‘แก้วิกฤตทักษะทุนชีวิตเยาวชน -วัยแรงงาน’ กระจายอำนาจ หาแหล่งทุนหนุนอปท.

‘แก้วิกฤตทักษะทุนชีวิตเยาวชน -วัยแรงงาน’ กระจายอำนาจ หาแหล่งทุนหนุนอปท.

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตทักษะทุนชีวิต โดยผลโครงการวิจัย สำรวจทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงาน จัดทำโดย กสศ.และธนาคารโลก วัดทักษะรากฐาน (Foundational Skills)  ของเยาวชนและผู้ใหญ่อายุ 15-64 ปี พบว่า เยาวชนและผู้ใหญ่มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์

Keypoint:

  • ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นโจทย์ใหญ่ของท้องถิ่นที่ต้องช่วยขับเคลื่อน ซึ่งจากข้อค้นพบในงานวิจัย ทำให้เห็นวิกฤตทักษะทุนชีวิตของกลุ่มวัยแรงงานค่อนข้างมาก
  • แผนพัฒนาการศึกษาของโคลัมเบีย ไม่ได้มองเฉพาะพื้นที่ แต่ต้องมองเรื่องของความสุข ความเสมอภาค และชุมชน
  • พัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กมีทักษะตอบโจทย์กับความต้องการของประเทศ และกลุ่มตลาดแรงงาน ให้เด็กมีโอกาส

วันนี้ (22 ก.พ.2567) กองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ธนาคารโลก ได้ร่วมกันจัด 'เวทีการขับเคลื่อนทักษะทุนชีวิตในระดับท้องถิ่นและจังหวัด:ความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กสศ. และธนาคารโลก' ณ ห้องประชุม World Ballroom B โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวพบว่า ประเทศไทยมีประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่เกือบ 1ใน 5  หรือร้อยละ 18.7 ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดทักษะทุนชีวิตทั้งสามด้าน  การขาดทักษะหลาย ๆ ด้านนั้น หมายความว่าบุคคลนั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองเลย และมีแนวโน้มว่าจะเหลือเพียงทางเลือกที่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อชดเชยวิกฤตด้านทักษะ ประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะก้าวไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำ และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม

อีกทั้ง ร้อยละ 70 ของผู้ที่อยู่ในชนบทมีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ร้อยละ 65)  ร้อยละ 80 ของผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปมีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 75)   ร้อยละ 60 ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา มีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 65) 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทักษะทุนชีวิตคนไทยต่ำกว่าเกณฑ์ เพิ่มการลงทุนเยาวชน วัยแรงงาน

แก้วิกฤตทักษะ สร้างทุนมนุษย์ ในทุกช่วงวัย

นอกจากนี้ วิกฤตด้านทักษะถูกพบมากในกลุ่มผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทอาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคใต้ ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา ร้อยละ 89 ของผู้ที่อยู่ในภาคเหนือมีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ร้อยละ 65)  ร้อยละ 84 ของผู้ที่อยู่ภายใต้มีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์(ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 75%)

ด้วยวิกฤตด้านทักษะที่เกิดขึ้น ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้เยาวชนและวัยแรงงานของไทยมีทักษะทุนชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาและเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต 

นายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจราชการ(สถ.) กล่าวว่าประเทศไทยมีการปักหมุดหมายจะเป็นประเทศที่มั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน แต่จากรายงานผลวิจัยดังกล่าว  พบว่าเยาวชน และแรงงานไทยยังมีปัญหาทักษะทุนชีวิต  ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอีก 10 กว่าปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาได้แล้วจริงหรือไม่?

สถ.มีบทบาทในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ท้องถิ่น ดังนั้น จะมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมพัฒนาคนให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ เสริมสร้างทรัพยากร สร้างทุนมนุษย์ ในทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงผู้สูงอายุ เรามีการส่งเสริมพัฒนาการศึกษาท้องถิ่นไปสู่การพัฒนาคนในพื้นที่

ความท้าทายที่อปท.ต้องเผชิญ ส่งเสริมทักษะทุนชีวิต

นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่าความท้าทายในสถานการณ์ปัจจุบันของภาคท้องถิ่น คือ วิกฤตที่เกิดขึ้นจากหลายด้าน  ทั้งเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ทุกคนกำลังเผชิญภาวะโลกร้อน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดิน น้ำ ลม ไฟ ปัญหาความเป็นเมืองที่ขยายตัวมากขึ้น  และปัญหาผู้สูงวัยซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ 

ปัจจุบันมีผู้สูงอายุประมาณ 13 ล้านคน และอายุเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น จากเดิม 60 ปี กลายเป็น 77.4 ปี  โดยอายุเฉลี่ยผู้หญิงอยู่ที่ 81 ปี ส่วนผู้ชาย 74.9 ปี สัดส่วนคนที่มีอายุ 100 ปี ประมาณ 20,000-30,000 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางในการรับมือและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะตอนนี้เด็กเกิดใหม่น้อยลง แนวโน้มแรงงานวัยหนุ่มสาวลดลง จะต้องมีนโยบาย หรือแนวทางที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ทักษะทุนชีวิตให้แก่คนทุกกลุ่ม 

สถ.มีหน่วยงานในสังกัด ประมาณ 7,849 แห่งทั่วประเทศ มีสถานศึกษาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 18,000 แห่ง มีโรงเรียนเกือบ 1,800 แห่ง และมีการกระจายอำนาจให้โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาระดับใดก็ได้ ทำให้ขณะนี้มีโรงเรียนกีฬาประมาณ17 โรง และมีโรงเรียนอาชีวศึกษา 10 โรง

"ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นโจทย์ใหญ่ของท้องถิ่นที่ต้องช่วยขับเคลื่อน ซึ่งจากข้อค้นในงานวิจัย ทำให้เห็นวิกฤตทักษะทุนชีวิตของกลุ่มวัยแรงงานค่อนข้างมาก เพราะทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์ในทุกด้าน และจะส่งผลต่อการทำงาน และรายได้ ฉะนั้น ผู้บริหารท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญ และเข้าใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต ตั้งโจทย์ และหาแนวทางในการสร้างทักษะทุนชีวิตให้แก่คนในท้องถิ่น" นายธีรยุทธ กล่าว

แผนการศึกษาต้องมองตามบริบทพื้นที่ และความสุข

Ms. Maria Victoria Angulo อดีตรัฐมนตรีว่า การกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการการศึกษาเมืองโบโกต้า ประเทศโคลัมเบีย กล่าวกรณีศึกษาด้านการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมทักษะทุนชีวิตจากต่างประเทศว่า แผนพัฒนาการศึกษาของโคลัมเบีย ไม่ได้มองเฉพาะในพื้นที่เท่านั้น แต่จะพูดถึงเรื่องของความสุข ความเสมอภาค และชุมชนร่วมด้วย

"ในทางปฎิบัติเป็นไปได้สำหรับภาคท้องถิ่น ที่จะทำให้การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเมือง โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ ได้มีการทำงานร่วมกับท้องถิ่น การรับฟังความคิดเห็นจากคุณครู นักเรียน พัฒนากิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนในพื้นที่ ร่วมกันพัฒนาห้องสมุด สวนสาธารณะ ทำให้เกิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าการศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้" Ms. Maria กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับนวัตกรรมนโยบายการศึกษาที่ทำในระดับท้องถิ่น ประเทศโคลัมเบีย มีการขับเคลื่อนในหลายเรื่อง  อาทิ 

  • เส้นทางการดูแลเด็กปฐมวัยแบบครบวงจร
  • โครงการสิ่งแวดล้อมโรงเรียนเพื่อชีวิตและการอยู่ร่วมกัน
  • ศูนย์นวัตกรรมครูแห่งแรก
  • โปรแกรมกับธนาคารโลก อารมณ์เพื่อชีวิต
  • การออกแบบโปรแกรมการให้อาหารในโรงเรียนให้เป็นโปรแกรมเพื่อสุขภาพ
  • การปฎิวัติโรงเรียน
  • โครงสร้างพื้นฐานที่มากขึ้นและดีขึ้น
  • มีวันเสริม กีฬาและศิลปะ
  • มีความทันสมัยของการบริหารจัดการสำนักเลขาธิการ
  • โปรแกรมถาวร นำเมืองไปสู่อัตราการออกกลางคันต่ำสุด
  • การสร้างแบบการประเมินการทดสอบ ทางสังคมและอารมณ์
  • โครงการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษา 

นโยบายเหล่านี้เป็นรากฐานในการตัดสินใจ การเปลี่ยนท้องถิ่น ซึ่งทุกคนทำได้  และเมื่อทำสำเร็จก็จะนำไปสู่นโยบายของประเทศ

“เรามุ่งเน้นการพัฒนาเชิงบูรณาการตั้งแต่การตั้งครรภ์ จนถึงวัยรุ่น โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาปฐมวัย เราเป็นผู้นำในการออกแบบการประเมินระดับการศึกษาปฐมวัย ต้องมีการฝึกอบรมครูปฐมวัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างโมเดลการจัดการศึกษาแบบองค์รวม  และการศึกษาจะต้องมีคุณภาพสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะคนในเมืองเท่านั้น แต่คนในท้องถิ่นจะต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน” Ms. Maria กล่าว

สร้างทักษะทุนชีวิตแก่เยาวชน ต้องเริ่มจากครู

การจะสร้างทักษะทุนชีวิตให้แก่เยาวชนได้ ในระบบการศึกษาต้องเริ่มจากการฝึกอบรมครู และต้องสร้างศูนย์นวัตกรรมครู เพื่อเน้นในเรื่องชองทุนมนุษย์ทั้งด้านการอ่าน ความรู้ดิจิทัล อารมณ์และสังคม อีกทั้งต้องมีการพัฒนาตัวชี้วัดที่เหมาะสม และต้องมีการปรับปรุงสภาพแสดล้อมในการเรียนรู้

นอกจากนั้น จะต้องมีการลงทุนด้านการศึกษา โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท ที่ต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกับคนในเมือง  โดยทุกภาคส่วนต้องมีการรวมทีม การปรองดอง และสันติภาพทางการศึกษา ร่วมมือกันเพื่อทำให้การศึกษามีความเกี่ยวข้องและมีคุณภาพสูง เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนแปลง จุดนัดพบเมืองของเรา

ในมิติการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์นั้น จะมี 3 หลักใหญ่ๆ คือ การตระหนักรู้ในตนเองและการจัดการอารมณ์ การเจริญเติบโต วตถุประสงค์การตัดสินใจ การกำหนด และความสัมพันธ์ การเชื่อมต่อ การปฎิสัมพันธ์ต่อกัน

การศึกษาสร้างคนคุณภาพ เป็นพลเมืองดี

นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจ.ระยอง กล่าวว่า จ.ระยอง ถือเป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เป็นแหล่งลงทุน และเป็นแหล่งงานที่เรียกว่าพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก  บทบาทของอทป.ในการขับเคลื่อนทักษะทุนชีวิตนั้น ปัจจุบันมีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของการเตรียมคนได้มีการสนับสนุนด้านการศึกษา และการมีงานทำ ผ่านโรงเรียนให้โอกาส และสร้างนักเรียนคุณภาพเพื่อรองรับงานในพื้นที่ EEC  มีเครือข่ายทุกภาคส่วน  สนับสนุนการเรียนการสอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการจัดสรรงบประมาณ  713 ล้านบาท สนับสนุนแก่โรงเรียนในพื้นที่จ.ระยอง และโรงเรียนนวัตกรรมการศึกษา

“เป้าหมายที่กำหนดไว้ จะเน้นการสนับสนุนพัฒนาพื้นที่ EEC ตอบสนองต่อตำแหน่งงานในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชาวระยองไปสู่ระดับสูงสุด โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะดำเนินการ คือ คนระยองทุกช่วงวัย ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ จะเป็นการศึกษาสร้างคนคุณภาพ เป็นพลเมืองดี รู้ประวัติศาสตร์ของตัวเอง จะมีการติดอาวุธทางปัญญาด้านภาษา ความสามารถด้านกีฬา ดนตรีมีเวทีในการแสดงออก และมีทักษะที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงาน ทำงานเป็น ทำงานอย่างมีคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การสร้างงานและสร้างอาชีพ”นายมนตรี กล่าว

'พะเยา' เตรียมพร้อมพัฒนาทักษะทุนชีวิตทุกช่วงวัย

นายโชคดี สกุลกวีพร ผู้อำนวยการกองการศึกษาเทศบาลเมืองพะเยา กล่าวว่าท้องถิ่นพะเยา เป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน  ซึ่งท้องถิ่นแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน การนำหลักการเพียงหลักการเดียวมากำหนดทุกพื้นที่คงจะไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบท และประชาชนแตกต่างกัน

เทศกาลเมืองพะเยา มีนโยบายหลักในการพัฒนาการศึกษา พัฒนาทักษะทุนชีวิต การศึกษาเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่คนทุกช่วงวัย เรามีนโยบายการจัดการศึกษาตลอดชีวิตแก่ประชาชน

ทั้งนี้ โรงเรียนในสังกัดเทศบาลเมืองพะเยา มีทั้งหมด 6 โรง มีแนวทางในการจัดการศึกษาอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็กๆ ให้เด็กอ่านออกเขียนได้  และสถาบันครอบครัวต้องเข้ามามีส่วนร่วม ต้องอ่านนิทานให้เด็กได้มีทักษะการฟัง การคิด การเขียนหรือการวาดต่างๆ

พอโตต้องให้เด็กมีพื้นฐานการอ่านที่ดี เป็นการอ่านรู้เรื่อง รวมถึงต้องมีการฝึกคิดวิเคราะห์ อีกทั้งมีพันธมิตรที่เข้มแข็งอย่าง มหาวิทยาลัยพะเยา ที่มาช่วยพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กมีทักษะตอบโจทย์กับความต้องการของประเทศ และกลุ่มตลาดแรงงาน ให้เด็กมีโอกาส

นอกจากนั้น ยังมีการดูแลในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดให้ประชาชนทุกช่วงวัย เป็นเวทีให้แก่คนทุกกลุ่มได้มาแสดงความสามารถ มาเรียนรู้ พัฒนาทักษะ จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น ที่ประชาชนจ.พะเยา เป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนจ.พะเยา อยากเรียนต้องได้เรียน

ทักษะทุนชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก 

นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนในจังหวัดปัตตานี นั้น อาจจะมีความแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ เพราะบริบทหรือต้นทุนในพื้นที่ของเราไม่เหมือนกัน ในเรื่องทักษะทุนชีวิตนั้น หากแยกออกเป็น 3 คำ ทางจังหวัดจะให้ความสำคัญของชีวิตก่อนแล้วจะเติมทักษะให้เกิดขึ้น เมื่อได้ทุนจะทำให้เกิดความยั่งยืน

การศึกษาเป็นประเด็นที่สำคัญ แต่การศึกษาใน3 จังหวัดชายแดนอาจจะมีความแตกต่างกับจังหวัดอื่นๆ เรามีโรงเรียนสามัญ และโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งไม่สามารถตัดโรงเรียนสอนศาสนาออกไปได้ เนื่องจากมีพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ถึง 85% เราต้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ดังนั้น ทุกระดับการศึกษาในพื้นที่ จะต้องมีเรื่องของการสอนศาสนา

“การมีหลักสูตรศาสนาในชั้นเรียน เป็นการสร้างชีวิต เราจะไม่ใช่สร้างอาชีพก่อนสร้างชีวิต เพราะจะไม่เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ จะให้ความสำคัญด้านการศึกษาและดูต้นทุนทรัพยากร สังคม ประวัติศาสตร์ เราอยากเห็นคุณภาพชีวิตที่ดี การศึกษาที่ดี สุขภาพที่ดี อยากให้ความรู้แก่คนทุกระดับ  และเปิดโอกาสให้แก่คนที่ไม่ได้รับการศึกษาได้เข้าสู่ระบบการศึกษา โดยจะให้ความสำคัญตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ต้องให้ความรู้ คนที่จะเป็นครู วิชาชีวิตแก่เด็กคนแรก คือ พ่อและแม่  เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก หากเด็กประสบความสำเร็จจะถือเป็นความยั่งยืนของประเทศ”

เราจัดการศึกษาไม่ได้มองพื้นที่  ไม่ได้ตลาดแรงงาน เรากำหนดจากส่วนกลางและให้เดินตาม คนในพื้นที่ 3 จังหวัด เราพยายามสร้างอาชีพโดยค้นหาตัวตนของเด็ก มีการส่งไม้ต่ออย่างเป็นระบบ เป้าหมานสูงสุดท้องถิ่น สร้างคนให้เป็นคนดี และคนเก่ง ต้องมีการวิเคราะห์ ดูภาพรวมทั้งหมด และดึงเอาจุดแข็งของเด็ก ใส่จิตวิญญาณความรับผิดชอบ ส่งเสริมให้มีทักษะตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน