ยังต่ำมาก! หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนโควิด19ครบโดสแค่ 1.7 หมื่นราย

ยังต่ำมาก! หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนโควิด19ครบโดสแค่ 1.7 หมื่นราย

สธ.เผยหญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนโควิด19ครบโดสแล้วต่ำ เพียง 1.7 หมื่นราย ขณะที่อัตราหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด19เสียชีวิต 2 % เร่งรณรงค์ฉีด 1 แสนรายใน 1 เดือน

เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวระหว่างการเป็นประธานเปิดงานรณรงค์หญิงตั้งครรภ์เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 “ 1 เดือน 1 แสนราย” ว่า  หญิงตั้งครรภ์ เป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ต้องได้รับวัคซีนก่อนเป็นอันดับแรก ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากหากรับเชื้อ เสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิดอยู่ที่ประมาณ 2%  จึงถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องได้รับวัคซีนเร็วที่สุด 

อ่านข่าว : เหตุผลสำคัญ!หญิงตั้งครรภ์ฉีดโควิดวัคซีน ลดรุนแรง-ภูมิต้านทานส่งถึงทารก

นายสาธิต กล่าวอีกว่า  ข้อมูลจากฝ่ายวิชาการยืนยันชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนขึ้นไปไม่มีอันตราย ซึ่งแต่ละปีประเทศไทยมีหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 5 แสนคน ขณะนี้ฉีดวัคซีนยังไม่มากนัก จำเป็นต้องเร่งรณรงค์ให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดโดยเร็ว และครอบคลุมมากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าต้องฉีดให้ได้ถึง 1 แสนรายใน 1 เดือน  ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ปกติหญิงตั้งครรภ์ต้องไปฝากครรภ์ที่คลินิกฝากครรภ์อยู่แล้ว ก็จะมีการนำวัคซีนไปที่จุดคลินิกฝากครรภ์ เพื่ออำนวยความสะดวก  รวมไปถึงศูนย์บริการฉีดวัคซีน  บางจุดต้องลงทะเบียน แต่สำหรับกลุ่มเสี่ยง หรือหญิงตั้งครรภ์ หากจำนวนไม่มากก็ฉีดได้ทันที  

        เมื่อถามว่าพื้นที่ไหนต้องกังวลมากที่สุด นายสาธิต กล่าวว่า  เขตสุขภาพที่ 12 หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าที่อื่น มาจากปัจจัยวัฒธรรรม ความเชื่อทางศาสนา ซึ่งพื้นที่นี้มีการรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจเรื่องนี้ แต่ภาพรวมก็มีข้อจำกัดมาก อย่างแรกๆ หญิงตั้งครรภ์ก็กลัววัคซีน อยากได้คุณภาพสูงสุด และยังกังวลว่า จะมีผลต่อลูกที่เกิดมาหรือไม่ และยังมีปัญหาบางส่วนไม่ได้ฝากครร์ ขณะนี้เร่งให้รพ.สต.ทำความเข้าใจในพื้นที่ให้หญิงตั้งครรภ์เข้ามาในระบบ หรือไม่เข้ามาก็ต้องทำเชิงรุกไปฉีดให้ถึงที่ สิ่งสำคัญอยากให้เขาต้องรอ ต้องให้เขาเข้าถึงวัคซีนมากที่สุด

        ด้านนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึงปัจจุบันพบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อจำนวน 3,668 ราย เสียชีวิต 82 คน คิดเป็นกว่า 2%  และทารกแรกเกิดติดเชื้อจำนวน 180 ราย   ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิดในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันฉีดวัคซีนแล้วกว่า 7.3 หมื่นราย  เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 55,697 ราย  เข็มที่ 2  จำนวน 17,574 ราย และเข็มที่ 3 มี 197 ราย ถือว่าน้อยมาก ส่วนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่พบปัญหาอัตราการเสียชีวิต การเข้าถึงวัคซีน มาจากหลายปัจจัย ซึ่งโดยหลักงานอนามัยแม่และเด็กของพื้นที่ดังกล่าวเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นการทำงานค่อนข้างยาก ทั้งเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทำงานเชิงรุก สร้างความเข้าใจมาตลอด และขณะนี้ก็ยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคลินิกฝากครรภ์ หรือการขับเคลื่อนผ่านนโยบายสามหมอ เป็นต้น

         ทั้งนี้ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 จนถึงปัจจุบัน หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์และทารกแรกเกิด มีผู้ติดเชื้อสะสม 3,668 ราย เป็นชาวไทย 2,475 ราย และชาวต่างชาติ 1,193 ราย  โดยมารดาเสียชีวิตสะสม 82 ราย และทารก 37 ราย ขณะที่ 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 695 ราย  รองลงมา สมุทรสาคร 554 ราย  สมุทรปราการ 137 ราย  ตาก 133 ราย ปทุมธานี 128 ราย นราธิวาส 121 ราย  สงขลา 116 ราย  ยะลา 112 ราย  นครปฐม 90 ราย และพระนครศรีอยุธยา 88 ราย