'ธาริน พองชัยภูมิ' ผู้บริหาร HR-DPU เลขห้าไม่หยุดเรียนรู้

'ธาริน พองชัยภูมิ' ผู้บริหาร HR-DPU เลขห้าไม่หยุดเรียนรู้

“ธาริน พองชัยภูมิ” หรือที่เรียกขานกันอย่างคุ้นเคยว่า “พี่เบน” ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ในวันพิธีประสาทปริญญาบัตรของ DPU

ทุกสายตาจับจ้องมาที่ “ชุดครุยป้ายแดง” หลักสูตรบัญชีบัณฑิต วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) ที่พี่เบนกำลังใส่อยู่ ในช่วงวัยที่หลายคนอาจจะสงสัยว่า ด้วยอายุขนาดนี้ทำไมถึงมาเรียนปริญญาตรีอีกใบหนึ่ง

ตลอด 20ปี ที่ผ่านมา พี่เบนใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับงาน HR โดยสิบปีหลังเป็นผู้ดูแลและพัฒนาบุคลากรในรั้วมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของเขา ชีวิตของเขาหมุนรอบโต๊ะประชุม เครื่องคอมพิวเตอร์ และไฟล์งานที่ไม่มีวันสิ้นสุด ทุกอย่างดูเหมือนจะเข้าที่เข้าทาง ราบรื่นและมั่นคง ราวกับสายน้ำที่ไหลไปข้างหน้าไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคนเอ่ยถามถึงเรื่อง “ภาษี” และลามมาถึงเรื่อง “บัญชี-การเงิน” เรื่องธรรมดาๆ ที่นักบัญชีทั่วไปอาจจะมองว่าง่าย แต่กลับทำให้เขาถึงกับชะงักและรู้สึกเหมือนโลกทั้งใบหยุดเคลื่อนไหว  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'CIBA DPU' ดึงเกมเสริมทักษะรอบด้าน ปั้นคนรุ่นใหม่สู่ธุรกิจโลจิสติกส์

บัญชีดิจิทัล DPU อบรมเข้มบัญชี-ภาษี อัพความรู้ ปฎิบัติงานได้จริง

 ‘ป.ตรี’ ใบที่สอง รีสตาร์ท มุ่งมั่นเรียนรู้ตลอดชีวิต

“รายได้-รายจ่าย ส่งภาษี-ยื่นภาษี บัญชีนี้ๆ ทำยังไงพี่เบน ถ้ามีรายได้จากทางอื่นด้วยละ เขาถามง่ายๆ เลย แต่เราตอบเขาได้ไม่ชัดเจน” ผู้จัดการหนุ่ม เล่าพร้อมกับส่ายหัว หลังประสบปัญหาใหญ่ว่ามีบางเรื่องที่ยังตอบไม่ได้ ในวัย 50 กว่า ซึ่งเป็นวัยที่หลายคนอาจจะเลือกเตรียมมองหาที่ทางสงบในชีวิตหลังเกษียณ

“ตอนที่ทุกคนรู้ว่าเรียน ป.ตรี ทุกคนงงกันหมด เขาเห็นหน้าเราในอาคารเรียนก็นึกว่ามาทำ ป.เอก หรือไม่ก็เรียน ป.โทอีกใบ” พี่เบนหัวเราะเบาๆ กับปฏิกิริยาของเหล่าเพื่อนร่วมงาน หลายคนคิดว่าเขากำลังเตรียมเป็นดุษฎีบัณฑิต หรืออย่างน้อยก็กำลังเรียนปริญญาโท แต่เปล่าเลย—ชายวัย 53 คนนี้กลับเลือกเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ เพราะเขาเชื่อว่าพื้นฐานคือทุกอย่าง

เราเคยเรียนมาแล้วตอน ปวช. ก็พอรู้บ้าง ถ้าจะไปต่อยอดอะไรเกี่ยวกับบัญชี การเงิน หรือภาษี ปริญญาตรีต้องมาก่อน ไม่งั้นเรียนต่อก็ยิ่งงงใหญ่ และไม่ใช่เพียงเพื่อเติมเต็มช่องว่างที่เคยละเลย แต่ยังเป็นการ "ซื้ออนาคต" และเป็นทางเลือกสู่อาชีพสำรองหลังเกษียณ

"บางคนบอกว่าภาษีเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ มันอยู่รอบตัวเราหมด อีก 5-6 ปีเกษียณ เรียนบัญชีไว้ สอบเป็นผู้ทำบัญชีเป็นอาชีพสำรองได้สบาย”พี่เบนย้ำ

สำหรับ หลักสูตรบัญชีบัณฑิต (ปริญญาตรีใบที่ 2) วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี DPU โดยเน้น Course Work ให้จบได้เร็ว เรียนวันอาทิตย์ ระยะเวลา 2 ปี พร้อมกับการปูพื้นฐานแน่น รองรับการสอบผู้ทำบัญชี (TA, CPA) หรือประกอบวิชาชีพทางบัญชี นอกจากนี้ยังเน้นการใช้งานเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับบัญชี เช่น Power BI, PEAK, Express, SAP Accounting และ Dashboard ต่างๆ ซึ่งสามารถใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้จริง

\'ธาริน พองชัยภูมิ\' ผู้บริหาร HR-DPU เลขห้าไม่หยุดเรียนรู้

เรียนรู้จากน้อง เติมเต็มพี่ให้มีความทันสมัย

"ข้อดีที่ DPU นอกจากเรียนวันอาทิตย์ ทำให้จัดตารางง่าย ในห้องเรียนยังเน้นการวิเคราะห์กับสรุป มี Role Play จำลองสถานการณ์ธุรกิจเพื่อให้เข้าใจลึกขึ้นและนำไปใช้ได้จริง อาจารย์ก็มีแพชชั่น มีบันทึกเนื้อหาทบทวนได้ตลอด แล้วส่วนใหญ่ผู้เรียนทำธุรกิจและผู้บริหารที่มีพื้นฐานบัญชี เรียนไปก็จะมีการแชร์ประสบการณ์เพิ่มมุมมองธุรกิจให้กว้างขึ้น ไม่คิดว่าจะเรียนสนุกขนาดนี้”   

พี่เบนก้าวเข้าสู่ห้องจเรียนในวัยเลขห้า  พร้อมกับความรู้สึกแปลกใจระคนทั้งความกังวลและความตื่นเต้น แม้จะเตรียมใจไว้แล้ว แต่พอถึงคราวรอบตัวเต็มไปด้วยคนอายุน้อยๆ ตัวเขาเองก็รู้สึกเหมือนหลุดลอยเข้าไปในโลกใหม่ที่คุ้นเคยแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

“แรกๆ ก็แอบเขินๆ อยู่เหมือนกัน เพราะต้องเจอแต่เด็กที่อายุต่างจากเราอย่างน้อยๆ 10 ปี 15 ปี บางคนนี่รุ่นลูกเลยก็ว่าได้ แต่ด้วยงาน HR ที่ต้องเจอคนทุกเจนเนอเรชั่น ทำให้ปรับตัวได้ไม่ยาก”

ปัญหาเดียวที่ทำให้เฟรชชี่ผมสีดอกเลาเป็นกังวล คือจะเรียนทันคนอื่นหรือไม่ เพราะเห็นทุกคนใช้ iPad กันอย่างลื่นไหล ส่วนเขานิ้วมือคุ้นเคยกับการใช้เมาส์กับเครื่องคอมโน๊ตบุ๊คมากกว่า

อาจารย์พี่เบน กล่าวว่าดีที่อาจารย์เข้าใจว่าเราคงเขิน เลยแซวกึ่งขอให้เพื่อนๆ น้องๆ ช่วยดูแลเราที่เป็นพี่ใหญ่สุด ความเขินก็เลยลดลงกัน บรรยากาศการเรียนใน DPU ไม่เพียงอบอุ่น แต่ยังเต็มไปด้วยการสนับสนุนซึ่งกันและกันในทุกๆ ด้าน

“แล้วเราเป็นคนไม่ปิดกั้นตัวเอง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พอเริ่มเรียน เขาตั้งกรุ๊ปไลน์กัน เราก็เข้าไปดูวิธีการทำงานและวิธีคิดเพื่อน ก่อนจะเริ่มแอดไลน์ไปพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เราให้ในสิ่งที่เขายังไม่คุ้น เช่น การใช้เหตุผลและการควบคุมอารมณ์ ส่วนเขาก็แชร์ความรู้เกี่ยวกับการเงินและการใช้ iPad ที่เราไม่คล่อง การเติมเต็มกันแบบนี้ทำให้เราแมตช์กันได้ดีและลงตัวมากขึ้น”

สำหรับเขาในวันนี้ โลกดิจิทัลไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พี่เขาตกยุคอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นประตูใหม่สู่การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด “ตอนนี้เพื่อนๆ หลายคนก็ขอให้ผมช่วยแนะวิธีทำสไลด์สวยๆ ด้วย Canva กันหมด” ผู้จัดการ HR หนุ่ม (รุ่นใหม่) เล่าพลางยิ้มบางเบา หลังผ่านการอัปเกรดแนวคิดระหว่างคนสองรุ่น

\'ธาริน พองชัยภูมิ\' ผู้บริหาร HR-DPU เลขห้าไม่หยุดเรียนรู้

ก้าวข้ามอายุ เริ่มต้นใหม่ในโลกที่ไม่มีข้อจำกัด

การกลับไปเรียนในวัยเลขห้า ของพี่เบน ไม่เพียงแต่เติมเต็มความรู้ด้านการเงินและภาษี แต่ยังเป็นการพิสูจน์ว่า การเรียนรู้ไม่มีวันหยุดและไม่จำกัดอายุ เกรดเฉลี่ย 3.35 ที่เขาได้รับจากปริญญาใบที่ 2 คือผลลัพธ์จากความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่ไม่มีวันหมดอายุ

“การเรียนอะไรใหม่ๆ กับคนเก่าก็ไร้ประโยชน์ ต้องเรียนกับคนใหม่” เขาย้ำ "รอบนี้เกรดดีขึ้นเยอะ ตอนเรียนปี 2541 ผมได้แค่ 2.50 แต่ครั้งนี้กลับทำได้ถึง 3.35"

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเขายังพิสูจน์ให้เห็นว่า ทุกการเรียนรู้ล้วนมีค่า และเปิดรับประสบการณ์ใหม่คือกุญแจดอกสำคัญในการก้าวไปข้างหน้า การแลกเปลี่ยนความรู้ในวัยที่แตกต่างยังคงเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในการทำงานและการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย

แผนต่อไปของพี่เบนคือ การนำความรู้ที่ได้รับมาเสริมสร้างคุณภาพการทำงาน และพัฒนาทักษะเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต เพราะเขาเชื่อว่า HR ที่ดีไม่ใช่แค่คนที่ทำให้พนักงานพึงพอใจ แต่ต้องทำหน้าที่เหมือนสถาปนิกที่ออกแบบระบบและกระบวนการต่างๆ เพื่อให้พนักงานใช้ศักยภาพได้เต็มที่และช่วยผลักดันการเติบโตขององค์กรไปในทิศทางเดียวกัน

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั้น” พี่เบน HR กล่าว พร้อมย้ำทิ้งท้ายว่าแม้จะเป็นคำพูดที่คุ้นเคยออกโบราณ แต่ก็ยังคงเป็นคำแนะนำที่สำคัญที่ทำในทุกการเดินทางของชีวิต นำไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงในทุกวันนี้