เปิดมุมมองผู้ประกอบการ SME ไทยก้าวสู่ตลาดยักษ์ใหญ่ 3 แผ่นดิน

เปิดมุมมองผู้ประกอบการ SME ไทยก้าวสู่ตลาดยักษ์ใหญ่ 3 แผ่นดิน

สสว.จับมือ มข.เปิดมุมมองผู้ประกอบการ SME ไทย ผ่านกิจกรรม 'ก้าวให้ทันในวันที่ตลาดเปลี่ยน...กับเซียนยักษ์ใหญ่ 3 แผ่นดิน'  หวังยกระดับ สร้างโอกาสผู้ประกอบการ SME ไทย ก้าวสู่ตลาดจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานเสวนา 'ก้าวให้ทันในวันที่ตลาดเปลี่ยน...กับเซียนยักษ์ใหญ่ 3 แผ่นดิน' เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

โดยมี ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกล่องและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวเปิดงานว่า การจัดงานเสวนาในครั้งนี้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลของเครือข่ายพันธมิตรสากล ภายใต้กิจกรรมการศึกษาการจัดทำข้อมูลเครือข่ายผู้ให้บริการและรายละเอียดการให้บริการของต่างชาติ ซึ่งในปัจจุบัน สสว.ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ต่อผลกระทบทั้งทางด้านบวกและด้านลบที่จะเกิดขึ้นเมื่อก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ

“จากข้อมูลสถานการณ์ SME ของไทย พบว่า มีระดับการเข้าสู่สากลน้อยเกินไป ทั้งในแง่ของจำนวน SME ที่เป็นผู้ส่งออกและมูลค่าการส่งออก จึงมีความจำเป็นต้องส่งเสริมให้ SME ที่มีศักยภาพสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศให้ได้มากขึ้น เพื่อช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ” ดร.วิมลกานต์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

มข. จับมือ กรมประมง ดันนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพภาคประมงไทย

มข. หนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน หยิบทุนทางธรรมชาติ สร้างเงินล้าน

สสว.ลุยต่อ “SME ONE ID”ดึงผู้ประกอบการ-บิ๊กธุรกิจ-แบงก์ ร่วมฟื้นเศรษฐกิจ

สถานการณ์ SME ไตรมาส 3/2564 ดีขึ้นต่อเนื่อง ขยายตัว 0.2%

 

เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการ SME เติบโตในตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้  สสว. จึงเล็งเห็นความสำคัญในการดำเนินงานพัฒนาข้อมูลการตลาดต่างประเทศเชิงลึกที่จะช่วยสนับสนุน SME ในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ หรือเรียกว่า Market intelligence ที่ครบถ้วน เพื่อให้ SME มีข้อมูลด้านสภาพแวดล้อมทางการตลาดของประเทศคู่ค้าที่เพียงพอ และเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เช่น สภาพเศรษฐกิจ ข้อมูลด้านการตลาดเชิงลึก พฤติกรรมผู้บริโภค กฎระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน ขั้นตอนการส่งออก หน่วยงานสำคัญ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ SME วิเคราะห์ถึงแนวโน้มและการคาดการณ์ความต้องการของตลาดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น 

เปิดมุมมองผู้ประกอบการ SME ไทยก้าวสู่ตลาดยักษ์ใหญ่ 3 แผ่นดิน

ดร.วิมลกานต์  กล่าวต่อว่าการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลของเครือข่ายพันธมิตรสากล โดยที่นอกจากผู้ให้บริการ (Service Desk) จะมีหน้าที่หลักในการให้บริการผู้ประกอบการ SME แล้ว ผู้ให้บริการยังเป็นแหล่งข้อมูลการค้าการลงทุนในตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ได้ดี

เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์ตรงและประกอบกับมีความเชี่ยวชาญที่สามารถวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง และความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศได้เป็นอย่างดี รวมถึง เพิ่มศักยภาพของเครือข่ายผู้ให้บริการพันธมิตรสากลของไทย

 

4 ข้อจำกัดผู้ประกอบการ SME ไทย

ด้าน นายวรพจน์ ประสานพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนองค์ความรู้และระบบให้บริการ สสว. กล่าวว่า สสว.เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุน SME ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการปรับรูปแบบในการพัฒนาและให้บริการผู้ประกอบการ SME เพื่อลดข้อจำกัดที่ผู้ประกอบการ SME ต้องประสบพบเจอ ใน 4 ประเด็นหลักๆ คือ

1. เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารการให้บริการของภาครัฐ

2.ไม่มีเวลาในการเข้าไปใช้บริการ หรือร่วมพัฒนาตนเองจากบริการของภาครัฐ  

3.ขาดเรื่องของงบประมาณและแหล่งทุนในการดำเนินการ

4.ภาครัฐขาดการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ทำให้ผู้ประกอบการ SME ต้องลงทะเบียน หรือกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน

 ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องปรับตัวและให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการ SME เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ต้องการความช่วยเหลือ

“ภาครัฐได้มีการออก พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ 2565 เพื่อก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล  ทำให้ทุกหน่วยงานของรัฐต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น ฉะนั้น ตอนนี้ ผู้ประกอบการ SME สามารถติดต่อหน่วยงานภาครัฐได้ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์” นายวรพจน์ กล่าว

สสว.พัฒนาระบบ SMEOne ID เข้าถึงการบริการภาครัฐ

ขณะเดียวกัน ทาง สสว.ได้มีการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียน SME One ID หรือ หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ เป็นเสมือนการทำบัตรประชาชนให้แก่ผู้ประกอบการ SME เพื่ออำนวยความสะดวกและเกิดระบบติดตามผลการส่งเสริม SME ของประเทศ

ทั้งนี้ SME One ID  จะมีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SME  เริ่มจากขั้นตอนการยืนยันตัวตน ขั้นตอนการกรองข้อมูลธุรกิจ ผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ แอปพลิเคชั่น SME CONNEXT ,เว็บไซต์ https://bizportal.go.th  ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของภาครัฐ และแอปพลิเคชั่น ‘ทางรัฐ’ โดยปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEจะลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของทางภาครัฐ จำนวนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากขึ้นทะเบียนระบบ SME One ID เรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการจะสามารถใช้บริการเชื่อมต่อกับหน่วยงานที่ให้บริการกับ SME อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ที่ผู้ประกอบการ SME One ID   ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องขอรับการตรวจสอบ

โดยที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายย่อยจะประสบปัญหาในการกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มขอรับบริการ ดังนั้น การบริการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการ SME ดำเนินการได้เร็วขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงงานบริการทั้งหมดของภาครัฐ โดยเฉพาะ สสว.ที่ได้มีการดำเนินการเข้าสู่ระบบดิจิทัลและสามารถเข้าได้ 24 ชั่วโมง  

“การพัฒนาระบบของ สสว.เพื่อดำเนินการแก้ข้อจำกัดของผู้ประกอบการ SME และเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการในมิติต่างๆ  อาทิ แหล่งรวบรวมบริการของภาครัฐจากทุกหน่วยงาน และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ SME  ,บทสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จและข้อมูลหน่วยให้บริการผู้ประกอบการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภายใต้แนวคิด ทุกเรื่องครบ จบที่เดียว  ดำเนินการมาเพื่อให้ผู้ประกบการ เข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา”  นายวรพจน์ กล่าว

เปิดมุมมองผู้ประกอบการ SME ไทยก้าวสู่ตลาดยักษ์ใหญ่ 3 แผ่นดิน

นอกจากนั้น ยังมีศูนย์บริการ และระบบการเรียนรู้ออนไลน์  (SME Academy 365) ที่รวบรวมหลักสูตรและความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการ SME  เพื่อผู้ประกอบการได้มีความรู้ เนื่องจากการทำธุรกิจในปัจจุบันยากมากขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยรูปแบบสามารถใช้ได้ง่าย

อีกทั้ง มี SME Coach  ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่สามารถให้คำแนะนำผู้ประกอบการ MSME เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนาตนเอง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และการแก้ไขปัญหาทางธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยมีทั้งรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ได้          

นายวรพจน์ กล่าวต่อไปว่า SME CONNEXT เป็นเสมือนหน้าบ้านของสสว. โดยฟังก์ชั่นหลักๆ จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสารทันที และสามารถติดต่อแบบ Two way  ,Chatbot รวมถึงการขึ้นทะเบียนร้านค้า และมีระบบ BDS การช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกมิติ สร้างแต้มต่อให้หน่วยงานภาครัฐ มีการจัดซื้อจัดจ้าง กับผู้ประกอบการ SME มากขึ้น (Thai SME-GP) ซึ่ง สสว.พยายามทำระบบในการส่งต่อกระตุ้นให้ SME ทุกท่านมาลงทะเบียน กับทาง สสว. เพื่อได้รับการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการ SME ไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจทั้งในและต่างประเทศได้

เปิดมุมมองผู้ประกอบการ SME ไทยก้าวสู่ตลาดยักษ์ใหญ่ 3 แผ่นดิน

นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการจัดบรรยายจากวิทยากรระดับโลก อย่าง Mr.Ahmad Rama Aji Nasution  Minister Counsellor , Economic Affairs and UN-ESCAP Embassy of the Republic of Indonesia หัวข้อ 'คว้าหัวใจยักษ์ใหญ่ของอาเซียน:โอกาสในตลาดอินโดนีเซีย' ซึ่งได้มีการพูดถึงตลาดของอินโดนีเซีย ที่เป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SME ไทย

โดยกลุ่มผู้บริโภคของอินโดนีเซียในขณะนี้จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มวัยทำงานที่ให้ความสนใจและนิยมสินค้าของไทยในเรื่องของการท่องเที่ยว อาหารและเครื่องดื่มของไทย ซึ่งหากผู้ประกอบการ SME ไทยอยากเข้าสู่ตลาดของอินโดนีเซีย ควรจะไปดำเนินธุรกิจในกลุ่มนี้ ขณะเดียวกัน อย่ามองเพียงเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย แต่ขอให้มองเมืองต่างๆ ที่มีผู้คนจำนวนมากร่วมด้วย

รวมทั้งยังมีการเสวนาจาก ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม CEO, Thailand -Business Centre, President of Digital Business Associate (Thailand) หัวข้อ 'ไขความลับ ฉบับ E-Commerce  ปั้นสินค้าไทยไปตลาดจีน' ต่อด้วย Mr.Ravi Sehgal Vice President of Joint Foreign Chamber of Commerce in

Thailand & Former President of Indian-Thai Chamber of Commerce ในหัวข้อ 'ศิลปะแห่งการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในตลาดอินเดีย' และ Mr. Hardy Chandra Secretary General of Indonesia-Thai Chamber of Commerce  Vice Chairman of Indonesian Chamber of Commerce and Industry (KADIN) ในหัวข้อ 'สร้างแต้มต่อธุรกิจ..พิชิตตลาดอินโด' พร้อมแนะแนวทางช่องทางการค้าการลงทุนในแต่ละประเทศ

ภายใต้กิจกรรมดังกล่าว จะมีการจัดงานเสวนาอีกจำนวน 2 ครั้ง ในวันอังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00-16.00 น.  ณ ห้องกมลมาศ ชั้น 6 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ และวันพฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00-16.00 น.  ณ ห้อง Glowfish event space ชั้น 2 โรงแรม Ad Lib Khon Kaen (ขอนแก่น) ต่อไป