ก.แรงงาน สร้างการรับรู้ "แรงงานต่างด้าว" เข้าถึงสิทธิความคุ้มครอง

ก.แรงงาน สร้างการรับรู้ "แรงงานต่างด้าว" เข้าถึงสิทธิความคุ้มครอง

กระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ศูนย์แรกรับฯ หนองคาย สร้างการรับรู้ "แรงงานต่างด้าว" เข้าถึงสิทธิความคุ้มครอง ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่แรงงานที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย

วันที่ 7 กันยายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกำกับดูแล กระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเท่าเทียมในสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น แรงงานไทย แรงงานต่างด้าว ต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม เนื่องจากแรงงานเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญก้าวหน้า

 

เพื่อให้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน จึงได้ จัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างสำหรับแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา จำนวน 3 แห่ง ในจังหวัดตาก สระแก้ว และหนองคาย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2559 เพื่อเป็นศูนย์อบรมให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวในการทำงานและการใช้ชีวิตในประเทศไทย รวมทั้งเป็นสถานที่ตรวจสอบ คัดกรองแรงงานก่อนเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศ และเป็นจุดพักรอแรงงานเดินทางกลับประเทศ หวังป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ 

 

ก.แรงงาน สร้างการรับรู้ \"แรงงานต่างด้าว\" เข้าถึงสิทธิความคุ้มครอง

ด้าน ว่าที่ร้อยตรีสมศักดิ์ พรหมดำ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ได้นำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง หนองคาย ตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจนโยบายการบริหารจัดการ การนำเข้า ป้องกันและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่แรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย

 

สำหรับศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง หนองคาย ตั้งอยู่เลขที่ 156/1 หมู่ที่ 5 ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ใช้เป็นสถานที่ในการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงาน โดยเฉพาะสัญญาจ้างงาน การใช้ชีวิตในประเทศไทยให้แก่แรงงานต่างด้าว การตรวจสอบ คัดกรองแรงงานต่างด้าวว่ามีนายจ้างจริงตามสัญญาจ้างและมีความพร้อมที่จะทำงานก่อนอนุญาตให้เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย การบันทึกข้อมูลแรงงานต่างด้าว เป็นศูนย์พักรอแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย กรณีนายจ้างมารับเพื่อเดินทางไปทำงานและกลับประเทศ กรณีสิ้นสุดการจ้าง

 

นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ออกใบอนุญาตทำงาน (E-Work Permit) เป็นศูนย์ที่สามารถตรวจสอบและขอรับสิทธิที่แรงงานพึงได้รับก่อนเดินทางกลับประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับการดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาจ้างงาน ซึ่งจะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้ความคุ้มครองแก่แรงงานต่างด้าวตามมาตรฐานสากลอีกด้วย โดยแรงงานที่เข้ารับการอบรมที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ จะได้รู้ถึงสิทธิ ค่าจ้าง สัญญาจ้าง สวัสดิการ การปฏิบัติตัวเมื่ออยู่ในประเทศไทย รวมถึงขั้นตอนการขอรับความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น ซึ่งการอบรมแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 3 – 6 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

 

ก.แรงงาน สร้างการรับรู้ \"แรงงานต่างด้าว\" เข้าถึงสิทธิความคุ้มครอง

ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน โดยกองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ยังได้ร่วมจัดกิจกรรมออกหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ (Road Show) ที่ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง หนองคาย ตามโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจนโยบายการบริหารจัดการ การนำเข้า ป้องกันและคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่แรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้แรงงานเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการใช้แรงงานถูกกฎหมายและป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพราะแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้น จะได้รับการคุ้มครองดูแลทั้งด้านสิทธิประโยชน์รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ที่เหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกับแรงงานไทยทุกประการอีกด้วย