เทคนิคเลือก 'ครูต่างชาติ' มาสอนที่บ้านและโรงเรียน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง?

เทคนิคเลือก 'ครูต่างชาติ' มาสอนที่บ้านและโรงเรียน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง?

ไม่ใช่ว่าใครก็จะมาเป็น 'ครู' ได้ ต่อให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่มีอยู่มากมายผ่านโซเซียลมีเดีย แต่ความรู้เหล่านั้นอาจต้องคัดสรรให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราจะศึกษาค้นคว้า

Keypoint:

  • การเรียนภาษากับเจ้าของภาษา อย่างครูต่างชาตินั้น ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงคลิ๊กเข้าไปในเว็บไซต์ก็มีให้เลือกมากมาย แต่จะเลือกครูต่างชาติอย่างไร? ให้มีคุณภาพ  ไม่ต้องเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์
  • ใครที่จะมาเป็นครูต่างชาติในประเทศไทย ไม่ใช่เพียงพูดภาษาได้ก็จะเป็นได้ทันที แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา โดยบุคคลนั้นได้รับการประเมินสมรรถนะอันประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ  และเจตคติ 
  • 7ขั้นตอนในการขอใบอนุญาตทำงานสำหรับครูต่างชาติ รวมถึงการต่อใบวีซ่าต่างๆ เพื่อให้สามารถทำงานในประเทศไทยได้ 

'ครู' เป็นบุคคลที่ผ่านการเรียนในคณะศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
หรือ คณะมนุษย์ศาสตร์ และต้องสอบความถนัดวิชาชีพครู แต่หากไม่ได้เรียนวิชาเหล่านี้มาก็สามารถเป็นครูได้ เพียงแต่ต้องเรียนและสอบมาตรฐานวิชาชีพครู 9 มาตรฐาน โดยคุรุสภา  อีกทั้งหลังจากที่ได้ใบอนุญาตสอน ก็สมัครเป็นครูตามโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนเอกชนที่ไม่ขอใบประกอบวิชาชีพ ต่อมา เมื่อสอนครบ 1 ปี และผ่านการประเมินการสอนแล้วก็จะสามารถขึ้นทะเบียนขอใบประกอบวิชาชีพครูได้ ซึ่งใบประกอบวิชาชีพนี้ต้องต่ออายุทุก 5 ปี 

ขณะที่ 'ครูต่างชาติ' นั้น ไม่ใช่ว่าพูดภาษาอังกฤษได้แล้วสามารถจะมาประกอบวิชาชีพครูได้ 'กรุงเทพธุรกิจ' ชวนมาทำความเข้าใจ 'กว่าจะเป็นครูต่างชาติ' ต้องทำอย่างไรบ้าง และหากใครมองหาครูต่างชาติมาสอนที่โรงเรียน ที่บ้านควรทำอะไร? 

ประเทศไทย มีกฏหมายกำหนดให้บุคคลสัญชาติใดก็ตามที่ประสงค์จะมาประกอบวิชาชีพครู ในประเทศไทย จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดย สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และทุกคนจะต้องมีสมรรถนะพื้นฐานทางวิชาชีพที่เชื่อมั่นได้ว่าจะเป็นครูที่ดีและมีคุณภาพในการจัดการเรียนรู้ได้อย่างมืออาชีพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สั่งเข้มงวดสถานศึกษา ย้ำ ”ครูต่างชาติ” ต้องมีใบอนุญาตทำงาน

 

เปิดเส้นทาง 'ครูต่างชาติ' สู่วิชาชีพครูในไทย

รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร ที่ปรึกษาของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาด้านการพัฒนาวิชาชีพ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันคุรุพัฒนา กล่าวว่าสำหรับ เส้นทาง 'ครูต่างชาติ' เข้าสู่วิชาชีพครูในประเทศไทย คือ การเข้าเรียนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีหรือโทหรือเอกทางการศึกษาและหลักสูตรนั้นจะต้องได้รับการรับรองจาก สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งระดับปริญญาตรีจะมีทั้งหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรไม่ว่าจะระดับใดแล้วก็ตาม จะได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching License : P – License) ซึ่ง

สามารถนำไปประกอบเป็นหลักฐานการสมัครสอบเข้ารับราชการเป็นครูได้ทุกสังกัดหรือไปเป็นครูในโรงเรียนเอกชนทั่วไป และโรงเรียนนานาชาติได้ แต่จะมีอายุใช้งานได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ระหว่างทางจะต้องพยายามสอบรับใบประกอบวิชาชีพครูระดับ Basic Teaching License : B – License ให้ได้

เทคนิคเลือก \'ครูต่างชาติ\' มาสอนที่บ้านและโรงเรียน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง?

การเข้าสู่วิชาชีพครูสำหรับบุคคลที่สนใจจะเข้าสู่วิชาชีพครูในประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ อาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่ 1 บุคคลที่เป็นครูในสถานศึกษาเอกชน ประเภทโรงเรียนทั่วไป โรงเรียนนานาชาติ(ซึ่งรวมถึงชาวต่างชาติทุกสัญชาติ) รวมถึงศูนย์เด็กเล็ก และกลุ่มครูอัตราจ้าง กลุ่มครูเหล่านี้ จะต้องขออนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครูโดยขอยกเว้นการมีใบประกอบวิชาชีพเป็นการชั่วคราว ซึ่ง สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะอนุญาตให้คราวละสองปี
  • กลุ่มที่ 2 บุคคลที่ยังไม่ได้เป็นครู แต่สนใจที่จะเป็นครู และสำเร็จการศึกษาจากคณะต่าง ๆ กลุ่มนี้ยังไม่ได้ทำหน้าที่สอนในสถานศึกษาใด ๆ เลย

 

ครูชาวต่างชาติทุกคนต้องปฏิบัติตามหลักการควบคุมวิชาชีพครูของไทย

รศ.ดร.มนตรี กล่าวต่อว่า ในบุคคลกลุ่มที่ 1 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กำลังดำเนินการเร่งรัด และเชิญชวนให้ที่ขอรับการผ่อนผันการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะต้องพยายามทำให้ได้มาซึ่ง Basic Teaching License โดยเร็ว มีทางเลือกอยู่ 3 ทางเลือก ประกอบด้วย

  • การไปเรียนปริญญาตรี หรือปริญญาโทหรือปริญญาเอกทางการศึกษาหรือทางการสอน ในหลักสูตรที่ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ให้การรับรอง
  • การไปเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการสอน (หลักสูตรนี้อนุญาตเฉพาะคนที่กำลังสอนอยู่ในโรงเรียนแล้วเท่านั้นเข้าเรียนได้ หากยังไม่ได้ทำหน้าที่สอนในปัจจุบันจะสมัครเข้าเรียนไม่ได้)
  •  การเข้าเรียนในหลักสูตรที่ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กำลังจะเปิดให้สมัครเรียนผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 7 Modules เมื่อเรียนจบในทั้งสามทางเลือกนั้นแล้ว ทุกคนจะต้องเข้ารับการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามระบบ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย หรือ ชาวต่างชาติ จะต้องดำเนินการเช่นนี้ทุกคน

ส่วนบุคคลกลุ่มที่ 2 ไม่มีทางลัดใด ๆ ที่จะเข้าประกอบวิชาชีพครู ต้องเรียนปริญญาตรี หรือปริญญาโทหรือปริญญาเอกทางการศึกษาหรือทางการสอน ในหลักสูตรที่ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ให้การรับรองเมื่อเรียนจบแล้ว จะต้องเข้ารับการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามระบบ ไม่สามารถเข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางการสอนได้

เทคนิคเลือก \'ครูต่างชาติ\' มาสอนที่บ้านและโรงเรียน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง?

รวมถึงไม่สามารถเข้ารับการอบรมมาตรฐานความรู้ 7 Modules แบบออนไลน์ ได้ เพราะหลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิตและหลักสูตรอบรม 7 Modules พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาครูที่ได้รับการผ่อนผันการปฏิบัติหน้าที่ครูที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบันเท่านั้น

"กรณีครูชาวต่างชาติ ต้องสำเร็จการศึกษามาจากประเทศของตนเอง และท่านอาจจะมีคุณวุฒิทางการสอนหรือทางการศึกษา แต่ต้องยอมรับว่า หลักสูตรเหล่านั้น สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ไม่ได้ให้การรับรองว่า จะมีมาตรฐานสมรรถนะที่สอดคล้องกับสมรรถนะทางวิชาชีพของ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา หรือไม่ หรือท่านอาจจะมีใบประกอบวิชาชีพครูเฉพาะทางมาจากองค์กรสากล แต่ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า ภายใต้หลักการแห่งความเท่าเทียมระหว่างประเทศ ประเทศไทยยังไม่มีข้อตกลงในการยอมรับการใช้มาตรฐานวิชาชีพครู ร่วมกันกับองค์กรวิชาชีพครูหรือประเทศใด ๆ เลย จึงทำให้ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ยังไม่สามารถให้การยอมรับใบประกอบวิชาชีพนั้น ๆ ได้โดยอัตโนมัติ" 

ปัจจุบัน สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ยังไม่มีอำนาจในการที่จะยอมรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากองค์กรหรือประเทศใดๆ เลย จึงทำให้ ครูชาวต่างชาติทุกคน (ไม่ว่าจะสอนในโรงเรียน EP Program หรือ International School) จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการของการควบคุมวิชาชีพครูของประเทศไทย แต่ท่านอาจจะเรียน หรืออาจจะขอเทียบโอนประสบการณ์ แต่สุดท้ายทุกคนจะต้องมาจบที่การสอบรับใบประกอบวิชาชีพครูทุกคน ไม่มีใครที่จะสามารถได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยไม่ต้องสอบ ทั้งนี้การสอบจะต้องสอบผ่านทั้งสองวิชา คือ วิชาครู (Teachers’ Profession) และวิชาเอก (Major) ที่จะสอนในโรงเรียน

เทคนิคหา 'ครูต่างชาติ' สอนภาษาด้วยตัวเองง่าย ๆ

ปัจจุบันมีเว็ยหาครูต่างชาติสอนภาษาออนไลน์มากมาย แต่เว็บที่

  • มีครูต่างชาติให้เลือกเรียนด้วยเยอะ
  • มีหลายภาษาให้เลือกเรียน
  • ได้เรียนกับครูต่างชาติแบบตัวต่อตัว
  • เลือกครู เวลา และราคาได้เอง
  • เรียนที่ไหนก็ได้ แค่มีโน๊ตบุ๊คและเน็ต

อยากให้ลองทำตามขั้นคอนง่ายๆ ดังนี้ 

1. ลงทะเบียนฟรีที่เว็บไซต์หาครูต่างชาติ

ซึ่งจะทำให้การเรียนภาษากับครูต่างชาติตัวต่อตัวไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป อาทิ iTalki เป็นเว็บที่รวบรวมครูต่างชาติไว้จำนวนมาก  มีภาษาให้เลือกเรียนมากกว่า 150 ภาษา และครูให้เลือกเรียนด้วยมากกว่า 5,000 คน

2. ตามหาครูต่างชาติที่อยากเรียนด้วย

หลังจากที่คุณได้ลงทะเบียนกับเว็บหาครูต่างชาติแล้ว เริ่มจากการเลือกภาษาที่คุณอยากเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาอื่น ๆ โดยเคล็ดลับในการเลือกครูแบบง่ายที่สุด แบบที่ไม่ต้องนั่งเลื่อนเม้าส์ขึ้นลงเลือกครูเป็นหลาย ๆ ชั่วโมง  ได้แก่ 

  • หลังจากที่เลือกภาษาที่คุณอยากเรียนแล้ว คุณจะเห็นแถบข้างบนที่ระบุเพิ่มเติมเกี่ยวกับครูต่างชาติที่คุณกำลังตามหา มันจะช่วยกรองให้ตรงกับความต้องการของคุณมากที่สุด
  • ถ้าอยากเรียนภาษาอังกฤษสำเนียงอังกฤษ ก็ตามหาครูเจ้าของภาษาได้ง่าย ๆ เลย โดยการเลือก ครูมากจาก: อังกฤษ และกดเลือกช่องเจ้าของภาษา
  • หรือว่าถ้าคุณอยากเรียนภาษาญี่ปุ่น แต่อยากได้ครูที่พูดภาษาไทยได้นิดหน่อย ก็เลือกตรงช่อง ภาษาอื่นที่พูดได้: ภาษาไทย

3. ทดลองเรียนกับครูต่างชาติ 

4. ดูวีดีโอแนะนำตัว

5.ดูราคา

6.ดูจำนวนบทเรียนที่มี

7.อ่านรีวิวจากนักเรียนคนอื่น ๆ

เทคนิคเลือก \'ครูต่างชาติ\' มาสอนที่บ้านและโรงเรียน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง?

จะเป็นครูต่างชาติในไทย ต้องทำอย่างไร?

ตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ.2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 มีนาคม 2566 ได้กำหนดให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู 4 ประเภท คือ

1.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา

3.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา 

4.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์

โดยการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามข้อบังคับใหม่จะเป็นใบอนุญาตที่มีการบ่งบอกถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญของครู และให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเห็นทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจน รวมถึงผู้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพครูมีความเชื่อมั่นในการให้บริการของผู้ประกอบวิชาชีพครู โดยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จำแนกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  1. ใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่ครู (Provisional Teaching License) หรือ P-License มีอายุ 2 ปี
  2. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Teaching License) หรือ B-License มีอายุ 5 ปี
  3. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (Advanced Teaching License) หรือ A-License มีอายุ 7 ปี 

การศึกษาในหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาที่คุรุสภารับรองที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 และผ่านเกณฑ์การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูครบตามที่คุรุสภากำหนด

สำหรับผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูฉบับเดิมก็ใช้ใบอนุญาตฉบับเดิมจนกว่าจะหมดอายุ และเมื่อต่อใบอนุญาตจะได้ B-License ส่วนการจะรับ A-License ต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูระดับ B-License หรือฉบับเดิมอยู่แล้ว และมีวิทยฐานะตั้งแต่ระดับชำนาญการหรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือผ่านเกณฑ์การประเมินตามระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

ทั้งนี้ การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้มีสิทธิต้องยื่นขอรับใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์ของคุรุสภาที่จะเปิดระบบในวันที่ 15 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

7 ขั้นตอนการขอใบอนุญาตทำงานให้ครูต่างชาติ

ใบอนุญาติทำงาน หรือ Work permit คือ ใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งจะต้องยื่นประทับตราวีซ่าประเภท Non-Immigrant B หรือวีซ่าประเภทธุรกิจ ก่อนขอใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย

โดยใบดังกล่าวถือเป็นใบเบิกทางที่ช่วยให้การจ้างครูต่างชาติถูกกฏหมาย  โดยโรงเรียนที่ต้องการจ้างครูต่างชาติมีขั้นตอนและรายละเอียดมากมาย ตั้งแต่ การตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจนไปถึงการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่สำหรับในบทความนี้จะพูดถึง ขั้นตอนการขอใบอนุญาตทำงาน เป็นหลัก ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ขั้นตอนการขอใบอนุญาตทำงานให้ครูต่างชาติ

1. เตรียมเอกสาร

2. ตรวจสอบวุฒิการศีกษาและตรวจสอบประวัติอาชญากรรม

3. ยื่นเรื่องกับทางสช./สพป./สช.จังหวัด

4. ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนประเภทวีซ่าเป็นประเภท  Non-Immigrant (รหัส B)

5. ทางโรงเรียนจัดทำหนังสือแต่งตั้งครูชาวต่างประเทศ

6. ครูชาวต่างชาติยื่นขอใบอนุญาตทำงานที่ กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

7. รายงานการแต่งตั้งครูชาวต่างประเทศไปยัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน /สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา

เทคนิคเลือก \'ครูต่างชาติ\' มาสอนที่บ้านและโรงเรียน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง?

รายละเอียด 7 ขั้นตอนการขอใบอนุญาตทำงาน

1.เตรียมเอกสารสำหรับการยื่นใบขออนุญาตทำงาน

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการยื่นใบขออนุญาตทำงาน ผู้เตรียมเอกสารคือ ชาวต่างชาติ โดยเอกสารที่ต้องเตรียมมีดังนี้

  • ใบปริญญา หรือ ใบ transcript ทั้งตัวจริงและสำเนาการศึกษา
  • หนังสือการเดินทาง (Passport) ทั้งตัวจริงและสำเนา
  • ผลการทดสอบ Toeic
  • หลักฐานแสดงการผ่านการรับรองความรู้ (หากมี)
  • หลักฐานแสดงการตรวจประวัติอาชญากรรม
  • ใบรับรองแพทย์ จากโรงบาลรัฐบาล 

2.ตรวจสอบวุฒิการศีกษาและตรวจสอบประวัติอาชญากรรม

สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบวุฒิการศึกษาและการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ผู้ที่ยื่นตรวจสอบคือสถาบันการศึกษา หรือ เอเจนซี่จัดหาครูต่างชาติ ซึ่งในขั้นตอนนี้ทาง ABS-Teaching เป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด

3.ยื่นเรื่องกับทางสช./สพป./สช.จังหวัด

การยื่นเรื่องกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การยื่นเรื่องเพื่อให้ชาวต่างชาติขอรับการตรวจและลงตราวีซ่าประเภท Non-Immigrant B โดยสถานศึกษาในกรุงเทพให้ยื่นเรื่องที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ส่วนต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด โดยเอกสารประกอบการยื่นเรื่องมีดังนี้

  • สัญญาจ้างฉบับจริงระหว่างโรงเรียนกับชาวต่างประเทศ  กำหนดวันที่จ้างล่วงหน้าขั้นต่ำ 1 เดือน  ประทับตราโรงเรียน
  • หนังสือของสถานศึกษา ระบุหน่วยงานที่ขอรับการตรวจลงตรา รหัส B  คือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง/ สถานเอกอัครราชทูต(ระบุเมืองและ ประเทศ)/สถานกงสุลใหญ่ (ระบุเมืองและประเทศ)/สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ 
    (ระบุเมืองและประเทศ)
  • ตารางแสดงจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษาของสถานศึกษา
  • หนังสือเดินทางทั้งฉบับจริงและสำเนา 
  • วุฒิการศึกษา  จำนวน 1 ชุด พร้อมวุฒิการศึกษาทั้งฉบับจริงและสำเนา
  • หนังสือรับรองจากสถานทูต 
  • ผลการทดสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ (ยกเว้นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติ)
  • สำเนาเอกสารการรับรองประวัติอาชญากรรม
  • สำเนาใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนหรือการอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงกิจการฯ และ สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้อำนวยการ
  • ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐบาล

4.ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนประเภทวีซ่าเป็นประเภท  Non-Immigrant (รหัส B)

การยื่นเรื่องขอวีซ่าเป็นประเภท Non-Immigrant (รหัส B) เป็นขั้นตอนหลังจากยื่นเอกสารและได้รับการออกเอกสารจากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ในขั้นตอนนี้ครูผู้สอน (ชาวต่างชาติ) ต้องเป็นผู้ยื่นเองที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

5.ทางโรงเรียนจัดทำหนังสือแต่งตั้งครูชาวต่างประเทศ

เมื่อเปลี่ยนวีซ่าเป็นประเภทNon-Immigrant (รหัส B) ลำดับต่อมาคือ สถาบันศึกษาจัดทำหนังสือแต่งตั้งครูต่างชาติ ทั้งนี้ก่อนการทำหนังสือแต่งตั้ง ครูที่ได้รับการแต่งตั้งต้องยื่นขอใบประกอบวิชาชีพครูที่คุรุสภาก่อนจึงจะสามารถแต่งตั้งได้ หรือในกรณีฉุกเฉินสามารถยื่นขอผ่อนผันใบประกอบวิชาชีพครูเพื่อแต่งตั้งก่อนได้ 

6.ครูชาวต่างชาติยื่นขอใบอนุญาตทำงานที่ กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

หลังจากได้หนังสือแต่งตั้งจากสถานศึกษาแล้ว ให้ครูต่างชาตินำเอกสารไปยื่นขอใบอนุญาตทำงาน (Work permit) ที่กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยเอกสารที่ใช้ยื่นมีดังนี้

  • สำเนาหนังสือแต่งตั้งครูหรือผู้สอน 
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบผ่อนผันใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
  • สำเนาใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน ใบอนุญาตให้เป็นครูใหญ่ 
  • เอกสารแสดงวุฒิการศึกษา เอกสารแสดงผลการศึกษารายวิชา และเอกสารแสดงประสบการณ์การเป็นครู

7.รายงานการแต่งตั้งครูชาวต่างประเทศไปยัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน /สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา

เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นแล้ว ให้ทางสถาบันการศึกษารายงานการแต่งตั้งครูชาวต่างประเทศไปยัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา โดยแนบเอกสารต่อไปนี้ 

  • หนังสือนำของโรงเรียน
  • ตารางรายงานการแต่งตั้งครูชาวต่างชาติ
  • หนังสือแต่งตั้งครูชาวต่างชาติ
  • สัญญาจ้างครูต่างชาติ
  • สำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) โดยต้องถ่ายสำเนาทุกหน้า
  • ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit)
  • สำเนาวุฒิการศึกษาและเอกสารแสดงผลการศึกษารายวิชา
  • ผลการทดสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ

สำหรับครูต่างชาติที่ยังอยากอยู่ประเทศไทยเพื่อทำงานต่อ แต่วีซ่าทำงานใกล้หมดอายุ จะต้องทำอย่างไร? Wonderful Package ขอแนะนำวิธีการต่ออายุวีซ่าง่ายๆ ให้ได้ทราบกัน

เมื่อชาวต่างชาติที่ทำงานเป็นครูผู้สอนมีความต้องการยื่นขออนุญาตอาศัยอยู่ต่อในประเทศไทย ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องอยู่เพื่อปฏิบัติงานในสถาบันการศึกษาของรัฐ หรือเอกชน

  • จะต้องดำเนินการต่ออายุวีซ่าทำงาน ประเภทบี กรณีเป็นครูผู้สอน (Non-B Visa /Teaching Purpose Extension)
  • การขอต่ออายุวีซ่าทำงานประเภทนี้ จะต้องมีใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) อยู่แล้ว
  • ควรยื่นขอต่อล่วงหน้าก่อนอายุวีซ่าหมดอย่างน้อย 30 วัน โดยจะขอขยายเวลาการพักอาศัยเพื่ออยู่ทำงานได้สูงสุด 1 ปี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ในระหว่างที่รอผลพิจารณาสามารถอาศัยอยู่ประเทศไทยไปพลางๆ ก่อนได้

หลักเกณฑ์การพิจารณาการต่ออายุ Non-B Visa กรณีเป็นครูต่างชาติ มีดังนี้

  • คนต่างด้าวต้องได้รับการตรวจลงตรา ประเภทคนอยู่ชั่วคราว
  • สถานศึกษานั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบ กิจการจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง (สำหรับหน่วยงานเอกชน)
  • ได้รับการรับรองและร้องขอจากสถานศึกษาของรัฐ (สำหรับหน่วยงานรัฐ)
  • กรณีบุคลากรทางการศึกษา ต้องมีคุณวุฒิหรือประสบการณ์ตรงกับหน้าที่ปฏิบัติและมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนครูหรืออาจารย์ของสถานศึกษานั้น

เอกสารสำหรับการยื่นขอต่ออายุ Non-B Visa มีอะไรบ้าง?

  • แบบฟอร์ม ตม.7
  • รูปถ่าย ขนาด 4X6 ซม. จำนวน 1 รูป
  • หนังสือเดินทาง อายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  • ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit)
  • วุฒิการศึกษา และผลการสอบ TOEIC (600) หรือ TOEFL (500) เฉพาะอาจารย์ชาวต่างชาติที่สอนภาษาอังกฤษ (กรณีที่ไม่ใช้เจ้าของภาษา)
  • หนังสือรับรองการทำงาน (ประสบการณ์การสอน)
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.91 และใบเสร็จรับเงิน
  • ใบประกอบวิชาชีพครู
  • หนังสือรับรองคนต่างด้าวเข้าทำงานตามแบบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (แบบ สตม.1)
  • แบบหนังสือรับรองการจ้าง (ตามแบบกรมการจัดหางาน) และสัญญาว่าจ้าง
  • หนังสือรับรองและร้องขอให้อยู่ต่อจากสถานศึกษานั้น และหนังสืออนุมัติจากหน่วยงานราชการแต่งตั้งครูให้ปฏิบัติหน้าที่
  • หนังสือจดทะเบียนของสถาบันการศึกษา และใบอนุญาตสถาบันการศึกษาหรือทะเบียนธุรกิจ
  • รายละเอียดเกี่ยวสถาบันการศึกษา
  • แผนที่สถาบันการศึกษา ภาพถ่ายขณะสอนหนังสือ ตารางสอนครูชาวต่างชาติ
  • แบบ สตม.2
  • กรณีมีครอบครัวติดตามมาอยู่ด้วย ให้แสดงหลักฐานครอบครัว

เกร็ดความรู้สำหรับครูต่างชาติในไทย

  • ในการขอต่ออายุวีซ่าทำงานครั้งแรก เจ้าหน้าที่จะอนุญาตวีซ่าให้ 30 วัน เพื่อรอการพิจารณาอนุมัติวีซ่าทำงานเป็นเวลา 1 ปี ดังนั้น เมื่อใกล้ครบกำหนดการอนุญาต 30 วัน ให้นำหนังสือเดินทางไปฟังผลการพิจารณาอีกครั้ง ถ้าผลการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วก็จะอนุญาตเป็นวีซ่า 1 ปี แต่หากผลการพิจารณายังไม่เสร็จก็จะต่อวีซ่าให้อีก 30 วัน จนกว่าผลการพิจารณาจะออกมา
  • หลังจากได้รับวีซ่าทำงานเรียบร้อยแล้ว ให้ยื่นแบบรายงานตัว (ตม.47) ทันที เพื่อขออยู่ในประเทศไทยทุก 90 วัน ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในเขตพื้นที่ที่ทำงาน หากยื่นล่าช้าจะถูกปรับวันละ 500 บาท (ยื่น 4 ครั้ง/ปี)
  • อาชีพครูต่างชาติ จะต้องมีใบอนุญาตในการทำงาน (Work Permit) คู่กับวีซ่าทำงาน (Non-B Visa) เท่านั้น จึงจะทำงานในประเทศไทยต่อได้
  • เมื่อมีความจำเป็นต้องออกจากประเทศด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ อย่าลืมที่จะยื่นขอ Re-Entry ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ เป็นการขอยื่นใบอนุญาตให้กลับเข้าประเทศไทยได้อีกครั้ง ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่ใกล้ที่สุดหรือที่สนามบินนานาชาติที่จะเดินทางออกนอกประเทศ หากไม่มี Re-Entry วีซ่าจะถูกยกเลิกอัตโนมัติหลังจากออกนอกประเทศ (ยกเว้นผู้ที่ถือ Multiple Entry อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำ)

การต่ออายุวีซ่าทำงาน กรณีเป็นครูต่างชาตินั้นไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่ถ้ามีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา ทาง Wonderful Package ยินดีพร้อมให้คำแนะนำ และทางเรามีทีมงานพร้อมให้บริการตลอดเวลา

อ้างอิง: Facebook Montree Yamkasikorn  ,ข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ พ.ศ. 2565กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ,สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง