อัปเดตภูมิทัศน์ใหม่ของ แรงงานรุ่นใหม่ ลูกจ้าง แรงงานอิสระ

อัปเดตภูมิทัศน์ใหม่ของ แรงงานรุ่นใหม่ ลูกจ้าง แรงงานอิสระ

ผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลและการเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มทำให้ ในประเทศไทยก็เริ่มจะมีสัญญาณของการทำงานที่เน้นอิสระในการเลือกงานและจัดระบบการทำงานเอง

โดยหาช่องทางเพิ่มรายได้จากการรับงานหลายที่พร้อมกัน และยังสามารถจัดการเวลางานกับการใช้ชีวิตส่วนตัวให้สมดุลได้มากขึ้น

การศึกษาของโครงการวิจัยภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบว่า รูปแบบการทำงานอิสระมีมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่

อาชีพอิสระส่วนใหญ่ที่ได้รับความสนใจในปัจจุบัน คือ ขายสินค้าออนไลน์ ไลฟ์สดขายเสื้อผ้า-สินค้ามือสอง ขับรถรับจ้างอิสระ ทำอาหารกล่อง และรับพรีออร์เดอร์สินค้า

   

จากข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของคนไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2566ก) พบว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 มีจำนวนผู้งานทำทั้งสิ้น 39.63 ล้านคน คนไทยเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 48.7) ทำงานเป็นลูกจ้างของหน่วยงานที่มีรูปแบบการทำงานประจำหรือมีมาตรฐาน (ลูกจ้างรัฐบาล ร้อยละ 9.5 และลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 39.2)

ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งเป็นการงานอิสระที่ไม่มีรูปแบบมาตรฐานตายตัว ได้แก่ การทำธุรกิจส่วนตัว (ไม่มีลูกจ้าง) ร้อยละ 34.0 การช่วยธุรกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ร้อยละ 14.6 และอื่น ๆ อีกร้อยละ 2.7

ในขณะที่การเลือกสายการเรียนในการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานของคนไทยก็พบว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

คนไทยส่วนใหญ่ยังคงเลือกสายการเรียน ในกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์และบริหารธุรกิจ กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์เป็นหลัก

การระบาดของโควิด 19 เป็นตัวเร่งแนวโน้มการประกอบอาชีพอิสระให้มากยิ่งขึ้น เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงาน การปรับลดการจ้างแรงงานในภาคธุรกิจและการผลักดันการใช้เทคโนโลยีแทนที่แรงงานคนในช่วงนั้น

อัปเดตภูมิทัศน์ใหม่ของ แรงงานรุ่นใหม่ ลูกจ้าง แรงงานอิสระ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากจำนวนงานระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 มีแนวโน้มลดลงทั้งในเมืองหลวงและเมืองหลัก เมื่อเทียบกับก่อนเกิดการแพร่ระบาด โดยผู้ที่ไม่มีงานทำและผู้ที่เหลืองานทำ 1 งานเพิ่มขึ้น ผู้ที่ประกอบอาชีพมากกว่า 1 งานมีจำนวนงานลดลง

แสดงว่ามีผู้สูญเสียงานเพิ่มขึ้น (ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ และอรรถพันธ์ สารวงศ์, 2565) ผลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของอาชีพอิสระที่อาจจะต้องแลกกับไม่มั่นคงในอาชีพจากการถูกเลิกจ้าง

อีกการศึกษาหนึ่งพบว่า แรงงานรุ่นใหม่ทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยมากขึ้น กลุ่มเยาวชน วัยรุ่น นักเรียนนักศึกษาที่อายุยังน้อยทำงานเร็วขึ้น

โดยเยาวชนไทย (อายุ 15-24) จำนวนร้อยละ 41 เข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว และเยาวชนอายุ 15-19 ปี แบ่งตามเพศจะพบว่าเยาวชนชายและหญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานร้อยละ 24 และร้อยละ 13 ตามลำดับ (สุพรรณิกา ลือชารัศมี, 2564)

นอกจากนี้ ในยุคดิจิทัลภิวัตน์เยาวชนอายุยังน้อยยังสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการหารายได้ได้เร็วขึ้น เช่น การค้าขายออนไลน์ ซึ่งเป็นผลจากความได้เปรียบด้านความสามารถและทักษะทางไอที แรงงานรุ่นใหม่จึงมีแนวโน้มจะมีอายุน้อยลง

อัปเดตภูมิทัศน์ใหม่ของ แรงงานรุ่นใหม่ ลูกจ้าง แรงงานอิสระ

นอกจากนี้ คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองมีแนวโน้มจะมีระยะเวลาในการทำงานนานขึ้น โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล

โดยคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากร และกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงมีแนวโน้มมีชั่วโมงการทำงานและใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงานสูงกว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่มีความหนาแน่นของประชากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่ำ (ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ และอรรถพันธ์ สารวงศ์, 2565)

คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะไม่ทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่งนาน ๆ และคนในรุ่นก่อนหน้าก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในตลาดแรงงาน

จากผลการศึกษาของศรัณย์ กมลทิพย์ (2564) ชี้ให้เห็นว่าระยะเวลาการทำงานโดยเฉลี่ยต่อองค์กรหรือบริษัทของ Baby Boomers นานกว่าคน Gen-X และของระยะเวลาของคน Gen-X ก็นานกว่าคนเจน Gen-Y

อัปเดตภูมิทัศน์ใหม่ของ แรงงานรุ่นใหม่ ลูกจ้าง แรงงานอิสระ

สอดคล้องกับการสำรวจของศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (2562) ที่พบว่ากลุ่ม Younger Millennials มีแผนจะเปลี่ยนแปลงด้านการทำงานในอนาคตมากกว่ากลุ่ม Older Millennials และ Younger Gen X

โดยมีเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนไปทำอาชีพอิสระ คือ ปัจจัยด้านรายได้ รองลงมาคือ ภาระงานที่มากเกินไปงานหนัก ไม่มีเวลาส่วนตัว ไม่มีเวลาพักผ่อน แรงกดดันสูง และมีบางส่วนระบุงานจำเจ อิ่มตัวกับงาน และเบื่องาน

แม้ว่าแรงงานรุ่นใหม่จำนวนมากยังคงทำงานในระบบทั้งภาครัฐและเอกชน แต่บางส่วนมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองความชื่นชอบส่วนบุคคล รวมถึงเป็นการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นด้วยการทำอาชีพที่สองมากขึ้น 

โดยกลุ่มที่ทำงานประจำอาชีพเดียวเกือบร้อยละ 40 สนใจที่จะทำอาชีพเสริม ในขณะที่กลุ่มที่ทำงานประจำที่ทำงานมากกว่า 1 งาน ส่วนใหญ่จะมีอาชีพเสริมเป็นงานที่เป็นเจ้านายตัวเอง ได้แก่ ค้าขายออนไลน์งานบริการส่วนบุคคล และช่างหรืองานฝีมือ

การทำงานในอนาคตจะทำให้ความจำเป็นในการทำงานติดที่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มงานใหม่ในอนาคตที่เป็นงานไม่จำเป็นต้องมีอาคารสำนักงาน เช่น งานธุรกิจออนไลน์ และกลุ่มงานครีเอทีฟ เป็นต้น

อัปเดตภูมิทัศน์ใหม่ของ แรงงานรุ่นใหม่ ลูกจ้าง แรงงานอิสระ

แรงงานยุคใหม่ยังมีแนวโน้มจะออกจากบ้านไปทำงานในพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะในเมืองมากขึ้น เช่น ห้องสมุดที่ติดเครื่องปรับอากาศและมีอินเทอร์เน็ต ร้านกาแฟ หรือพื้นที่ทำงานร่วมกัน (co-working space)

นอกจากนี้ ในเมืองหลักภูมิภาคมีก็แนวโน้มจะเกิดเป็นออฟฟิศสำนักงานสาขาย่อย (satellite office) มากขึ้น ดังกรณีเมืองขอนแก่นที่คนเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในเมืองขอนแก่นมากขึ้น แต่ยังคงทำงานให้กับนายจ้างที่อยู่ในกรุงเทพฯ

ภาพดังกล่าวสะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงแรงงานในเมืองมีทางเลือกพื้นที่ทำงานที่หลากหลายมากกว่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เมืองที่เป็นผู้จ้างงานก็ได้