การศึกษาเชิงบูรณาการ กับการทำงาน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี

การศึกษาเชิงบูรณาการ กับการทำงาน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ในปัจจุบันเมื่อนักเรียนและนักศึกษาได้ทำการศึกษาผ่านกระบวนการเรียนรู้แล้ว ผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนที่ได้จากการศึกษา ฝึกอบรมหรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกปฏิบัติ หรือการเรียนรู้จริงในที่ทำงานระหว่างการศึกษา

หรือที่เรียกว่าผลลัพธ์การเรียนรู้นั้น ต้องเป็นไปตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังของแต่ละหลักสูตรหรือการเรียนแต่ละระดับ (Expected learning outcome) 

ซึ่งโดยทั่วไปแล้วความคาดหวังเหล่านี้ต้องการให้นักเรียนและนักศึกษามีความรู้และมีสมรรถนะพร้อมเข้าสู่การทำงานในตลาดแรงงานได้ทันทีหลังสำเร็จการศึกษา (Ready to work)

นักเรียนและนักศึกษาจึงต้องได้รับองค์ความรู้ของศาสตร์แต่ละด้านจนมีความรู้และความเข้าใจในศาสตร์แขนงนั้น (Knowledge) อีกทั้งยังต้องได้รับการฝึกฝนทักษะการปฏิบัติงานที่สำคัญและจำเป็นต่อการทำงานในอนาคต (Skill)

เช่น ทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น การปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การมีคุณธรรมและจริยธรรม (Ethic) รวมถึงการสร้างความมีบุคลิกที่ดีหรือการมีคุณลักษณะของบุคคล (Character) ที่คาดหวังของแต่ละสาขาอาชีพ 

โรงเรียนและสถาบันการศึกษาจึงมีภารกิจที่จะต้องให้ความรู้ ฝึกฝนอบรมหรือสร้างประสบการณ์ที่เกิดขึ้น จากการฝึกปฏิบัติหรือการเรียนรู้จริงในที่ทำงานระหว่างการศึกษาให้กับผู้เรียนและนักศึกษา

กระบวนการเรียนรู้เหล่านี้อาจเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยอาจเป็นการเรียนรู้จากอาจารย์เพียงฝ่ายเดียวหรือจากอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากศาสตร์สาขาวิชาการต่าง ๆ ก็ได้ ตลอดจนถึงการเรียนรู้ผ่านสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันนี้มุ่งเน้นการเรียนรู้บนพื้นฐานการทำงาน หรือการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work integrated education) มากกว่าการเรียนรู้ในยุคดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญต่อการเรียนด้านองค์ความรู้เพียงอย่างเดียว

เนื่องจากการเรียนรู้หรือการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานนั้นเป็นกระบวนการการเรียนรู้ที่รวมเอาประสบการณ์จากการทำงานจริงเข้ากับการศึกษาในห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนหรือผู้เรียนสามารถนำทฤษฎีที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงและสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมการทำงาน

นอกจากนักเรียนและนักศึกษาจะได้รับองค์ความรู้พื้นฐานในห้องเรียนแล้ว ยังมีโอกาสในการทำงานในอุตสาหกรรมหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่เรียน ซึ่งทำให้สามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้ในสถานการณ์จริง และได้รับประสบการณ์ในการทำงานจริง

นอกนี้การบูรณาการการเรียนในห้องเรียนกับการทำงานจริง นักเรียนและนักศึกษาสามารถเห็นภาพการใช้งานจริงของทฤษฎีและแนวคิดที่เรียนมา ซึ่งช่วยให้การเรียนรู้มีความหมายและเข้าใจง่ายขึ้น

อีกทั้งยังได้รับทักษะที่สำคัญ เช่น ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหา การตัดสินใจ และการบริหารเวลา เป็นต้น ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญในการทำงานจริงในอนาคต

ในหลายประเทศจึงให้ความสำคัญต่อการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาของประเทศเหล่านั้นได้จัดให้มีมาตรการบังคับและมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อทำให้นักเรียนและนักศึกษาเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง

และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วบัณฑิตเหล่านี้มีความพร้อมและสามารถทำงานได้ทันทีตามความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ

มาตรการเช่นว่านี้จึงปรากฏในรูปของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา โดยสามารถจำแนกออกเป็นสองลักษณะคือ การกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานให้สถาบันหรือสถานศึกษาต้องจัดให้มีการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน และการกำหนดสิทธิประโยชน์ให้กับสถานประกอบการที่มีส่วนร่วมกับการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน

ประเทศไทยมีกฎระเบียบที่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานให้สถาบันหรือสถานศึกษาต้องจัดให้มีการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน กล่าวคือ กฎกระทรวงมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565 กฎกระทรวงมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2565

และประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการจัดหลักสูตรสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน พ.ศ. 2565 

นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบที่เป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มอบให้กับสถานประกอบการที่เข้าร่วมการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน เช่น โครงการฝึกงาน (Internship) โครงการฝึกอบรมในสถานประกอบการ การทำโครงงานร่วมกับสถานประกอบการ หรือการเรียนรู้ในรูปแบบการทำงานร่วมกับสถานประกอบการ

ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1) การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนตามกฎหมาย เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อน

2) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนเงินหรือมูลค่าของทรัพย์สินเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกําไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์และเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามที่กฎหมายกำหนด

3) การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี ไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินทุนในการจัดตั้งสถานศึกษาและสถาบันฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูงตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนซึ่งเป็นไปตามนโยบายมาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โดยสรุปแล้วการกำหนดหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานให้สถาบันหรือสถานศึกษาต้องจัดให้มีการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน และการกำหนดสิทธิประโยชน์ให้สถานประกอบการที่มีส่วนร่วมกับการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงานยังมีความท้าทายอีกหลายประการ ที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องประสบและต้องพยายามขับเคลื่อนมาตรการเหล่านี้ให้สำเร็จลุล่วง

เนื่องจากการพัฒนากำลังคนให้มีความรู้และมีสมรรถนะพร้อมเข้าสู่การทำงานในตลาดแรงงานได้ทันทีหลังสำเร็จการศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับความเจริญก้าวหน้าของประเทศ.

ผู้เขียน :

รศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง 

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รศ.ดร.ชัยยุทธ ถาวรานุรักษ์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์