‘นโยบายแรงงาน’ การหาเสียงเลือกตั้ง 2566 | ตะวัน วรรณรัตน์

‘นโยบายแรงงาน’ การหาเสียงเลือกตั้ง 2566 | ตะวัน วรรณรัตน์

ใกล้ถึงวันเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างพากันเสนอนโยบายหาเสียง เช่นเดียวกับที่เวทีต่างๆ ก็เชิญตัวแทนจากแต่ละพรรคไปร่วมพูดคุยนำเสนอนโยบาย

เวทีที่น่าสนใจเวทีหนึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2566 คือ เวทีที่จัดโดยสถาบันพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ในหัวข้อ “นโยบายแรงงานของพรรคการเมือง…ทำได้?…ทำจริง?” 

  • ผู้เขียนตัดข้อเสนอบางส่วนของตัวแทนแต่ละพรรคการเมืองที่คิดว่าสำคัญและน่าสนใจมาดังนี้

พรรคเพื่อไทย “การใช้ตลาดนำ นวัตกรรมเสริมและเพิ่มรายได้...การเติมทักษะเรื่องของระบบดิจิทัล สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้คนไทยเก่งขึ้น เหมือนน้องมิลลิที่โชว์ข้าวเหนียวมะม่วงในเวทีคอนเสิร์ตคนทั้งโลกก็มาเมืองไทย เพื่อที่จะกินข้าวเหนียวมะม่วง หรือลิซ่าที่โด่งดังระดับโลกมีแต่คนสนใจสิ่งที่ลิซ่าทำ”

พรรคแรงงานสร้างชาติ “มาตรา 40 ที่มีอยู่ 3 ช่องทางจะต้องเหลือแค่ช่องทางเดียว และครอบคลุม 7 กรณีเหมือนมาตรา 33...ควรมีธนาคารแรงงาน เวลากู้ไม่ต้องใช้อะไรไปค้ำ เอากองทุนชราภาพไปค้ำ”

‘นโยบายแรงงาน’ การหาเสียงเลือกตั้ง 2566 | ตะวัน วรรณรัตน์

พรรคก้าวไกล “ในส่วนของแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนมาก เราต้องการให้มีประกันสังคมที่เท่าเทียมกับมาตรา 33 โดยเฉพาะโควิด-19 ที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการตกหล่น ดังนั้น ถ้ามี 7 กรณี การว่างงานจะต้องมีเงินมาชดเชย...จะต้องไปเจรจากับภาคเอกชน เพื่อให้มีการปรับค่าจ้าง แต่ที่สำคัญภาครัฐ หน่วยงานราชการต้องทำงานเพื่อตอบโจทย์กับนโยบายของเรา”

พรรครวมไทยสร้างชาติ “เรามีนโยบายโรงพยาบาลประกันสังคม เราจะสร้างโรงพยาบาลประกันสังคมของผู้ประกันตน ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจ ทหารเรือ ทหารบก ทหารอากาศมีหมด ทั้งๆ ที่ในกลุ่มนี้มีจำนวนทั้งหมดประมาณ 100,000 คน แต่ประกันสังคมในระบบเรามีประมาณ 12 ล้านคน และนอกระบบอีก 16 ล้านคน ทำไมถึงไม่มีโรงพยาบาลเป็นของตัวเอง”

  • จากการอ่านนโยบายต่างๆ เหล่านี้ ผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นที่ควรอภิปรายและถกเถียงกันต่อ ได้แก่

ประเด็นแรก ในเมื่อแรงงานก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่ควรคิดคือ สวัสดิการแรงงานควรจะเหมือนหรือต่างกับสวัสดิการประชาชนหรือไม่ เพราะการที่พรรคการเมืองเสนอให้มีการตั้ง “ธนาคารแรงงาน” และ “โรงพยาบาลประกันสังคม” นั้นเท่ากับว่าผู้เสนอนโยบายกำลังบอกเราว่า “แรงงาน” ไม่ใช่ “ประชาชน” จึงต้องมีธนาคารและโรงพยาบาลเฉพาะของตนเอง 

หรือหากธนาคารและโรงพยาบาลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน เช่น เน้นการกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ หรือเน้นรักษาโรคจากการทำงาน ก็ควรระบุให้ชัดเจนลงไป เช่นเดียวกับที่ในปัจจุบันมีธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่เน้นให้กู้ยืมเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย เป็นต้น

การกล่าวว่าทหาร ตำรวจก็มีโรงพยาบาลของตนเอง ผู้ประกันตนก็ควรมีโรงพยาบาลบ้างน่าจะเป็นการสื่อสารที่ทำให้ผู้ฟังสับสน

‘นโยบายแรงงาน’ การหาเสียงเลือกตั้ง 2566 | ตะวัน วรรณรัตน์

ประเด็นที่สอง โดยธรรมชาติแล้ว การทำงานเป็นลูกจ้างกับการทำงานเป็นผู้ประกอบกิจการของตนเอง (ผู้ทำอาชีพอิสระด้วยตนเองไม่มีลูกจ้าง) มีแหล่งที่มาของรายได้และสวัสดิการจากการทำงานที่แตกต่างกัน ลูกจ้างมีความชอบธรรมที่ได้รับค่าตอบแทนจากนายจ้าง เพราะกิจการของนายจ้างได้กำไรจากทำงานของลูกจ้าง 

นอกจากค่าจ้างแล้ว สวัสดิการโดยตรงอื่น เช่น เบี้ยขยัน ชุดทำงาน อาหารกลางวัน ฯลฯ และสวัสดิการที่กฎหมายกำหนดว่าให้จ่ายโดยอ้อมผ่านรัฐ เช่น การร่วมจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนเป็นต้น ล้วนเป็นสิ่งที่นายจ้างต้องจัดหาให้ลูกจ้าง 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบกิจการของตนเองเป็นการจ้างงานตนเอง ไม่มีใครเกี่ยวข้องกับผลกำไรจากการทำงานนอกจากตัวเอง (และแน่นอนว่าก็ไม่ได้รับการสมทบจากนายจ้างด้วย)

ดังนั้น การเสนอให้คนทำงานทั้งสองแบบได้รับสวัสดิการเหมือนกันจากกองทุนประกันสังคม (ซึ่งเป็นกองทุนที่นายจ้างร่วมจ่าย) จึงต้องการคำอธิบายให้ละเอียดกว่านี้ว่า แหล่งที่มาของเงินที่จะจ่ายเข้ากองทุนเพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้กับคนทำงานนั้นจะมาจากที่ใดบ้างและในสัดส่วนเท่าใด

รวมไปถึงประเด็นสำคัญอื่นๆ เช่น การประกันการว่างงานที่จะจ่ายให้กับลูกจ้างที่ตกงานนั้นจะมีเกณฑ์การจ่ายให้กับผู้ประกอบกิจการของตนเองอย่างไร เพราะการตรวจสอบการ “ตกงาน” ของผู้ประกอบกิจการของตนเองนั้นทำได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ ผู้เขียนตระหนักว่าในฐานะคนทำงานเหมือนกัน คนที่ทำงานเป็นลูกจ้างและคนทำประกอบกิจการของตนเอง ก็สมควรที่ได้รับสวัสดิการและความมั่นคงจากการทำงานโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ แต่การไม่ถูกเลือกปฏิบัตินั้นก็ย่อมมิได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องได้เท่ากันหรือเหมือนกันไปในทุกสิ่ง

ประเด็นที่สาม ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ คำถามที่ว่า หากทุกพรรคการเมืองได้ร่วมรัฐบาลและมีการนำเอานโยบายเหล่านี้ไปปฏิบัติจนครบถ้วนแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่หรือคุณภาพชีวิตของ “แรงงาน” ในสังคมไทยจะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

ในขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านรายได้หรือด้านทรัพย์สินในสังคมไทยจะลดลงด้วยใช่หรือไม่

ผู้เขียนมีความเห็นว่านโยบายต่างๆ เหล่านี้มีประโยชน์ แต่ก็มิได้มุ่งเป้าไปที่การลดความเหลื่อมล้ำโดยตรง หากแต่เป็นการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือลดทอนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นด้วยการเพิ่มรายได้และสวัสดิการให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยหรือขาดโอกาส โดยยังคงปล่อยให้ “กลไกตลาด” เป็นผู้จำแนกบุคคลไปยังระดับชั้นต่างๆ ในสังคม (ที่รายได้ในแต่ละระดับชั้นห่างกันมาก) เหมือนดังเดิม

  • นโยบายที่จะพลิกโฉมประเทศไทยด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ จะต้องประกอบไปด้วยประเด็นสำคัญอย่างน้อย 2 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นทางเทคนิคเช่น การเก็บภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้า (มากๆ) และภาษีที่จัดเก็บจากมรดกและทุน และอีกประเด็นคือการสร้างชุดของบรรทัดฐาน (norm) ในด้านการทำงานและค่าตอบแทนจากการทำงานในสังคมขึ้นใหม่

เพื่อยืนยันกับทุกคนในสังคมว่าคนทำงานทุกคนมีคุณค่ากับสังคม คนร่ำรวยไม่ได้ร่ำรวยจากความสามารถของตนเองเท่านั้น แต่ร่ำรวยขึ้นจากการอาศัยการลงมือทำงานของเพื่อนร่วมงานเพื่อนร่วมสังคมอีกมากมาย ดังนั้น ทุกคนจึงสมควรจะมีชีวิตที่ดี มีหลักประกันในชีวิตหากเกิดเหตุที่ตนเองรับมือไม่ได้

หากพรรคการเมืองเข้าใจเรื่องเหล่านี้ แต่ยังมิได้สื่อสารออกมาด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้เขียนก็หวังว่าเมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล ประเด็นเรื่องการเก็บภาษีและเรื่องการสร้างบรรทัดฐานในสังคมจะค่อยๆ ทยอยปรากฏโฉมออกมา แต่หากไม่เป็นดังนั้นผู้คนที่ไปร่วมกากบาทเลือกพรรคเหล่านี้ ก็คงจะต้องช่วยกันส่งเสียงเตือนไปยังรัฐบาลใหม่ว่า

การพลิกโฉมสังคมไทยให้กลายเป็นสังคมที่ผู้คนอยู่ดีกินดีมีสวัสดิการและมีความเหลื่อมล้ำไม่มากเกินไป มิอาจไปถึงได้ด้วยเพียงแค่นโยบายที่พวกท่านหาเสียงเอาไว้