อุดหนุน “ค่าอาหารกลางวัน” สำหรับเด็ก ช่วยลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือ?

อุดหนุน “ค่าอาหารกลางวัน” สำหรับเด็ก ช่วยลดความเหลื่อมล้ำจริงหรือ?

หากกล่าวถึงการปรับ “ค่าอาหารกลางวัน” สำหรับนักเรียนในโรงเรียนของภาครัฐ ต้องบอกว่าในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  มีการปรับค่าอาหารกลางวัน 2 รอบ

โดยรอบแรกสมัยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) โดยในขณะนี้ได้มีการปรับค่าอาหารกลางวันนักเรียนอนุบาล 1 – ประถมศึกษาปีที่ 6 อีกคนละ 1 บาท จากเดิม 20 บาทต่อคนต่อวัน เป็น 21 บาทต่อคนต่อวัน ในปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป

ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวัน

รอบสอง สมัยรมว.ตรีนุช เทียนทอง มีการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนระดับชั้นเด็กเล็กถึงชั้น ป.6 ในอัตราตามขนาดของโรงเรียนครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 1-40 คน มีจำนวน 16,691 แห่ง จำนวนนักเรียน 403,768 คน จะได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน 36 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 15 บาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 71.43%

กลุ่มที่สอง โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 41-100 คน จำนวน 17,437 แห่ง จำนวนนักเรียน 1,126,246 คน ได้รับ 27 บาทต่อคนต่อวัน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 28.57%

กลุ่มที่สาม โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 101-120 คน มีจำนวน 1,970 แห่ง ได้รับ 24 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 14.29%

กลุ่มสุดท้าย โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 121 คนขึ้นไป มีจำนวน 15,539 แห่ง จำนวนนักเรียน 4,147,557 คน ได้รับค่าอาหารกลางวัน 22 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 4.76%

ทั้งนี้ การปรับค่าอาหารกลางวัน เป็นการดำเนินการเพื่อให้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายและวัตถุดิบในการประกอบอาหารมีราคาสูงขึ้น โดยการจัดอาหารให้กับนักเรียนในแต่ละมื้อต้องคำนึงถึงคุณค่าตามหลักโภชนาการ 5 หมู่ที่นักเรียนควรได้รับ และในปริมาณที่เหมาะสม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ปรับใหม่ ครม.เพิ่ม ค่าอาหารกลางวันนักเรียน เด็กเล็ก - ป.6 เช็กเลยได้เท่าไหร่

ค่า 'อาหารกลางวัน' ของ 'นักเรียน' เพิ่ม 1 บาท ไม่ช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำ?

ครม.ยังไม่เคาะเพิ่มค่าอาหารกลางวันนักเรียน ศธ.รอหารือสำนักงบฯอีกรอบ

 

แก้ปัญหารร.ขนาดเล็ก เด็กได้รับอาหารคุณภาพ

“การปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันเป็นอัตราตามขนาดของโรงเรียน นอกจากจะส่งผลให้นักเรียนทุกคนได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ถูกต้องตามหลักโภชนาการแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉพาะได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปัจจุบันมีโรงเรียนขนาดเล็กทุกสังกัดรวมจำนวน 36,098 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 63.90 ของโรงเรียนทั้งหมดที่รับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันนักเรียน ซึ่งมีอยู่จำนวน 51,637 โรงเรียน” น.ส.ตรีนุช กล่าว

ปัจจุบัน โรงเรียนขนาดเล็กต้องมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการบริหารจัดการประกอบอาหารกลางวัน เช่น ค่าจ้างแม่ครัว ค่าอุปกรณ์ ฯลฯ ที่เป็นต้นทุนคงที่ สูงมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่

การปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันในอัตราตามขนาดโรงเรียนครั้งนี้ จะช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถบริหารจัดการและจัดหาอาหารกลางวันให้กับน้องๆ ได้เป็นอย่างดีและเหมาะสม รวมถึงครบถ้วนตามหลักโภชนาการ 5 หมู่ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กๆ สามารถสร้างการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีมีประสิทธิภาพ

 

50,000 กว่าโรงได้รับการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวัน

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันเป็นอัตราตามขนาดของโรงเรียนดังกล่าว จะเริ่มใช้ในการจัดทำแผนงบประมาณปี 2567 โดยจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 28,365,864,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดในอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน เป็นเงิน 3,533,280,000 บาท

ทั้งนี้ ครม.ยังมีมติเพิ่มเติมว่า สำหรับปีงบประมาณ 2566 ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจียดจ่ายงบประมาณที่มีมาเป็นค่าอาหารกลางวันตามอัตราใหม่ หากไม่เพียงพอให้ขอรับการสนับสนุนตามระเบียบสำนักงบประมาณ ทาง ศธ. จะหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางให้นักเรียนได้รับค่าอาหารกลางวันตามอัตราใหม่ โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ โรงเรียนที่ได้รับเพิ่มอัตราค่าอาหารกลางวัน จำนวน 51,637 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

โรงเรียนสังกัดกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดเมืองพัทยา

ทำไมต้องอุดหนุน "ค่าอาหารกลางวัน" 

โครงการอาหารกลางวัน เป็นโครงการที่เกิดจากความตระหนักของรัฐบาล ที่มุ่งแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ซึ่งพบว่านักเรียนประถมศึกษา จำนวนมากขาดแคลนอาหารกลางวันหรือมีอาหารกลางวันแต่ปริมาณไม่เพียงพอ หรืออาหารมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ ทำให้ภาวะการจริญเติบโต ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข

โครงการอาหารกลางวันเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2495 กระทรวงศึกษาธิการได้ทดลองจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในสังกัด ซึ่งพบว่า โรงเรียนขาดงบประมาณในการดำเนินงาน ทำให้ไม่สามารถ จัดอาหารกลางวันให้นักเรียนขาดแคลนได้อย่างทั่วถึง

ในปี พ.ศ. 2530 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการอาหารกลางวัน จึงกำหนดนโยบาย ให้โรงเรียนดำเนินโครงการอาหารกลางวันทุกโรงเรียน ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ภายใต้คำขวัญ 60 พรรษามหาราชา เด็กประถมศึกษาไม่หิวโหย

ต่อมา ในช่วงปลายปีงบประมาณ 2534 รัฐบาลเร่งรัดช่วยเหลือเด็ก ในระดับประถมศึกษาที่มีภาวะทุพโภชนาการ และขาดแคลนอาหารกลางวัน กำหนดให้มีกฎหมาย พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535

จัดตั้งกองทุนฯอาหารกลางวันลดความเหลื่อมล้ำ

สาระสำคัญคือ จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา วงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่าย สำหรับการสนับสนุนและช่วยเหลือภาวะโภชนาการของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา การประชาสัมพันธ์ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็ก และลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

ในปี พ.ศ. 2542 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของอาหาร ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการแต่ลำพังได้ ส่งผลกระทบต่อนักเรียนขาดแคลน อีกจำนวนหนึ่งยังไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน

คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2542 ให้ถือว่าการส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนได้รับประทาน อาหารกลางวันอิ่มทุกวันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเห็นชอบไห้มีความร่วมมือ ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนได้รับประทานอาหารอิ่มทุกวัน ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และทุกกระทรวง ทบวง กรม ให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการ

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2544 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ถ่ายโอนงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ไปให้กระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดตั้ง และจัดสรรงบประมาณเอง มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 จนถึงปัจจุบัน