กองทุนประกันสังคม ความมั่นคงแรงงาน

กองทุนประกันสังคม ความมั่นคงแรงงาน

กองทุนชราภาพ ถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของ กองทุนประกันสังคม เนื่องจากเป็นหลักประกันสำคัญของผู้ประกันตนทุกคนที่จะได้รับการสนับสนุนหลังจากเกษียณและเข้าสู่วัยชรา แต่ที่ผ่านมามีเงินดังกล่าวลดลงจากหลายปัจจัย จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ไข

“กองทุนประกันสังคม” สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ไม่ใช่สวัสดิการของรัฐที่ให้กันฟรีๆ แต่เป็นการสมทบร่วมจ่ายในรูปแบบไตรภาคี คือ ภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง โดยกองทุนดังกล่าว ถือเป็นการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตของมนุษย์เงินเดือน (ผู้ประกันตน) และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เพื่อรับผิดชอบความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน รวมทั้งเป็นหลักประกันของผู้ประกันตน เมื่อถึงวัยที่ต้องได้รับเงินชดเชย “กองทุนชราภาพ” ซึ่งเป็นการเรียกเก็บเงินสมทบ เพื่อให้ผู้เกษียณจากงานมีความมั่นคงด้านรายได้ และมีบำนาญ หรือรายได้หลังเกษียณ “เพียงพอ” ต่อการใช้จ่ายที่จำเป็น

ที่ผ่านมากองทุนยืนยันมาโดยตลอดว่า มีฐานะเพียงพอ ไม่ขาดสภาพคล่อง โดยปี 2563 กองทุน มีเงินรวมทั้งสิ้น 2,032,841 ล้านบาท โดยถูกแบ่งไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้แก่ สินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 82% และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 18%  ทว่าล่าสุดผลประเมินความเสี่ยงทางการคลัง ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ประเมินเป็นระยะๆ เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่ากองทุนประกันสังคม เป็นหนึ่งในความเสี่ยงทางการคลัง โดยเงินกองทุนปี 2565 ปรับตัวลดลงกว่า 1.76 หมื่นล้านบาท จากปี 2564 ขณะที่รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนอีกกว่า 7 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งจะมาจากช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาครัฐได้มีการ “ดึงเงิน” จากกองทุนออกมาใช้ก่อนและใช้ค้ำประกันเงินกู้  รวมทั้งให้ความช่วยเหลือกรณีผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ว่างงาน หรือถูกลดเงินเดือน  

ขณะที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ “กองทุนชราภาพ” ซึ่งเป็นความหวังของผู้เกษียณมีรายได้หลังเกษียณ “เพียงพอ” ไม่สมดุลกับสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่ผู้ประกันตน และมีแนวโน้มจะติดลบได้ในอนาคต เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่คนอายุยืนยาวมากขึ้น กองทุนจะต้องจ่ายเงินบำนาญให้กับแรงงานจำนวนมาก ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าอัตราการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน นักคณิตศาสตร์ประกันภัยได้คำนวณไว้ว่า แม้กองทุนประกันสังคมจะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ รวมทั้ง “ทีดีอาร์ไอ” ได้คาดการณ์ว่าอีก 30 ปี กองทุนประกันสังคมจะติดลบและล้มละลายลงในที่สุด

ฉะนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ หลักประกันของผู้ประกันตนล้มละลายลง เราเห็นว่ารัฐบาลจะต้องเตรียมการแก้ปัญหาสภาพคล่องกองทุนตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามเร่งรัดหนี้ค้างกองทุน จากทั้งรัฐบาลและนายจ้างที่หักเงินลูกจ้างแต่ไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน จัดโปรโมชั่น จัดทำคู่มือกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมาชำระเงินสมทบค้างชำระกองทุน รวมถึงอาจจะต้องปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น แต่จะต้องมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนไปพร้อมกันด้วย รวมทั้งขยายอายุผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากกองทุนชราภาพเป็น 60 ปี แต่อาจจะเปิดช่องให้ใช้ตามเงื่อนไขเดิม 55 ปีได้ ที่สำคัญควรแจ้งให้ผู้ประกันตนรับทราบเกี่ยวกับการปรับเพดานเงินสมทบและมาตรการอื่นๆ ที่จะปรับเปลี่ยนในอนาคต และควรเป็นมาตรการค่อยเป็นค่อยไป มีทางเลือกให้สำหรับคนที่ไม่พร้อมจ่าย และดำเนินการอย่างโปร่งใสเปิดเผยและเป็นไปตามความสมัครใจของแรงงาน