“ศุภมาส”ชง ครม.สัญจร ระนอง นำ อววน.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใต้ และแลนด์บริดจ์

“ศุภมาส”ชง ครม.สัญจร ระนอง นำ อววน.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใต้ และแลนด์บริดจ์

“ศุภมาส” เตรียมชง ครม.สัญจร เสนอแนวทางนำ 6 สถาบันอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน ร่วมขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และแลนด์บริดจ์ เชื่อม 3 จังหวัดในพื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน ระนอง-ชุมพร-สุราษฎร์ธานี พร้อมตั้งอุทยานวิทย์ใต้ตอนบนหนุนเศรษฐกิจพื้นที่ SEC

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร อว. ร่วมหารือกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือ 6 สถาบัน

ได้แก่ วิทยาลัยชุมชนระนอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนงานอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้  (Southern Economic Corridor: SEC) และแลนด์บริดจ์ โดยพัฒนาเชื่อมโยง 3 จังหวัดในพื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน (ระนอง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี) ณ ห้องประชุมแก้วเจ้าจอม อาคารเรียนรวม A มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาระนองจังหวัดระนอง

ภายหลังการหารือ น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า อว.เตรียมแนวทางการขับเคลื่อนงาน อววน.ในพื้นที่ SEC และแลนด์บริดจ์ โดยจะพัฒนาเชื่อมโยง 3 จังหวัดในพื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน ได้แก่ ระนอง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ผ่านภาคีเครือข่ายความร่วมมือ 6 สถาบัน ใน 5 มิติ ประกอบด้วย

 1. ด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และสุขภาพ โดยใช้ซอฟต์พาวเวอร์มาพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ชุมชน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับฮาลาล ได้แก่ ผ้าบาบ๋า ย่าหยา ผ้ายกพุมเรียง มวยไชยา แฟชั่น การแสดง อาหารพื้นถิ่น+พืชสมุนไพร (Herb City)

คาดจะทำให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจใหม่อันมีรากฐานจากซอฟต์พาวเวอร์เพิ่มขึ้นอย่างน้อยจังหวัดละ 100 ราย ยกระดับรายได้ของประชากรร้อยละ 20 

 2.ด้านการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะและเมืองแห่งการเรียนรู้ ผ่านการศึกษา สำรวจ ออกแบบและสร้างแนวทางในการพัฒนาเมืองอย่างน้อยจังหวัดละ 1 เมืองต้นแบบ เกิดแหล่งเรียนรู้ชุมชนจังหวัดละ 50 ชุมชน สร้างนวัตกรชุมชนในพื้นที่แหล่งเรียนรู้จังหวัดละ 1,000 คน

 3.ด้านโลจิสติกส์ โดยจัดทำแผนแม่บทและแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การสร้างและพัฒนาคนในระบบรางและท่าเรือเพื่อเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน 

4. ด้านการพัฒนาบุคลากรจะจัดอบรมพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีน อังกฤษ พม่า เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต ซึ่งจะสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทั้ง 3 ภาษา อย่างน้อยจังหวัดละ 1,000 คน และ 

5.การจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ตอนบน เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยในพื้นที่ SEC และภาคใต้ตอนบนได้เต็มประสิทธิภาพ

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ การทำให้ประชากรทั้ง 3 จังหวัด มีความเข้าใจ ตระหนักรู้ และเห็นความสำคัญของ SEC และแลนด์บริดจ์ โดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ถึงร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมดใน 3 จังหวัด หรือประมาณ 800,000 คน และจะสามารถสร้างงานให้ผู้ไม่มีงานทำได้มากถึง 250,000 อัตรา เกิดผู้ประกอบการธุรกิจใหม่อันมีรากฐานจากซอฟต์พาวเวอร์เพิ่มขึ้น

ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่จะเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนทั้งฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ซึ่งตนจะผลักดันให้เกิดเป็นผลรูปธรรมและจะเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจร จ.ระนอง ในวันที่ 23 ม.ค.นี้” น.ส.ศุภมาส กล่าว