการประเมินลูกค้าเพื่อช่วยแนะนำบริการที่ตรงกับความต้องการได้

อันที่จริงแล้ว ฟุคส์ มีข้อวิจารณ์ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการแรงงานไว้อีกมาก แต่คิดว่าเพียงเท่านี้ก็น่าจะช่วยให้เห็นภาพว่า สิ่งแวดล้อมแบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่เราอาศัยอยู่นั้น ต้องพึ่งพาพลังแรงงานทั่วโลกที่ประสบกับสภาพในการทำงานและภาวะตึงเครียดที่แตกต่างกันออกไป

ดังนั้น คงถึงเวลาที่เราต้องพูดถึงสิทธิประโยชน์และคุณภาพชีวิตของแรงงานดิจิทัลด้วยมุมมองที่เห็นใจและเข้าใจมากขึ้น อาทิ 

1.แรงงานดิจิทัลไม่ได้หมายถึงเฉพาะแรงงานทักษะสูง แต่รวมถึงแรงงานที่อยู่ในขั้นโรงงาน (manufacturing) ที่จำเป็นต้องมีสภาพการทำงานที่เหมาะสม 

2.กลุ่มแรงงานดิจิทัลที่ทักษะสูง และสามารถเรียกร้องค่าตอบแทนได้สูง บ่อยครั้งพบว่าทำงานหลายหน้าที่ในหลายตำแหน่งงาน (multiple jobs in multiple sites) ทำให้เกิดการทำงานหักโหมกินเวลาพักผ่อนและชีวิตส่วนตัว ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

3.กรณีการที่แรงงานเป็นผู้จ้างตนเอง หรือรับจ้างเหมาช่วงมา ก็นำมาสู่ความท้าทายในการจัดสวัสดิการและสิทธิแรงงานอย่างเป็นมาตรฐาน 

4.การทำงานจากที่ไหนก็ได้ (work from anywhere) ที่เอื้ออำนวยด้วยสภาพการจ้างงาน (แรงงานเป็นผู้จ้างตนเอง หรือรับจ้างเหมาช่วง หรือบรรษัทให้ความยืดหยุ่นในเวลาเข้างาน) และเทคโนโลยี ควรถูกการตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เพราะไม่ใช่ทุกที่ที่จะสามารถทำงานทุกอย่างได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย 

5.ภาวะที่ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบกายภาพถูกลดทอนลงในปัจจุบัน ย่อมท้าทายการรวมตัวกันต่อรองผลประโยชน์ของชนชั้นแรงงานที่อยู่ในเครือข่ายการผลิตดิจิทัล

การพัฒนาประเทศในทิศทางดิจิทัล เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจและการผลิตสินค้ามูลค่าสูงเป็นสิ่งสำคัญ แต่สังคมก็ควรเรียนรู้บทบาทของแรงงานและหาทางจัดการความสัมพันธ์แรงงานให้เกิดความสมดุล ระหว่าง การเติบโตทางเศรษฐกิจ (ผลตอบแทน) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และสิทธิของแรงงาน 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ใช่สภาพที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หากแต่เป็นผู้คนในสังคมต้องมีส่วนในการตัดสินใจใช้เพื่อให้เกิดแนวทางที่ยั่งยืนและสานประโยชน์อย่างเห็นใจผู้ใช้แรงงานได้

*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยในแผนงานอาเซียนในกระแสแห่งความพลิกผัน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

*ผู้เขียน 

รศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น