ไขข้อสงสัย “วัคซีนmRNA" ฉีดให้เด็ก อันตรายหรือไม่ ตัดสินใจอย่างไร

ไขข้อสงสัย “วัคซีนmRNA" ฉีดให้เด็ก อันตรายหรือไม่ ตัดสินใจอย่างไร

"วัคซีนโควิดสำหรับเด็ก"ทำไมต้องเป็นวัคซีน mRNAหรือ"วัคซีนไฟเซอร์" และควรฉีดกี่เข็ม โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว เรื่องนี้ผู้ปกครองควรรู้อะไรบ้าง ลองอ่านคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อีกความสงสัยในเรื่องความปลอดภัยของการรับวัคซีนโควิด19 ในกลุ่มเยาวชนวัย 12 - 18 ปี ที่กำลังทยอยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA  อยู่ในขณะนี้

และเพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ปกครองและเยาวชนที่กำลังลังเลในการเข้ารับวัคซีน mRNA เราได้นำเสนอข้อมูลหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในกลุ่มเยาวชนอายุ 12 - 18 ปี

จากกิจกรรมเสวนาออนไลน์ “One Health in the Virtual Park” ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (THOHUN) ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อแบ่งปันข้อมูลในหัวข้อ “วัคซีน mRNA ในเด็ก ดีจริงไหม อันตรายหรือไม่ ตัดสินใจยังไงดี?”

วัคซีนเด็ก ทำไมต้องวัคซีนไฟเซอร์

ทำไมเยาวชนวัย 12 - 18 ปี จึงต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ชนิด mRNA ของไฟเซอร์ แทนที่จะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) อย่างซิโนแวค หรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (recombinant viral vector vaccine) อย่างแอสตร้าเซนเนก้า เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้สูงอายุ

อ่านข่าว : ผบ.ทร. จัดกำลังพล "บิ๊กคลีนนิ่ง" โรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบรับเปิดเทอม

ไขข้อสงสัย “วัคซีนmRNA\" ฉีดให้เด็ก อันตรายหรือไม่ ตัดสินใจอย่างไร

(นักวิชาการยืนยัน มีข้อมูลที่ทำให้ใช้วัคซีน mRNA ในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ส่วนการฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ ในเด็ก ยังต้องรอ)

ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ กุมารแพทย์จากภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “วัคซีน mRNA ได้มีการใช้ฉีดให้กลุ่มเด็กวัยรุ่นในทุกทวีปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา ละตินอเมริกา ยุโรป หรือในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์แล้ว

ดังนั้นเราจะพบว่ามีข้อมูลมากเพียงพอต่อการตัดสินใจให้ใช้วัคซีน mRNA ในกลุ่มเด็กวัยรุ่น ส่วนการฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ ในเด็ก ยังต้องรอต้องมีผลวิจัยและมีข้อมูลที่ชัดเจนมารองรับเสียก่อน”

โดยขณะนี้ ในประเทศไทยมีเพียงวัคซีนชนิด mRNA เท่านั้น ที่ได้รับอนุมัติจาก อย. ให้สามารถใช้ในเด็กอายุ 12-17 ปีได้ และสาเหตุที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด 19 ชนิดอื่น ๆ  นอกจากวัคซีนชนิด mRNA ให้ใช้กับเด็กอายุระหว่าง 12 - 17 ปี เป็นเพราะว่ายังไม่มีผลการวิจัย และหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนมากเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์ในกลุ่มเด็กวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกา พบว่าเด็กที่ต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการของโรคโควิด 19 รุนแรง ล้วนเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการรับวัคซีน mRNA ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด 19 และการเกิดอาการป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้ด้วย

วัคซีน mRNA กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจ

แม้จะมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่าง ๆ ออกมายืนยันว่าวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้มากกว่าวัคซีนชนิดอื่น ๆ

แต่ก็มีข้อมูลหลายกระแสเกี่ยวกับอาการข้างเคียงรุนแรงของผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ โดยมีบางรายที่พบว่าเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กและผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย เกิดความลังเลที่จะพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีน mRNA ที่ถูกจัดสรรให้

ไขข้อสงสัย “วัคซีนmRNA\" ฉีดให้เด็ก อันตรายหรือไม่ ตัดสินใจอย่างไร

ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบได้

โดยมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 450 ใน 1,000,000 ราย ซึ่งนับเป็นอัตราที่มากกว่าการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่สูงกว่า ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน mRNA ถึง 9 เท่า

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เกิดจากวัคซีน mRNA สามารถสังเกตได้ โดยมักจะเกิดหลังจากที่รับวัคซีนโดสที่สองไปแล้ว 3 - 7 วัน และมักมีอาการในเพศชายมากกว่า

แม้จะมีโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นจริง แต่ อ.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์และที่ปรึกษาด้านโรคหัวใจ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า "ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่หลังจากการรับวัคซีน mRNA นี้มีความรุนแรงน้อยกว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อโควิด 19

และมีอาการที่แตกต่างจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันในกลุ่มผู้ใหญ่ โดยจะมีอาการเจ็บหน้าอกและคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ และ 95 % ของผู้ป่วยจะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีอาการแล้วไม่รุนแรง หรือสามารถหายได้เอง”

แพทย์ทั้งสองเห็นสอดคล้องกันว่า ประโยชน์ของการรับวัคซีน mRNA ในกลุ่มเด็กอายุ 12 - 18 ปี ในเชิงการป้องกันการติดเชื้อ ลดอาการรุนแรงของโรค

และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 นั้นถือว่ามีมากกว่าอัตราการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง และเด็กที่กำลังจะเข้ารับวัคซีนควรพิจารณาให้รอบคอบ

วัคซีนในเด็กกับความปลอดภัย

สำหรับเยาวชนอายุ 12 - 18 ปีที่จะตัดสินใจรับวัคซีน mRNA ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีคำแนะนำว่า เด็กชายและหญิงอายุ 16 - 18 ปี ทุกราย รวมถึงเด็กชายและเด็กหญิงอายุ 12-16 ปี ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคโควิด 19 รุนแรงอาจถึงเสียชีวิต ควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 เข็ม

สำหรับเด็กหญิงอายุ 12 - 16 ปี ควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 เข็ม ส่วนเด็กชายอายุ 12 - 16 ปีให้ฉีดเพียงเข็มเดียวก่อน แล้วให้พิจารณาตามอาการว่าจะฉีดเข็มที่ 2 หรือไม่ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่พบความเสี่ยงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมากที่สุด

ในขณะเดียวกัน ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค และผู้เชี่ยวชาญในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ระบุว่า เด็กชายอายุ 12 - 16 ปี สามารถฉีดวัคซีน mRNA ทั้ง 2 เข็มได้

ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการฉีดวัคซีน mRNA ในเด็กไว้ว่า “ในประเทศไทย เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 เพราะจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้สูงกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ป่วยหรือมีโรคประจำตัว ควรรับวัคซีน 2 เข็ม เนื่องจากหากเด็กกลุ่มนี้ หากติดเชื้อโควิด 19 จะมีโอกาสเข้าโรงพยาบาลและมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กปกติทั่วไป เราจึงแนะนำให้เด็กกลุ่มนี้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2”