อุดมศึกษาไทยจะจัดการการเรียนรู้ในยุค AI ได้อย่างไร

อุดมศึกษาไทยจะจัดการการเรียนรู้ในยุค AI ได้อย่างไร

ขณะนี้ใคร ๆ ก็ทราบว่า AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่กำลังแผลงฤทธิ์ใหญ่อยู่ในโลกเป็นได้ทั้งพระเอกและผู้ร้ายในคราวเดียวกัน 

ในด้านพระเอกก็คือมาทำให้ประสิทธิภาพการผลิตทั้งสินค้าและบริการสูงขึ้นอย่างมหาศาล แต่ในด้านผู้ร้ายก็เริ่มมีความชัดเจนว่า อาจก่อให้เกิดการลดการจ้างงาน การลดทอนคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์

ละเมิดสิทธิการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เกิดอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่พิสดารมากขึ้น ใช้ทั้งภาพปลอม เสียงปลอมมาหลอกลวง และดูดเอาบัญชีเงินฝากในช่วงที่กำลังพูดโทรศัพท์อยู่ได้

เทคโนโลยี AI เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเลียนแบบความสามารถของมนุษย์ที่ใช้สติปัญญา เช่น การรับรู้ การจดจำ การให้เหตุผล การเรียนรู้ การตัดสินใจ การคาดการณ์ การสื่อสารกับมนุษย์

หรืออธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าคือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์และเครื่องจักรมีความฉลาดเสมือนมนุษย์

AI เป็นนวัตกรรมที่จำเป็นในอนาคต ที่คนไทยจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างสมรรถนะในการประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในการสร้างอาชีพและรายได้

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นเทคโนโลยีที่กำลังแทรกซึมเข้าไปในทุกอณูของอุตสาหกรรมการผลิต การบริการ การเงิน การแพทย์ การผลิตในธุรกิจการบันเทิง การสร้างงานศิลปะดนตรี ฯลฯ รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อีเมล โซเชียลมีเดีย

อุดมศึกษาไทยจะจัดการการเรียนรู้ในยุค AI ได้อย่างไร

การศึกษาของสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา (IPPD) ภายใต้สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับ Economic Intelligence Unit พบว่า

การประยุกต์ใช้ AI ร่วมกับการพัฒนาทักษะ พร้อมกับนโยบายอุตสาหกรรม AI จะสามารถเพิ่ม GDP ของประเทศไทยได้ถึงร้อยละ 35 และเพิ่มทักษะจ้างงานได้ถึงร้อยละ 18 ใน พ.ศ. 2578

AI จึงเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย (IPPD, 2019) และในปัจจุบัน AI ก็ได้นำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการเงิน การธนาคาร และธุรกรรมทางการเงินส่วนใหญ่ของประชาชนจะย้ายไปอยู่บนโทรศัพท์มือถืออัจฉริยะแล้ว   

ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังนักวิชาการในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ที่กล่าวถึงการใช้ AI ว่า สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ยอมให้ข้าราชการใช้แชทจีพีที (ChatGPT) ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์เริ่มกระบวนการนำแชทจีพีทีมาใช้ในวงการการศึกษาอย่างมีเงื่อนไขและระมัดระวัง

ลองมาดูกันว่าเราสามารถใช้ AI มาช่วยพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างไร

ความสามารถอันเอกอุของ AI ก็คือ การประมวลข้อมูลและทบทวนวรรณกรรมในโลกที่มีอย่างมหาศาลมาจัดลำดับความสำคัญ และเรียบเรียงมาเป็นข้อมูลที่สามารถช่วยในการตัดสินใจได้ในพริบตาเดียว

ดังนั้น AI จึงเป็นผู้ช่วยสอนที่ดี ทำให้อาจารย์แก้ไขปัญหาที่นักเรียนถามมาในการสอนได้ง่ายขึ้น มีความสำคัญและเป็นตัวช่วยในการทำหลักสูตร เช่น สั่งให้ AI ทบทวนหลักสูตรต่าง ๆ ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยในโลกสำหรับสาขาวิชาหนึ่ง และแนะนำว่าหลักสูตรที่ดีน่าจะเป็นอย่างไร

อุดมศึกษาไทยจะจัดการการเรียนรู้ในยุค AI ได้อย่างไร

จากนั้นจึงนำข้อมูลมาพิจารณาหรือระดมสมองต่อไป AI สามารถช่วยในการเตรียมการสอน การออกข้อสอบ การให้คะแนน การทำ mind mapping การเรียนรู้ที่เหมาะสมตามความต้องการและศักยภาพของผู้เรียน (customized learning)

เพราะ  AI จะสามารถเรียนรู้ว่าผู้เรียนมีความสนใจในด้านใดและนำเสนอข้อมูลที่จะต่อยอดความสนใจไปได้เรื่อย ๆ นอกจากนั้น อาจารย์ยังสามารถใช้ AI  สร้างเกมส์เพื่อช่วยสอนซึ่งทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น กระจ่างชัดขึ้น

เช่น เกมที่ใช้ในการสอนเรื่อง ดีมานด์และซัพพลาย ทำให้เข้าใจปัญหาการกำหนดราคา ส่วนเกินของผู้บริโภค และส่วนเกินของผู้ผลิตได้ง่ายขึ้น รวมทั้งใช้ในการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ผ่านการใช้เกมส์

สำหรับสาขาวิชาเช่น วิศวกรรมศาสตร์ ชีวะเคมี หรือสาขาแพทย์ศาสตร์ การใช้ AI มีประโยชน์อย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่านผู้อ่านได้เคยดูหนังซีรีย์ที่เกี่ยวกับการแพทย์เช่น Amsterdam หรือ The Good Doctor จะเห็นได้ว่านักศึกษาจะสามารถเห็นสรีระของมนุษย์ได้จากทุกแง่ทุกมุมจากการใช้ AR/ VR

การสร้างภาพจำลองต่าง ๆ ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องยากอีกต่อไป เช่น ภาพน้ำท่วม ภาพจำลองในนวนิยายหรือจินตนาการ และทำให้นักศึกษา วิศวกรและสถาปนิกทำงานได้ง่ายขึ้น สวยงามขึ้น ปรับเปลี่ยนแง่มุมต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น

อุดมศึกษาไทยจะจัดการการเรียนรู้ในยุค AI ได้อย่างไร

เมื่อมีประโยชน์อย่างนี้แล้ว ดร. Eduardo Araral แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ระบุว่ารัฐบาลสิงคโปร์จึงประกาศให้มีการใช้ AI ในการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศก็ยังรีรอที่จะประกาศให้ใช้

และเสนอว่า มหาวิทยาลัยควรมีวิชั่นหรือเป้าหมายอันพึงประสงค์ว่า นักศึกษาทุกคนและบัณฑิตที่จบออกไปจะต้องมีความรอบรู้ด้าน AI ( AI literacy)

AI ควรเป็นการศึกษาทั่วไปสำหรับนักศึกษาทุกคนในมหาวิทยาลัย ทุกหลักสูตรต้องมี AI เป็นส่วนประกอบ ทุกวิทยานิพนธ์จะต้องมีองค์ประกอบของ AI/ AR/ VR ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาและฝึกอบรมด้านการแพทย์และวิศวกรรม

ดังนั้น มหาวิทยาลัยก็จะต้องยกระดับความสามารถของการเก็บข้อมูลไว้บนคลาวด์ รวมทั้งต้องส่งเสริมความสามารถในการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงทางไซเบอร์ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย

แต่การใช้ AI ก็อาจสร้างปัญหาได้เช่น เกิดการลอกเลียน (plagiarism) ได้ง่ายขึ้น นักศึกษานำผลงานจาก AI ส่งอาจารย์โดยไม่จำเป็นต้องทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานเหมือนดังแต่ก่อน อีกทั้ง AI ก็ยังมีข้อจำกัด AI อาจจะสร้างความรู้ขึ้นมาใหม่โดยการนำข้อมูลที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าถูกต้องมาใช้หรือส่งมอบ

ข้อมูลที่ AI นำเสนออาจจะมีความเอนเอียงหรือมีอคติ บางครั้งหากไม่ระมัดระวังเรื่องกำหนดเงื่อนไขของการประมวลผล AI อาจจะถือโอกาสเติมจินตนาการลงไปในขณะที่เครื่องจักรประมวลผลให้กับผู้ใช้ และหากผู้ใช้ไม่มีความรู้อย่างถ่องแท้ก็จะได้ข้อมูลที่ไม่มีจริงปนมาด้วย

ดังนั้น ผู้ที่จะใช้ AI จึงต้องมีความสามารถประยุกต์ใช้และสามารถกำหนดเงื่อนไขได้อย่างรัดกุม การนำ AI เข้ามาสอนทำให้ต้องมีการปรับปรุงสมรรถนะของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแบบขนานใหญ่ เพราะภาคเอกชนก้าวหน้าไปเร็วกว่ามากแล้ว

แม้ว่าสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และวิศวคอมพิวเตอร์จะมีการเรียนการสอน AI อย่าลืมว่าเรามีแรงงานจำนวนมหาศาลที่ต้อง reskill และ upskill ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทักษะด้านเทคนิค

แรงงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะพวกที่จบจากสายสังคมศาสตร์ก็ต้องการการ reskill และ upskill เหมือนกัน ซึ่งหมายความว่ามหาวิทยาลัยไทยต้องปฏิรูปการเรียนการสอนใหม่

ในที่สุดแล้วประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ AI ในระบบการศึกษา ดังนั้นทุกมหาวิทยาลัยควรจะต้องเริ่มหาแนวทางในการประยุกต์ใช้ AI ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดและทำให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้มากขึ้น

อุดมศึกษาไทยจะจัดการการเรียนรู้ในยุค AI ได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี การใช้ AI ในประเทศไทยยังต้องใช้กับฐานข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษ เพราะมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่กว่า สามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น

ในขณะที่ฐานข้อมูลของไทยโดยเฉพาะฐานข้อมูลที่เป็น non structured  data นั้น ประเทศไทยยังไม่สามารถพัฒนาโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ได้มากนัก ณ ขณะนี้ เพราะติดปัญหาการตัดคำ (tokenization)

เนื่องจาก ภาษาไทยเป็นภาษาที่ไม่ตัดแบ่งคำ และเป็นภาษาที่บางครั้งก็ไม่มีประธานของประโยคหรือละไว้ให้คนฟังเข้าใจเอาเอง ดังนั้น ในสายสังคมศาสตร์ซึ่งต้องใช้ข้อมูลภาษาไทยก็ยังอาจจะต้องเดินตามหลังสาขาวิชาอื่นไปสักพักในด้านของ AI

เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวนรถด่วน AI ในอนาคต มหาวิทยาลัยของไทยควรทำการทดลองใช้ AI อย่างเป็นระบบโดยมีการทดสอบแง่มุมต่าง ๆ ที่จะนำ AI  มาประยุกต์ใช้อย่างมีเงื่อนไข และถอดบทเรียนออกมาเป็นแนวทางที่นำไปปฏิบัติสำหรับการเรียนการสอนในโลกยุคใหม่

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน คนไทยก็ต้องพยายามพัฒนาตัวเองอย่างรู้เท่าทันและต้องเริ่มที่มหาวิทยาลัย!