‘กองทุนประกันสังคม’ เสี่ยงล้ม! ไม่ใช่แค่ไทย แต่ ‘สหรัฐ-ฝรั่งเศส‘ ก็ด้วย

‘กองทุนประกันสังคม’ เสี่ยงล้ม! ไม่ใช่แค่ไทย  แต่ ‘สหรัฐ-ฝรั่งเศส‘ ก็ด้วย

จ่ายทุกเดือนแต่แก่ไปอาจไม่ได้ใช้เงิน!? สำรวจสถานการณ์กองทุนประกันสังคมทั่วโลก หลังเกิดกระแสประกันสังคมไทยเสี่ยงล้มละลาย-เกษียณไร้บำนาญ พบ “สหรัฐ-ฝรั่งเศส” ก็สั่นคลอนด้วย เหตุ รายได้ลด-ผู้สูงอายุเพิ่ม คล้าย “ระเบิดเวลา” รอวันปะทุ

Key Points:

  • “กองทุนประกันสังคม” ได้รับการพูดถึงอีกครั้งในการอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา โดยมีใจความสำคัญที่ว่า อีกไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า กองทุนฯ เสี่ยง “ล้มละลาย” คนทำงานที่ส่งเงินเข้าระบบอาจไม่ได้รับอะไรเลยหลังเกษียณอายุ
  • วิกฤติกองทุนประกันสังคมเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จากการเพิ่มขึ้นของคนวัยเกษียณ และแรงงานในระบบที่ลดน้อยลง หลายประเทศกำลังเข้าสู่เฟสของ “สังคมผู้สูงอายุ” เพราะคนรุ่นใหม่ไม่นิยมมีลูก
  • ประเทศพัฒนาแล้วอาจใช้วิธีดึงดูดคนรุ่นใหม่จากประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาเติมสัดส่วนแรงงานในระบบมากขึ้น แต่สำหรับ “ไทย” ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะยังมีโครงสร้างเศรษฐกิจแบบประเทศกำลังพัฒนา แต่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว


ประเด็น “กองทุนประกันสังคม” เสี่ยงล้มละลาย ได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการเปิดอภิปรายและรับทราบผลการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลายคนลุกขึ้นอภิปรายซักถามถึงสถานภาพของกองทุนฯ ในหลายประเด็นด้วยกัน 

เรื่องนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในระบบทั้งหมด ส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของชีวิตหลังเกษียณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนทำงานเอกชนและพนักงานอิสระที่มีเงินบำนาญในระบบประกันสังคมเป็นหลักประกันที่สำคัญยิ่ง

ปัญหาสำคัญที่กองทุนประกันสังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ คือ มีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญติดต่อกันหลายปี โดยเกิดจากการเรียกเก็บเงินจากนายจ้างไม่ได้ บางรายนายจ้างไม่ส่งเงินประกันเข้ากองทุนฯ แม้จะมีการหักเงินรายเดือนจากลูกจ้างเป็นปกติ รวมทั้งกองทุนฯ ได้มีการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้ผลตอบแทนต่ำตามระเบียบที่ข้อกฎหมายกำหนด

หากเปรียบเทียบกองทุนประกันสังคมเป็นเป็นบริษัทเอกชนก็นับว่า อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง หากปล่อยไว้และไม่รีบแก้ไขที่ต้นเหตุกองทุนฯ มีความเสี่ยงล้มละลายภายใน 30 ปีข้างหน้า แรงงานที่เพิ่งเข้าระบบและถูกเรียกเก็บเงินสมทบทุกเดือนอาจเข้าข่าย “เสียเงินเปล่า” ไม่ได้รับเงินบำนาญหลังเกษียณแม้แต่บาทเดียว หรือคนที่อายุมากกว่านั้นก็เสี่ยงได้รับเงินบำนาญไม่ครบ

หลังจากการเปิดสภาอภิปรายเสร็จสิ้นลง โฆษกกระทรวงแรงงานได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวพร้อมไล่เรียงถึงสถานการณ์ที่ผ่านมาว่า ปี พ.ศ.2564 เป็นปีที่โควิด-19 ระบาดหนัก กองทุนประกันสังคมจำเป็นต้องนำเงินออกมาช่วยเหลือผู้ประกันตนผ่านโครงการต่างๆ ทั้งการจ่ายประโยชน์ทดแทนผู้เจ็บป่วย จ่ายทดแทนกรณีว่างงาน ตรวจคัดกรองโควิด-19 และการลดเงินสมทบผู้ประกันตนกว่า 3 ครั้ง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รายจ่ายมากกว่ารายรับอย่างเลี่ยงไม่ได้

แต่ถึงอย่างนั้นโฆษกก็ยืนยันว่า ในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา กองทุนฯ มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะยาว ทำให้มีเงินลงทุนสะสมเพิ่มขึ้นด้วย จึงขอให้เชื่อมั่นว่า กองทุนฯ ยังคงมีเสถียรภาพและความมั่นคง ไม่มีทางล้มละลาย

อย่างไรก็ตามสถานการณ์คุ้มดีคุ้มร้ายของกองทุนประกันสังคมไม่ได้เกิดขึ้นในไทยเท่านั้น แต่หลายประเทศทั่วโลกที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเช่นกัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากประเด็นที่คล้ายคลึงกัน คือ วิกฤตด้านประชากร คนเกิดน้อยลง-คนแก่เยอะขึ้น พัฒนาสู่ปัญหาเรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ” หรือ “Aging Society” บวกกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาได้สร้างผลกระทบต่อเนื่อง สั่งสมเป็น “ระเบิดเวลาลูกใหญ่” เขย่าความมั่นคงของประชาชนในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้

‘กองทุนประกันสังคม’ เสี่ยงล้ม! ไม่ใช่แค่ไทย  แต่ ‘สหรัฐ-ฝรั่งเศส‘ ก็ด้วย

  • อนาคตที่ “คนเกษียณ” มากกว่า “คนทำงาน”

สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุเกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในหลายประเทศทั่วโลก สำหรับ “สหรัฐอเมริกา” ก็กำลังเผชิญกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน ข้อมูลจากเว็บไซต์ Investopedia ระบุว่า “Aging Society” คือ ใจกลางปัญหาความอ่อนแอของระบบประกันสังคมสหรัฐในขณะนี้ คนอเมริกันมีลูกน้อยลงและอายุยืนขึ้น คนเจเนอเรชัน “เบบี้ บูมเมอร์” เกษียณอายุเร็วกว่าเดิม ทำให้สัดส่วนแรงงานในระบบลดลงไปอีก

จากกการสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐพบว่า ในปี 2020 มีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ราว 17 เปอร์เซ็นต์ และภายในปี 2060 หรืออีก 40 ปีข้างหน้า จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแตะระดับ 24 เปอร์เซ็นต์ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด โดยที่สัดส่วนคนทำงานจะอยู่ที่ 57 เปอร์เซ็นต์ในปีเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ กรมธนารักษ์สหรัฐเคยออกมาให้ข้อมูลว่า กองทุนประกันสังคมจะมีความสามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้เกษียณอายุจนถึงปี 2033 เท่านั้น หลังจากนั้นก็ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จะสามารถจ่ายผลตอบแทนให้ได้จนถึงปี 2034 โดยยืดระยะเวลาออกไปจากเดิมเพียงหนึ่งปี

เจเน็ต เยลเลน (Jenet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ และมาร์ตี้ วอลช์ (Marty Walsh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสหรัฐเคยออกมาเปิดเผยว่า กองทุนต่างๆ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่มีทิศทางดีขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่ก็กำลังค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวเช่นกัน

ทว่า แม้จะมีการปรับประมาณการฟื้นตัว แต่แนวโน้มทางการเงินของกองทุนประสังคมก็ยังไม่นับว่า “พ้นขีดอันตราย” อยู่ดี ตามโมเมนตัมของปัญหานี้ คือ เมื่อคนทำงานหรือคนเติมเงินเข้าระบบน้อยลง ความเสี่ยงที่กองทุนจะล้มและไม่สามารถตอบสนองคนทำงานได้ก็จะยิ่งทวีคูณมากขึ้น

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) มองว่า หากยังปราศจากการแทรกแซงของภาครัฐ และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระบบการเรียกเก็บภาษีในประเทศ สถานะของกองทุนฯ ก็อาจต้องนับถอยหลังเข้าสู่เฟสของ “หายนะ” ในเร็ววัน เพราะคนอเมริกันจำนวนมากพึ่งพาและวางแผนชีวิตหลังเกษียณของตนเองผ่านกองทุนประกันสังคมมาโดยตลอด โดยหวังว่า เงินที่ถูกหักส่งเข้ากองทุนฯ ไปทุกทุกเดือนจะเป็นเงินเลี้ยงชีพเมื่อต้องเกษียณอายุในอนาคต

‘กองทุนประกันสังคม’ เสี่ยงล้ม! ไม่ใช่แค่ไทย  แต่ ‘สหรัฐ-ฝรั่งเศส‘ ก็ด้วย

  • ขยายเพดานอายุเกษียณ แก้ปัญหาหรือต่อเวลาให้รัฐบาลชั่วคราว?

เมื่อเร็วๆ นี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติพรรครีพับลิกันเสนอให้มีการเพิ่มอายุของผู้ที่มีสิทธิจะได้รับสวัสดิการกองทุนประกันสังคมเต็มรูปแบบ พูดอีกอย่างก็คือการขยายเพดานอายุเกษียณนั่นเอง แน่นอนว่า ข้อเสนอดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างรุนแรง ซึ่งข้อเสนอในลักษณะนี้ยังเคยเป็นประเด็นมาแล้วในประเทศฝรั่งเศสจนเกิดการประท้วงต่อต้านนัดหยุดงานครั้งใหญ่

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) แห่งฝรั่งเศส เสนอให้มีการปรับเพิ่มอายุเกษียณแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเริ่มจากการปรับเพดานเป็นอายุ 62 ปี และเพิ่มเป็น 64 ปีในภายหลัง ขณะที่ “เบลเยียม” ก็มีแนวคิดดังกล่าวด้วย รวมไปถึง “จีน” นำโดย “หลี่ เฉียง” (Li Qiang) นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดก็พูดถึงการเพิ่มเพดานอายุเกษียณเช่นกัน เรียกได้ว่า เรื่องนี้กำลังเป็นที่พูดถึงในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีปัญหาพื้นฐานแบบเดียวกัน คือ จำนวนผู้จ่ายภาษีหรือคนทำงานในระบบไม่สมมาตรกับจำนวนคนวัยเกษียณที่มีสัดส่วนมากกว่า

ฟอร์บส์ (Forbes) วิเคราะห์ว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาจำนวนประชากรได้ดูจะเป็นการ “พายเรือในอ่าง” เพราะการที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ และคนรุ่นใหม่เลือกที่จะไม่มีลูกเป็นเรื่องที่ควบคุมวางแผนได้ยาก ความหวังของประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังประสบปัญหานี้อาจเป็นการเปิดรับคนหนุ่มสาวจากประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการเข้ามาแสวงหาโอกาสในดินแดนศิวิไลซ์ 

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มเพดานอายุเกษียณยังมีเรื่องให้ต้องคิดต่ออีกหลายชั้น เช่น คนทำงานในบริษัทเอกชนที่ต้องเกษียณอายุงานก่อนเพดานที่รัฐกำหนด จะต้องใช้ชีวิตที่เหลือก่อนถึงวันได้รับบำนาญจากระบบประกันสังคมอย่างไร สำหรับคนมีรายได้สูงก็ยากพอตัวอยู่แล้ว แต่ผู้มีรายได้น้อยที่ต้องใช้แรงงานอย่างหนักด้วยนั้น รัฐได้คิดหาวิธีการสร้างสมดุลให้กับคนทำงานและระบบเดินไปด้วยกันอย่างไรบ้าง

สำหรับประเทศไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง หากยังไม่มีการเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นสภาพคล่องกองทุนฯ กองทุนฯ อาจมีความเสี่ยงจะล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือเร็วกว่านั้นตามที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานไว้เมื่อปี 2021 ว่า อีก 12 ปีข้างหน้า ประกันสังคมไทยเสี่ยงรอวันล้มละลายเพราะเรามีสัดส่วนผู้สูงอายุ-โครงสร้างประชากรเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว แต่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยนั้นยังคงอยู่ในกับดักประเทศกำลังพัฒนา


กองทุนประกันสังคมที่เป็นเหมือนน้ำบ่อหน้าไว้หล่อเลี่ยงชีวิตหลังเกษียณของแรงงานในระบบหลายสิบล้านชีวิต หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นจะไม่ได้สร้างวิกฤติเฉพาะกับปัจเจกบุคคล แต่ยังรวมไปถึง “ภาพใหญ่” ของสังคมไทยที่ไร้เบาะกันกระแทกอีกด้วย

 

อ้างอิง: ABC NewsCNBCForbesInvestopediaSSO