’Newton‘ รร.นานาชาติ กลางสยามสแควร์ จากผู้ก่อตั้งเดียวกับ Enconcept

’Newton‘ รร.นานาชาติ กลางสยามสแควร์ จากผู้ก่อตั้งเดียวกับ Enconcept

เปิด 5 เรื่องน่าสนใจของ “นิวตัน” (Newton) โรงเรียนนานาชาติ ใจกลาง “สยามสแควร์” จากผู้ก่อตั้ง “Enconcept” สู่การออกแบบหลักสูตรให้เด็กค้นหาตนเอง ค่าเทอมเริ่มต้น 3 แสนบาท

รู้หรือไม่กลางสยาม มีโรงเรียนอินเตอร์ซ่อนตัวอยู่ ? กรุงเทพธุรกิจชวนทำความรู้จักกับ “นิวตัน” หรือ The Newton Sixth Form School โรงเรียนทางเลือก ที่เน้นสอนให้เด็กเป็นพลเมืองโลก ควบคู่ไปกับการค้นหาตนเอง โดย ธานินทร์ เอื้ออภิธร ผู้ก่อตั้ง “Enconcept” โรงเรียนกวดวิชาระดับตำนาน

 

1. โรงเรียนกลางสยาม

นิวตัน หรือ The Newton Sixth Form School ⁣เป็นโรงเรียนอินเตอร์เปิดสอนระดับป.1 - ม.6 ตั้งอยู่ชั้น 9 ของอาคาร SiamScape โครงการมิกซ์ยูสใจกลางเมืองย่านสยามสแควร์ อยู่ร่วมกับร้านอาหาร ร้านกาแฟ ธนาคาร สำนักงานต่าง ๆ 

โรงเรียนนี้ แบ่งชั้นเรียนออกเป็น 2 ส่วน คือ แคมปัสของเด็กระดับซีเนียร์ (ม.1 - 6) จะเรียนที่ชั้น 11 และ 15 ใน SiamScape ขณะที่กลุ่มจูเนียร์ (ป.1 - 6) จะเรียนที่ Siam Square ซอย 6 นอกจากนี้ยังมีที่พักในโรงแรม Novotel Bangkok, Siam Square 

ถึงจะอยู่ในห้าง แต่ก็มีสถานที่ให้เด็กนักเรียนได้ออกกำลังกายมีสนามกีฬาในร่มขนาดมาตรฐาน ห้องสมุดและพื้นที่ทำกิจกรรมสันทนาการ

2. หลักสูตรจากอังกฤษ

“Character Matters” เป็นคำขวัญของนิวตัน โดยในช่วงจูเนียร์ โรงเรียนจะมุ่งเน้นการสร้างนิสัยที่ดี การมีความรับผิดชอบตนเองในด้านการเรียน เมื่อถึงระดับซีเนียร์โรงเรียนจะมุ่งเน้นการตนหาตนเอง ด้วยระบบการศึกษา Sixth Form ของอังกฤษ⁣⁣ ซึ่งเป็นระดับชั้นมัธยมปลายของอังกฤษ​ เป็นการเพิ่ม Year 12 และ 13 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย หลังจากจบการศึกษาภาคบังคับที่ Fifth Form ในระดับชั้นมัธยม หรือ Year 11 

สำหรับ Sixth Form ของนิวตันแบ่งสายการเรียนออกเป็น 3 สายให้เด็กได้เลือกเรียน ได้แก่ สายแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ สายวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และเอไอ สายบริหารธุรกิจและมนุษยศาสตร์ โดยมีการสอนทักษะซอฟต์สกิล ทั้งการสื่อสาร ความเป็นผู้นำ และวิชาเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์

เน้นการเรียน 3 วิชา หลัก คือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ เพื่อตอบโจทย์การเรียนในอนาคตมากที่สุด⁣ พร้อมพัฒนาการเรียนรู้รายบุคคล ในราคาเล่าเรียนปีละ 300,000 บาท สำหรับระดับจูเนียร์ ส่วนซีเนียร์อยู่ที่ปีละ 350,000 บาท

 

3. ผู้ก่อตั้งโดยเจ้าของ Enconcept

นิวตันเป็นธุรกิจของบริษัท เดอะ นิวตัน จำกัด ซึ่งมี “ธานินทร์ เอื้ออภิธร” เป็นกรรมการบริษัท โดยธานินทร์ยังดำรงตำแหน่งซีอีโอของนิวตัน และเป็นผู้ก่อตั้งของสถาบันกวดวิชาชื่อ Enconcept ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนานเกือบ 30 ปี

เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รูปแบบการศึกษา และการมาของโควิด-19 Enconcept จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การศึกษาที่ยั่งยืน ด้วยการสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงระหว่างครูและศิษย์ ซึ่งจะทำให้เด็กเปิดใจรับครู ส่งผลให้การมาเรียนไม่น่าเบื่อ พร้อมมอบแนะนำให้แก่นักเรียนในทุกเรื่อง และสร้างอุปนิสัยให้นักเรียนเติบโตไปเป็นผู้นำที่ดีในแบบยุคสมัยใหม่ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของนิวตัน

4. มีครูใหญ่เป็นอดีตรมว. กระทรวงศึกษา

น.พ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาดำรงดำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนนิวตัน พร้อมตั้งคำถามว่า โรงเรียนจะส่งต่อการเรียนรู้อะไรให้แก่เด็ก ๆ บ้าง

“เรากำหนดว่าเด็กต้องมีฝัน แต่เรากลับไม่ได้สนับสนุนให้เด็กไปถึงฝันได้ดี สมมติว่าเด็กฝันจะเป็นหมอ มันจำเป็นต้องเรียนหนัก ๆ สอบหนัก ๆ ไหม ในเมื่ออังกฤษไม่ได้เรียนหนักขนาดนั้น เราจึงตัดวิชาที่ไม่สำคัญออกไป แล้วเพิ่มวิชาความเป็นมนุษย์เพิ่มเข้ามาแทน เพราะความเป็นคนไม่ได้มาจากการเข้าห้องเรียนหรือไปเรียนวิชาสังคม”  น.พ. ธีระเกียรติ ให้สัมภาษณ์กับ National Geographic

น.พ. ธีระเกียรติ กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกตั้งโรงเรียนกลางสยาม เพราะกลางเมืองเป็นจุดศูนย์กลางที่ทุกคนมารวมกันได้จากทั่วสารทิศ ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน จะต้องการแชร์สถานที่ใช้กับสาธารณชนทั่วไป เพื่อช่วยกำหนดวิธีคิดที่รับผิดชอบต่อสังคมให้กับเด็ก

 

5. ไม่มีสอบเข้า

นิวตันไม่มีสมัครสอบเพื่อเข้าเรียน แต่จะเป็นการสัมภาษณ์ตัวเด็กกับครูใหญ่และซีอีโอ ส่วนผู้ปกครองทุกคนต้องผ่านกิจกรรม Open House ต้องเข้าใจปรัชญาของโรงเรียน พร้อมให้ทดลองเรียนด้วย 

ความสำเร็จของนักเรียนของนิวตัน ไม่ใช่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา แต่คือการเป็นคนดีและส่งคืนให้กับสังคม เพราะ “เด็กที่นี่ต้องมีน้ำยาและมีน้ำใจ” ตามคำนิยามของครูใหญ่โรงเรียน

นิวตันจึงเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนทางเลือก ซึ่งไม่ว่าจะเลือกเรียนแบบใด สุดท้ายก็ต้องถามความเห็นของผู้เรียนด้วยเช่นกันว่า มีความสุขในการเรียนหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าระบบการศึกษาที่ดีขนาดไหน แต่ถ้าไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน ก็คงไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควรอยู่ดี


ที่มา: Longtun ManNational Geographic