โรงเรียนกำเนิดวิทย์ แหล่งบ่มเพาะนักวิทย์รุ่นเยาว์ สู่กำลังสำคัญของชาติในอนาคต

โรงเรียนกำเนิดวิทย์ แหล่งบ่มเพาะนักวิทย์รุ่นเยาว์ สู่กำลังสำคัญของชาติในอนาคต

เมื่อโลกปัจจุบันมี "เทคโนโลยี" เป็นหัวใจสำคัญที่แทรกซึมอยู่ในทุกรายละเอียดของชีวิต การแข่งขันทางเศรษฐกิจจึงย่อมขาดไม่ได้ที่จะต้องมี "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" เป็นหนึ่งในสาขาการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดแข่งขันให้กับประเทศ

ขณะที่ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยเรายังค่อนข้างขาดแคลนบุคลากรด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามยกระดับการศึกษาไทยผ่านแนวคิด STEM ซึ่งหมายถึง วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) มาแล้วหลายปี แต่ก็ยังมีข้อท้าทายเรื่องความพร้อมทั้งเรื่อง "หลักสูตรการเรียนการสอน ผู้สอน" และที่สำคัญคือ "ผู้เรียน" ที่จะต้องดำเนินอย่างคู่ขนานไปพร้อมกันในทุกมิติ

"โรงเรียนกำเนิดวิทย์" ถือเป็นโมเดลตัวอย่างที่พิสูจน์แล้วว่า เมื่อทั้งสามมิติมาบรรจบกัน ความสำเร็จก็อยู่ตรงหน้า

จุดเริ่มต้นโรงเรียนกำเนิดวิทย์

โรงเรียนกำเนิดวิทย์ เป็นโรงเรียนประจำ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 โดยคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการจัดการเรียนการสอน โดย กลุ่ม ปตท. สนับสนุนทุนการศึกษาทั้งหมด เพื่อหวังที่จะพัฒนาบุคลากรคุณภาพดีเลิศสามารถศึกษาต่อทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของโลกจนถึงระดับปริญญาเอกและหลังปริญญาเอกได้

ภารกิจหลักของกำเนิดวิทย์คือ การสรรหานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้าน STEM มาบ่มเพาะพัฒนาให้เป็นคนดีคนเก่ง มีคุณภาพดีเลิศในทุกด้าน เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ และนักนวัตกรรมชั้นนำของประเทศในอนาคต สามารถทำงานร่วมและแข่งขันกับนานาชาติได้ สามารถสร้างองค์ความรู้ ประดิษฐ์คิดค้น และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ให้กับสังคมไทยและประเทศชาติ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไทย ลดการพึ่งพาองค์ความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากต่างชาติ ช่วยพัฒนาประเทศชาติให้สามารถดำรงอยู่และแข่งขันได้ในประชาคมโลก

หัวใจสำคัญคือ หลักสูตร

จากวัตถุประสงค์การก่อตั้ง โรงเรียนกำเนิดวิทย์ ตามที่ระบุข้างต้น เพื่อให้บรรลุผลตามอุดมการณ์และเป้าหมายตามที่ผู้ก่อตั้งได้กำหนดไว้ โรงเรียนจึงได้ออกแบบหลักสูตรจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนขึ้นเป็นการเฉพาะ

ที่สำคัญคือ การจัดหลักสูตรแบบ "วัดตัวตัด" (Customized Curriculum) ให้ครูผู้สอนสังเกต และดูแลนักเรียนเป็น "รายบุคคล" ส่งเสริมให้ครูถามคำถามให้งานให้การบ้าน กับนักเรียนแต่ละคนตามความถนัด ความสนใจที่แตกต่างกัน

ดังนั้น นักเรียนที่โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จะได้เรียนรู้ต่างกันไปตามความถนัดและความสนใจของตนเอง แม้ว่าจะเรียนห้องเดียวกัน รายวิชาเดียวกัน ก็อาจได้รับคำถาม งาน และการบ้านจากครูที่แตกต่างกันได้

นอกจากนั้น ยังมีวิชาเลือกเสรีด้าน STEM และด้านสังคมศาสตร์ ให้นักเรียนได้เลือกเรียนตามความต้องการ ความอยากรู้ ความถนัดและความสนใจของนักเรียน และเพื่อพัฒนาให้นักเรียนเป็นผู้รู้รอบและรอบรู้ (Well-rounded Person) อีกด้วย

เรียนแล้ว ต้องได้ทำจริง

นอกจากหลักสูตรที่ออกแบบเฉพาะสำหรับผู้เรียนแต่ละคนแล้ว การจะเข้าใจและต่อยอดได้อย่างลึกซึ้ง ผู้เรียนต้องได้ปฏิบัติจริง ดังนั้น ที่โรงเรียนกำเนิดวิทย์จึงให้ความสำคัญกับ "การเรียนจากการปฏิบัติจริง" (Hand-on Learning) โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก กลุ่ม ปตท. ในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการอย่างดีเยี่ยม ทั้งห้องปฏิบัติการวิชาเคมี วิชาชีววิทยา วิชาฟิสิกส์ วิชาพื้นฐานวิศวกรรม ห้องปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์และไมโครคอนโทรลเลอร์ ห้องเครื่องมือรวมสำหรับการทำงานวิจัย ห้องปฏิบัติการศิลปะ ห้องปฏิบัติการนาฏศิลป์และดนตรี ทำให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Hand-on Learning ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

พร้อมกันนี้ ยังให้ความสำคัญเรื่องการจัดการเรียนรู้ "นอกห้องเรียน" และ "นอกโรงเรียน" โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก สถาบันวิทยสิริเมธี ศูนย์วิจัยของ กลุ่ม ปตท. รวมถึงหน่วยงาน และสถาบันอุดมศึกษาอีกจำนวนมาก ที่อนุญาตให้นักเรียนได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ไปใช้ห้องปฏิบัติการ ไปฝึกงาน รวมถึงการให้ความอนุเคราะห์อนุญาตให้บุคลากรจากหน่วยงานดังกล่าวมาเป็นที่ปรึกษาในการทำงานวิจัยของนักเรียน

ต่อยอด บ่มเพาะนักวิจัยรุ่นเยาว์

เนื่องจากหัวใจของหลักสูตรการเรียนการสอนที่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ คือ มุ่งเน้นการปลูกฝังให้นักเรียนตระหนักเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการทำงานวิจัย มีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อเพื่อประกอบ "อาชีพ" เป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ และนวัตกรต่อไปในอนาคต

ดังนั้น ก่อนจบการศึกษาโรงเรียนจึงได้กำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องทำงานวิจัยและนำเสนอผลงานวิจัยในเวทีต่างๆ อย่างน้อย 1 เรื่อง และเพื่อให้เกิดแนวคิดในการทำงานวิจัย ยังได้กำหนดให้นักเรียนต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชา ได้แก่ วิชาธรรมชาติและการสืบเสาะอย่างวิทยาศาสตร์ วิชาสัมมนาทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ 1 และ 2

ในแต่ละปี โรงเรียนกำเนิดวิทย์รับนักเรียนเพียง 72 คน (ห้องละ 18 คน) มีจำนวนงานวิจัยที่นักเรียนแต่ละรุ่นได้ทำมาแล้วมากมาย โดยโรงเรียนได้จัดงาน "KVIS Invitational Science Fair" ขึ้นทุกปี เพื่อให้นักเรียนได้เสนอผลงานวิจัยของตนเองร่วมกับนักเรียนจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์ชั้นนำของนานาชาติ โดยใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด และนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน ซึ่งเป็นกลวิธีหนึ่งในการฝึกการจัดงานระดับนานาชาติให้กับนักเรียน ซึ่งปรากฎว่านักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้อย่างดีเยี่ยม มีความสามารถในการวางแผน ปฏิบัติงานตามแผน ติดตามประเมินผล และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดีเยี่ยม

โชว์เคสสุดเจ๋ง ผลงานเด็กมัธยมกำเนิดวิทย์

สำหรับตัวอย่างผลงานนวัตกรรม หรือโปรเจกต์ที่โดดเด่นในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถคว้ารางวัลระดับชาติ และระดับนานาชาติมาแล้ว มีดังนี้

1. งานเรื่องเซนเซอร์ตรวจจับไฟป่าด้วยปัญญาประดิษฐ์

จากแนวคิดที่จะประดิษฐ์เซนเซอร์ตรวจจับไฟป่าแบบไร้สายและระบบวิเคราะห์การเกิดไฟป่าเพื่อให้หน่วยงานควบคุมไฟป่าสามารถรับรู้การเกิดของไฟป่าได้อย่างรวดเร็วเพื่อลดความเสียหายต่อระบบนิเวศให้ได้มากที่สุด

สมาชิกในทีม : นายรชต รัตนกิจ ม.6/1, นายอนุศาสน์ เอื้องอุดมสิน ม.6/2, นายกิตติพศ ตันตระกูล ม.6/2

2. ผลงานเรื่อง SAFFAS

"SAFFAS" เป็นนวัตกรรมแพ็กเกจบรรจุภัณฑ์จากสารสกัดจากดอกคำฝอยที่มีคุณสมบัติการปลดปล่อยสารในกลุ่ม Phenolic compound ที่สามารถต้านแบคทีเรีย (antimicrobial) และต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง และเนื้อสัตว์ ทั้งยังจะช่วยเป็นทางออกให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบให้สามารถเปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทนอย่างดอกคำฝอยทดแทนได้

สมาชิกในทีม : นายธีรดณย์ ศักดิ์เพชร ม.6/4, นายศุภณัฏฐ อนันตชัยโสภณ ม.6/4, นายณภัทร แป้นเนียม ม.6/3, นายฆนัท บุญจง ม.6/3, นายพัณณ์เดชน์ สร้อยสมุทร ม.6/4

3. การพัฒนาเครื่องแยกเศษอาหาร และการสร้างผลิตภัณฑ์ น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักชีวภาพ และถ่านเชื้อเพลิงอัดแท่งจากเศษอาหารที่ผ่านการแยก

ขยะอาหารเป็นปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องแยกเศษอาหาร โดยใช้ดอกธูปฤาษีเป็นตัวกรองน้ำมัน และนำเศษอาหารจาก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ มาผ่านเครื่องแยกเศษอาหารได้ออกเป็นทั้งหมด 3 ส่วน คือ เศษอาหารแห้งนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำที่ผ่านการกรองนำไปทำน้ำหมักชีวภาพ และดอกธูปฤาษีที่กรองน้ำมันแล้วนำไปทำเป็นถ่านเชื้อเพลิงอัดแท่ง

สมาชิกในทีม : นางสาวธนัญชนก ทีฆรัตนมงคล ม.5/3, นางสาวบงกชมาศ ตันกุล ม.5/2