สภาการศึกษา โต้การศึกษาไทยไม่รั้งท้าย ระบุอ่านบทวิเคราะห์ให้จบ

สภาการศึกษา โต้การศึกษาไทยไม่รั้งท้าย ระบุอ่านบทวิเคราะห์ให้จบ

สภาการศึกษา ออกมาแจง 'ผลการจัดอันดับการศึกษาไทย อยู่ที่ลำดับ 107 ของโลก จาก 203 ประเทศ และอยู่อันดับ 8 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ตามที่ World Population Review รายงานข้อมูลการจัดอันดับคุณภาพระบบการศึกษาระดับโลก ประจำปี2024 พบเกาหลีใต้ครองอันดับ 1 ของโลก รองลงมาเป็นประเทศเดนมาร์ก และเนเธอแลนด์ ขณะที่ไทยครองอันดับ 107 ของโลก และครองอันดับที่ 8 รองจากลาว เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน

รศ.ประวิต เอราวรรณ์  เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โพสต์รายละเอียดถึงประเด็น "การศึกษาไทยวิกฤต อยู่อันดับ 107 ของโลก" ว่า World Population Review เป็นเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากรของประเทศต่าง ๆ เป็นหลัก และยังมีการให้ข้อมูลด้านอื่น ๆ อาทิ เศรษฐกิจ สุขภาพ และการศึกษา โดยในด้านการศึกษามีการจัดอันดับประเทศต่าง ๆ จำนวน 203 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 107 และอยู่อันดับ 8 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'มทร.ล้านนา' ปลื้มบัณฑิตมีงานทำร้อยละ 73.38

UTCC โชว์พาวเวอร์สู่ ‘มหาวิทยาลัยต้นแบบด้าน Agentic AI ทางธุรกิจ’

ยันสรุปไม่ได้ว่าการศึกษาไทยคุณภาพน้อย

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ดังกล่าว จะพบว่า ผลการจัดอันดับอาจไม่ได้สะท้อนคุณภาพการศึกษาของประเทศต่างๆ อย่างแท้จริง และอาจสรุปไม่ได้ว่าประเทศไทยมีคุณภาพการศึกษาที่น้อยกว่าประเทศลาว หรือประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน โดยมีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ ดังนี้

  • การจัดอันดับด้านการศึกษาดังกล่าวไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบตัวชี้วัด และระเบียบวิธีการจัดอันดับไว้

โดยกล่าวไว้แต่เพียงว่า การจัดอันดับดังกล่าวใช้ข้อมูลจากการสำรวจ The annual BestCountries Report ที่จัดทำโดย US News and World Report, BAV Group, was the Wharton School of the University of Pennsylvania, โดยเป็นการสำรวจผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจาก 78 ประเทศ ดังนั้น ผลการจัดอันดับที่ปรากฎจึงไม่ได้สะท้อนคุณภาพของระบบการศึกษาของแต่ละประเทศอย่างแท้จริง เป็นเพียงการให้ความเห็นทางด้านการศึกษาจากผู้มีส่วนได้เสียมากกว่า

  • สมมติฐานที่ใช้ในการจัดอันดับด้านการศึกษาดังกล่าว อยู่บนหลักคิดที่ว่า คุณภาพของการจัดการศึกษามีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ

โดยประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีการจัดการศึกษาที่ดีกว่าประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า และประเทศที่พัฒนามากที่สุดก็จะมีการจัดการศึกษาที่ดีที่สุด ตามไปแล้ว ซึ่งจากสมมติฐานที่ใช้หลักการในการจัดอันดับด้านการศึกษาอาจทำให้การจัดอันดับที่ปรากฎไม่ได้สะท้อนคุณภาพของการศึกษาอย่างแท้จริง

ผลการจัดอันดับสะท้อนความคิดเห็นต่อระบบการศึกษามากกว่า

  • เว็บไซต์ดังกล่าวยังมีการให้ข้อมูลสถิติทางการศึกษาตัวอื่นที่สะท้อนให้เห็นคุณภาพการศึกษามากกว่าผลการจัดอันดับที่ได้กล่าวมา

คือ ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับอัตราการรู้หนังสือ (LiteracyRate) (แต่ไม่ปรากฎที่มาของแหล่งข้อมูล) ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการรู้หนังสือได้อยู่ที่ 94% ซึ่งเมื่อนำมาจัดอันดับแล้วจะอยู่ประมาณอันดับที่ 84 จากทั้งหมด 203 ประเทศ ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศด้านในกลุ่มอาเซียน อาทิ มาเลเซีย (95%) ฟิลิปปินส์ (9696) อินโดนีเซีย (96%) เวียดนาม (96%) สิงคโปร์ (97%) บรูไน (98%) ขณะที่ประทศอื่น ๆ ในอาเซียน มีอัตราการรู้หนังสือน้อยกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น

โดยข้อมูลอัตราดังกล่าวเป็นข้อมูล ปี 2021 ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ได้มีการสำรวจอัตราการรู้หนังสือของประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งมีอัตราการรู้หนังสือของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 99 % ซึ่งหากใช้ข้อมูลดังกล่าวจะถือว่าประเทศไทยมีอัตราการรู้หนังสือเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

อย่างไรก็ตาม  การจัดอันดับดังกล่าวไม่ได้สะท้อนให้เห็นคุณภาพการศึกษาของแต่ละประเทศอย่างแท้จริง เนื่องจากไม่มีการระบุถึงตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดอันดับ และข้อมูลที่ใช้มาจากผลการสำรวจความคิดเห็น ดังนั้น ผลการจัดการอันดับดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงความคิดเห็นต่อระบบการศึกษามากกว่า

ทั้งนี้ หากพิจารณาอันดับการศึกษาโดยใช้ข้อมูลอัตราการรู้หนังสือของประชากรของประเทศไทยในปีปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบจะพบว่าประเทศไทยจะอยู่ในอันดับประมาณ 23 ของโลก และเป็นอันอันดับ 1 ของอาเชียน

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งของประเทศไทย คือ การจัดทำระบบฐานข้อมูลทางการศึกษาที่ต้องเร่งพัฒนาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และเป็นปัจจุบันให้มากที่สุด เพื่อที่หากมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการจัดอันดับ ก็จะทำให้ผลการจัดอันดับของประเทศไทยดีขึ้น และสะท้อนสภาวะการศึกษาไทยอย่างแท้จริง"

ทั้งนี้ แม้ระดับการศึกษาในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป แต่คุณภาพระบบการศึกษาของแต่ละประเทศมีความสัมพันธ์กับสถานะเศรษฐกิจโดยรวมและความเป็นอยู่โดยรวมของประเทศอย่างชัดเจน

โดยทั่วไปแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา พลเมืองจะมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงกว่าพลเมืองของประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด และประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีการศึกษาที่มีคุณภาพดีที่สุด ซึ่งการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพโดยรวมของประเทศ

10 ประเทศแรกที่มีการศึกษาคุณภาพดีที่สุดในโลก

1.เกาหลีใต้

2.เดนมาร์ก

3.เนเธอแลนด์

4.เบลเยียม

5.สโลเวเนีย

6.ญี่ปุ่น

7.เยอรมนี

8.ฟินแลนด์

9.นอร์เวย์

10.ไอร์แลนด์

สำหรับประเทศไทยมีคุณภาพการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 107 ของโลก  และครองอันดับที่ 8 รองจากลาว เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน

อันดับคุณภาพการศึกษาในอาเซียน

1.สิงคโปร์

2.บรูไน

3.เวียดนาม

4.อินโดนีเซีย

5.ฟิลิปปินส์

6.มาเลเซีย

7.ลาว

8.ไทย

9.เมียนมา

10.กัมพูชา