8 อาชีพแห่งโลกอนาคต "อาชีพ" ไหนมาแรงแซงโค้ง

8 อาชีพแห่งโลกอนาคต "อาชีพ" ไหนมาแรงแซงโค้ง

เมื่อโลกเปลี่ยน การใช้ชีวิตเปลี่ยน "ดิจิทัล" เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เกิดทักษะการทำงาน และ อาชีพใหม่ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานโดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชน ที่ต้องการคนที่มีทักษะเฉพาะ มาช่วยเสริมการดำเนินธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น

ในโลกที่ ดิจิทัล เข้ามาขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทเอกชนต้องปรับตัว พนักงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล การขายและการตลาด ยังเป็นที่ต้องการของนายจ้าง นอกจากจะค่าตอบแทนสูงแล้ว หากคนเก่งที่มีทักษะพร้อมใช้ จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากที่เดิมถึงประมาณ 15 – 30% เลยทีเดียว

 

ขณะเดียวกัน พบว่า มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายจากเทคโนโลยีดิจิทัล และโลกอินเทอร์เน็ตที่มีการพัฒนาไปไกล ส่งผลให้ความต้องการผู้บริโภคและรูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไปด้วย

 

ผลสำรวจพบว่าแนวโน้ม (เทรนด์) ของการจ้างงานในปี 2566 ซึ่งมีการสอบถามไปยังบริษัทเอกชนใน 8 อุตสาหกรรม ทั้งใน กทม.ปริมณฑล และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก พบว่า

  • บริษัทในประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับทักษะทางเทคนิคด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
  • อีกทั้ง พนักงานที่มีทักษะการเป็นผู้นำ มีความสามารถในการปรับตัวสูง มีความยืดหยุ่น และความฉลาดทางอารมณ์จะเป็นที่ต้องการสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ทักษะดิจิทัล พร้อมใช้

 

ในปี 2566 ที่จะถึงนี้ พนักงานที่ย้ายการทำงานใหม่และมีทักษะดิจิทัล พร้อมใช้ คือ สามารถเริ่มงานได้โดยไม่ต้องฝึกอบรมใหม่ จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากที่เดิมถึงประมาณ 15 – 30% ในขณะเดียวกัน เด็กจบใหม่หรือผู้สมัครที่มีศักยภาพโดดเด่นอาจจะคาดหวังเงินเดือนปรับสูงขึ้นได้ถึง 15% ของการจ้างงานปกติ ในส่วนของพนักงานทั่วไปในบริษัท เงินเดือนจะปรับขึ้นเฉลี่ย 2-5% และ 10-15% สำหรับผู้ที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง

 

 

อีกทั้ง การแข่งขันเพื่อแย่งชิงพนักงานทักษะสูงจะมีความดุเดือดมากขึ้น โดยเฉพาะ “กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยี การขายและการตลาด” จัดอยู่ในอันดับต้น ๆ เนื่องจากความไม่สมดุลของตำแหน่งงานที่ว่างกับจำนวนพนักงานที่มีอยู่ในท้องตลาด 

 

ทักษะ-อาชีพไหน น่าสนใจโลกอนาคต

 

สำหรับอาชีพ หรือ ทักษะใหม่ๆ ที่น่าสนใจและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน มีอะไรบ้าง “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมมาให้แล้ว ดังนี้

 

1. วิศวกรด้าน AI /machine learning

ในยุคที่ทุกอุตสาหกรรมต้องการประยุกต์ใช้ AI และ Machine Learning จนทำให้แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวัน ทำให้ความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะหลายองค์กรต่างพยายามหาวิธีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจและการปฏิบัติงาน เพื่อให้การทำงานเป็นไปได้แบบอัตโนมัติและทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ทำให้องค์กรส่วนใหญ่ต่างมองหาพนักงานสายอาชีพนี้เป็นอย่างมาก

 

2. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist)

ข้อมูลมากมายมหาศาลในยุคปัจจุบัน และหลายองค์กรใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือ Data Scientist จึงนับเป็นอีกหนึ่งอาชีพมาแรงแห่งยุคที่ตลาดทั่วโลกต้องการ มีหน้าที่ทำงานวิเคราะห์ Big Data หรือข้อมูลจำนวนมหาศาลในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ที่มีอยู่ในองค์กร สร้างสรรค์โปรโมชัน พัฒนาผลิตภัณฑ์ และยังช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น

 

 

3. นักวิเคราะห์ความปลอดภัยข้อมูล

นักวิเคราะห์ความปลอดภัยข้อมูล หรือ Information Security Analyst เนื่องจากธุรกรรมการเงินออนไลน์กลายเป็นเรื่องปรกติในชีวิตประจำวัน อาชีพนี้จึงน่าจะเกิดขึ้นเพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการเก็บรักษาข้อมูลสำคัญของผู้ใช้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

 

4. นักพัฒนาแอปพลิเคชัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้สมาร์ทโฟน กลายเป็นสิ่งจำเป็น และถือเป็นปัจจัยที่ 5 ของการใช้ชีวิต แอปพลิเคชั่นต่างๆ มากมาย เข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของเราให้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า ทำธุรกรรม ท่องโลกโซเชียล หรือแม้แต่การอ่านการ์ตูน และนิยาย ก็สามารถทำได้ในมือถือเพียงเครื่องเดียว ดังนั้น นักพัฒนาแอปพลิเคชันจึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจในโลกปัจจุบันและอนาคต

 

5. นักพัฒนา VR และ AR

การทำตลาดในยุคปัจจุบันหลายครั้งมีการนำ เทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality : VR) และเทคโนโลยีการผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง (Augmented Reality : AR) มาใช้มากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่วงการแฟชั่น เช่น Walmart ที่ใช้ AR เพื่อให้ผู้ซื้อได้ทดสอบสินค้าจากบ้านของตนอย่างสะดวกสบาย และในอนาคตคาดว่าจะได้รับความสนใจในหลายๆ วงการมากขึ้น

 

6. วิศวกรออกแบบโครงสร้างสามมิติ

วิศวกรที่มีพื้นฐานด้านการออกแบบเชิงอุตสาหกรรมและวิศวกรโครงสร้าง จะสามารถต่อยอดทักษะของตัวเองไปสู่การออกแบบโครงสร้างสามมิติหรือ 3D ได้ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการออกแบบที่พำนักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ การพิมพ์ออกแบบสามมิติสามารถพิมพ์ชิ้นส่วนที่จำเป็นในการสร้างที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก ด้วยเวลาหลายชั่วโมงหรือหลายวัน และประกอบร่างได้ด้วยเวลารวดเร็ว

 

7. วิศวกรบริหารจัดการขยะ

สหประชาชาติ (UN) วิเคราะห์ว่า ในอนาคตมนุษย์จะผลิตขยะออกมามากถึง 2 พันล้านตันต่อปี การจัดการขยะที่เป็นปัญหามีผลพวงมาจากพื้นที่ในการฝังกลบที่จำกัดมากขึ้น บวกกับการกำจัดด้วยการเผาขยะก็ดูจะไม่ใช่วิธีการที่เป็นมิตรกับโลกตอนนี้เท่าไหร่ อาชีพวิศวกรจัดการขยะจึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับปริมาณขยะที่ล้นโลกมากๆ ในอนาคต

วิศวกรนักออกแบบจัดการขยะจะทำหน้าที่เปลี่ยนขยะมูลฝอยจำนวนมากให้กลายเป็นของใช้ เสื้อผ้า ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์กันเลย ซึ่งต้องมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์วัสดุและการออกแบบเชิงอุตสาหกรรม เพื่อนำขยะเหล่านี้กลับมาใช้ซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ในส่วนของบริษัทเอกชนเอง ยังมีการเติบโตในประเด็นเรื่องความยั่งยืนที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ในปี 2565 เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งได้จัดตั้งแผนกเฉพาะและริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ที่มุ่งเน้นไปทางแนวทางปฏิบัติ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตต่อไป

 

8. นักบำบัดการติดดิจิทัล

สุดท้าย เมื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจ ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีบทบาทในการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่เช่นกัน การใช้อินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการนอนหลับ รวมไปถึงจะมีสมรรถภาพการทำงานที่แย่ลงและอารมณ์เสียได้ง่ายขึ้นในระหว่างวัน หนึ่งในอาชีพที่น่าจะเกิดใหม่ และคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากก็คืออาชีพ Digital detox therapist หรือนักบำบัดการติดดิจิทัล ผ่านผู้เชี่ยวชาญคอยแนะนำในการปรับสมดุลการใช้ชีวิต

 

 

อ้างอิง : ธนาคารกรุงเทพทรูปลูกปัญญา , Itravelroom