ใครต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดอุบัติเหตุ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี 

ใครต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดอุบัติเหตุ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี 

“เจ้าของโรงงาน M&M ถูกปรับเกือบครึ่งล้าน หลังคนงานพลัดตกถังช็อกโกแลต” พาดหัวข่าวของสำนักข่าว “บีบีซี” รายงานกรณี คนงาน 2 คนพลัดตกถังช็อกโกแลต ก่อนที่หน่วยกู้ภัยจะช่วยเหลือออกมาและนำตัวส่งโรงพยาบาล

สำนักข่าว “บีบีซี” รายงานว่า “สำนักงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของสหรัฐ สั่งปรับโรงงาน “มาร์ส ริกลีย์” (Mars Wrigley) ผู้ผลิตขนมชื่อดังอย่าง สนิกเกอร์ส (Snickers) และเอ็มแอนด์เอ็ม (M&M) ในรัฐเพนซิลเวเนีย

เป็นจำนวนเงิน 14,500 ดอลลาร์ หรือราว 490,000 บาท หลังคนงาน 2 คนพลัดตกถังช็อกโกแลต ก่อนที่หน่วยกู้ภัยจะช่วยเหลือออกมาและนำตัวส่งโรงพยาบาล”

 

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย.2565 เมื่อพนักงาน 2 คนได้รับมอบหมายให้ไปทำความสะอาดถังที่บรรจุช็อกโกแลตไว้ประมาณเอว แต่ทั้งคู่ไม่ได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัยด้านนี้มาก่อน จึงทำให้พลัดตกลงไปแล้วออกมาไม่ได้ ตามรายงานระบุว่ายังไม่ทราบแน่ชัดว่าพวกเขาตกลงไปในถังได้อย่างไร 

เจ้าหน้าที่กู้ภัยกว่า 24 คน เข้าไปช่วยเหลือดึงผู้ประสบเหตุออกมาจากถังโดยตรง แต่ไม่สำเร็จ จึงหันไปใช้วิธีตัดเปิดรูด้านข้างถัง เพื่อนำพวกเขาออกมาแทน ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า แรงงานคนหนึ่งถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลด้วยเฮลิคอปเตอร์

รายงานระบุเพิ่มเติมว่า ถังดังกล่าวนั้นใช้ผสมส่วนผสมของช็อกโกแลตยี่ห้อ “โดฟ (Dove)” ที่วางจำหน่ายในสหรัฐ ด้านโฆษกของบริษัท Mars Wrigley ออกมายอมรับผลการตรวจสอบครั้งนี้ กล่าวว่า

ใครต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดอุบัติเหตุ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี 

“ความปลอดภัยของเพื่อนร่วมงานและลูกจ้างเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับธุรกิจของเรา และทางบริษัทรู้สึกขอบคุณที่หน่วยงานสหรัฐใช้แนวทางด้านความร่วมมือในการทำงานร่วมกับเราเพื่อดำเนินการตรวจสอบหลังการดำเนินการ..."

ข่าวดังกล่าวนี้ หลายคนเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว คือ ถ้าเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ก็ควรจะต้องให้ “เจ้าของโรงงาน” หรือ “ผู้บริหารระดับสูง” (C-Level) รับผิดชอบความเสียหายทางกฎหมายด้วย และอีกหลายคนเห็นว่า ควรจะมีโทษทางอาญาด้วย ไม่ใช่รับโทษทางแพ่งเพียงอย่างเดียว

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มาตรการที่ปรับเจ้าของโรงงาน เช่นนี้อาจจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะไม่อาจทำให้มาตรการด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินบรรลุเป้าหมาย (คือ อุบัติเหตุเป็นศูนย์ หรือไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น)

เนื่องจากปัญหาของการเกิดอุบัติเหตุอยู่ที่ “ความรับผิดชอบร่วมกัน” ของทุกผู้คนเกี่ยวข้องทั้งเจ้าของ ผู้บริหาร หัวหน้างาน และคนงานมากกว่าใครเพียงคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดชอบ คือ แม้เจ้าของจะจัดให้ทุกอย่างมีสภาพที่ปลอดภัยต่อการทำงาน แต่ถ้าคนงานทำงานไม่ถูกวิธี อุบัติเหตุก็ยังเกิดขึ้นได้

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เจ้าของและผู้บริหารโรงงานจะต้องจัดให้สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ตลอดจนเครื่องจักรอุปกรณ์มีความปลอดภัยต่อการทำงานของคนงาน พร้อมทั้งต้องฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้สามารถทำงานอย่างถูกต้องด้วยวิธีที่ปลอดภัย 

ดังนั้น ตั้งแต่ผู้บริหารเรื่อยลงมาถึงคนงาน จึงต้องร่วมด้วยช่วยกันรับผิดชอบโดยทำตามมาตรการความปลอดภัยต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในโรงงานหรือสถานประกอบการ

เรื่องของความปลอดภัยโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ จึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “ความรับผิดชอบร่วมกัน” ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ใครต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดอุบัติเหตุ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี 

โดยมี “จิตสำนึก” “ค่านิยม” และ “วัฒนธรรม” แห่งความปลอดภัยเป็น “ศูนย์กลาง” ที่ยึดโยงกันเพื่อบูรณาการการทำงาน การควบคุมดูแล และการบริหารจัดการเข้าด้วยกัน เพื่อสงวนรักษาไว้ซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนในโรงงานและชุมชนใกล้เคียงด้วย

ดังนั้น การสร้าง “วัฒนธรรมความปลอดภัยในเชิงของการป้องกัน” ที่เข้มแข็ง จึงสามารถกำจัดสาเหตุต่างๆ ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุอันตรายและป้องกันโรคจากการทำงานได้ ซึ่งจะทำให้ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินหมดไป

ทุกวันนี้ แนวความคิดเรื่อง “Vision Zero” ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะ “Vision Zero” คือ แนวทางในการปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีการที่จะนำมาใช้ เพื่อการป้องกันอุบัติเหตุอันตรายและโรคจากการทำงานอย่างได้ผล

โดยการบูรณาการแบบ “3 มิติ” คือ (1) ความปลอดภัย (2) สุขภาพ และ (3) ความผาสุก ในทุกระดับของการทำงาน เพื่อให้เกิด “3 ศูนย์” คือ (1) อุบัติเหตุและโรคเป็นศูนย์ (2) การบาดเจ็บพิการหรือล้มตายเป็นศูนย์ และ (3) ทรัพย์สินเสียหายเป็นศูนย์

โดยหลักการแล้ว การลงทุนด้านความปลอดภัยจะคุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะมีผลการวิจัยระดับนานาชาติได้ยืนยันว่าทุกๆ 1 ดอลลาร์ ที่ลงทุนเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุและสร้างเสริมความปลอดภัยและสุขภาพ จะได้รับผลตอบแทนมากกว่า 2 ดอลลาร์ และส่งผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรมในด้านบวก

ส่วนงานด้าน “วิศวกรรมความปลอดภัย” (Safety Engineering) ที่ยึด “หลักการ 3E” (Engineering Education Enforcement) เพื่อการป้องกันอุบัติเหตุอันตรายและโรคจากการทำงานนั้น เราจะเห็นได้ว่ามาตรการด้าน Enforcement (การออกกฎระเบียบข้อบังคับ หรือการออกกฎหมาย) จะได้ผลเร็วที่สุด (เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง)

ดังนั้น มาตรการที่เห็นควรให้เจ้าของโรงงานและผู้เกี่ยวข้องต้องรับผิดมากน้อยเพียงใดนั้น (เพราะปล่อยให้คนงานบาดเจ็บพิการจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น) ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพูดคุยกันอย่างจริงจังต่อไป ครับผม!