เช็ค! อาการข้างเคียงหลังไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรไขว้-บูสเตอร์

เช็ค! อาการข้างเคียงหลังไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรไขว้-บูสเตอร์

กรมควบคุมโรค เผยเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์-อาการข้างเคียงวัคซีนโควิด-19 หลังไทยใช้วัคซีนสูตรไขว้ -วัคซีนบูสเตอร์  ฉีดสะสมแล้วกว่า 35 ล้านโดส เสียชีวิตจากวัคซีน 1 ราย

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า  ร้อยละของอาการที่พบหลังการได้รับวัคซีนโควิด19 แบบสลับชนิดหรือสูตรไขว้ ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ย.2564  การฉีดสลับซิโนแวคเข็ม 1 และแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 เป็นผู้ป่วยใน 289 ราย ไข้ 30.10% ปวดศีรษะ 22.84 %  อาเจียน 20.42 %  เวียนศีรษะ 20.07 % คลื่นไส้ 18.69 %  ผู้ป่วยนอก 502 ราย  ไข้ 22.91% ปวดศีรษะ 19.12 %  เวียนศีรษะ 17.53 % ปวดกล้ามเนื้อ 16.73 % คลื่นไส้ 15.54 % โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 38 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 3 ราย เหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 3 ราย  และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 32 ราย

บูสเตอร์แอสตร้าเซนเนก้า

          กรณีการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 หรือบูสเตอร์ สูตรเข็ม1-2เป็นซิโนแวคและเข็ม3เป็นแอสตร้าฯ ผู้ป่วยใน 88 ราย ไข้ 23.86% ปวดศีรษะ 28.41 %  อาเจียน 18.18%  ปวดกล้ามเนื้อ 18.18 %คลื่นไส้ 22.73 %  ผู้ป่วยนอก 205 ราย  ไข้ 22.44 % ปวดศีรษะ 20.49 %  เวียนศีรษะ19.02 % ปวดกล้ามเนื้อ 19.51 % คลื่นไส้ 14.63 % โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่เป็นเหตุการณ์ร่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 2 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 1 ราย

อ่านข่าว : สธ. ย้ำฉีดวัคซีนลดป่วยรุนแรง อาการไม่พึงประสงค์พบน้อยมากและรักษาได้
 

บูสเตอร์ไฟเซอร์

      กรณีการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 หรือบูสเตอร์ สูตรเข็ม1-2เป็นซิโนแวคและเข็ม3เป็นไฟเซอร์ ผู้ป่วยใน 18 ราย ไข้ 33.33% ปวดศีรษะ 27.78 %  อาเจียน 27.78%  คลื่นไส้ 27.78 % เวียนศีรษะ 22.22% ผู้ป่วยนอก 98 ราย  ไข้ 16.33 % ปวดศีรษะ 15.31%  ผื่น 13.27% เวียนศีรษะ13.27 % คลื่นไส้ 18.37 % โดยมีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย คณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 1 ราย และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล 2  ราย

     เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน

       ส่วนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์การรายงานสอบสวนโรค โดยเป็นกรณีต้องรับเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในของรพ.ของการฉีดวัคซีนแต่ละตัวนั้น ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ย.2564  ประเทศไทยฉีดวัคซีนโควิด19สะสม 35,912,894 โดสใน แยกเป็น

         ซิโนแวค ฉีดสะสม 15,292,644 โดส เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์การรายงานสอบสวนโรค 2,667 ราย คิดเป็น 17.44 ต่อแสนโดส ในจำนวนนี้เกี่ยวข้องกับวัคซีนจากการพิจารณาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ กรณีแพ้รุนแรง 24 ราย คิดเป็น 0.16 ต่อแสนโดส ทั้งหมดหายเป็นปกติ

         แอสตร้าเซนเนก้า ฉีดสะสม 15,419,603 โดส  มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต้องสอบสวนโรค 3,004 ราย คิดเป็น 19.48 ต่อแสนโดส เกี่ยวข้องกับวัคซีน กรณีแพ้รุนแรง 6 ราย คิดเป็น 0.04 ต่อแสนโดส กรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำหลังได้รับวัคซีน 5 ราย คิดเป็น 0.03ต่อแสนโดส 

          ซิโนฟาร์ม ฉีดสะสม 4,330,836 โดส มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต้องสอบสวนโรค 193 ราย คิดเป็น 4.46ต่อแสนโดส

ไฟเซอร์เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็ก

        ไฟเซอร์ ฉีดสะสม 869,811 โดส  มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ต้องสอบสวนโรค 90 ราย คิดเป็น 10.35ต่อแสนโดส เกี่ยวข้องกับวัคซีน กรณีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย คิดเป็น 0.11ต่อแสนโดส หายเป็นปกติ เป็นเด็กชายอายุ  13 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงมีภาวะอ้วน
 เสียชีวิต 1 รายจากวัคซีน

     กรณีเสียชีวิต มีการรายงานผู้เสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีน 628 ราย รอสรุปผล 122 ราย และคณะผู้เชี่ยวชาญฯพิจารณาแล้ว  416 ราย ในจำนวนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนเป็นเหตุการณ์ร่วมจากภาวะโรคอื่น 249 ราย เช่น ติดเชื้อของระบบประสาทและสมอง 2 ราย  เลือดออกในสมอง 26 ราย  เส้นเลิอดสมองอุดตัน 5 ราย  ปอดอักเสบรุนแรง 69 ราย ลิ่มเลือดอุดตันในปอด 3 ราย โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 64 ราย ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด 19 ราย  มะเร็งเต้านม 1 ราย มะเร็งท่อน้ำดี 1 ราย มะเร็งปอด 1 ราย  ภาวะอื่นๆ เลือดออกในช่องท้อง 4 ราย รับประทานเห็ดพิษและตับวาย 2 ราย โรคอื่นๆ 25 ราย  คาดว่าน่าจะไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนให้รอผลชันสูตรและข้อมูลเพิ่มเติม 24 ราย

      เหตุการณ์ที่ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 32 ราย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ 18  ราย ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ 2 ราย  เลือดออกในสมอง 2 ราย ระบบหัวใจล้มเหลว 1 ราย และรอสรุปสาเหตุการเสียชีวิตจากผลชันสูตรศพ 9ราย และเหตุการณ์ที่สรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน 1 ราย  โดยเข้าข่ายภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ เป็นหญิง อายุ 28 ปี  พื้นที่นนทบุรี เกิดอาการหลังรับวัคซีนแอสตร้าฯเข็มแรก 6 วัน

ไทยเกิดภาวะVITT 0.03ต่อแสนโดส

    นพ.จักรรัฐ กล่าวอีกว่า การเกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำภายหลังได้รับวัคซีนหรือ VITT(Vaccine-induced Immune Thrambotic Thrambocytopenia:VITT) ในประเทศไทยพบผู้ป่วยสงสัย 5 ราย เป็นชาย 2 ราย หญิง 3 ราย อายุระหว่าง 21-40 ปี 3 ราย คิดเป็น 0.06ต่อการฉีกดวัคซีน 1แสนโดส 41-60ปี 1 ราย คิดเป็น 0.02 ต่อการฉีกดวัคซีน 1แสนโดส และ61-80 ปี 1 ราย คิดเป็น 0.02 ต่อการฉีกดวัคซีน 1แสนโดส พื้นที่กทม. 3 ราย นนทบุรี 1 ราย และนราธิวาส 1 ราย  ในจำนวนนี้ หายเป็นปกติ 2 ราย และเสียชีวิต 3 ราย  ทุกรายมีประวัติอาการภายหลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แข็มแรก ช่วงระยะเวลาตั้งแต่รับวัคซีนถึงเริ่มมีอาการ 3-15 วัน 

       ทั้งนี้ อุบัติการณ์เกิดของภาวะVITTในประเทศไทย 0.03ต่อแสนโดส ขณะที่ในยุโรป แคนาดา และออสเตรเลียพบอุบัติการณ์ 0.73ต่อแสนคนที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าฯเข็มแรก อังกฤษพบการรายงานในคนอายุน้อยมากกว่าคนสูงอายุ มีอุบัติการณ์ อายุ 50 ปีขึ้นไป 1รายต่อแสนโดส และอายุน้อยกว่า 50 ปี 1 รายต่อ 5 หมื่นโดส ซึ่งจะเห็นว่าในประเทศอังกฤษเกิดมากกว่าไทยถึง 30 เท่า ในประเทศไทยถือว่าเกิดน้อยมาก
     “ภาวะVITTสามารถเกิดขึ้นได้แต่น้อยมาก และสามารถรักษาให้หายได้ ถ้าได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากประชาชนมีอาการดังนี้ข้อใดข้อหนึ่ง คือ ปวดศีรษะรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ปากหรือหน้าเบี้ยว เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ขาบวมเจ็บ ปวดท้องรุนแรง หรือพบมีจุดเลือดออกคล้ายไข้เลือดออกแต่จะไม่มีไข้ ภายหลังได้รับวัคซีน 4-30 วัน ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน และควรแจ้งประวัติการรับวัคซีน โดยนำบัตรนัดหรือบัตรฉีดวัคซีนไปด้วย ซึ่งหากตรวจพบและรักษาได้เร็วจะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตได้ รวมถึง แพทย์จะต้องนึกถึงภาวะนี้หากคนไข้เข้ารับการรักษาและมีเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับประวัติรับวัคซีน”นพ.จักรรัฐกล่าว
ฉีดไฟเซอร์เฝ้าระวังกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

        สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งปัจจุบันมี 2 ตัว คือไฟเซอร์และโมเดอร์นา  รายงานอุบัติการร์การเกิดประมาณ 16 ราย  ใน 1 ล้านโดสของการฉีด พบในเพศชาย เป็นส่วนใหญ่ อาการพบได้ภายใน  30 วันหลังได้รับวัคซีน แต่ส่วนใหญ่พบภายในที่ 7 วัน พบในเข็มที่ 2 มากกว่าเข็มที่ 1  เพศชายที่อายุ 12-17ปีจะมีอัตราการเกิดสูงสุด รองลงมาช่วงอายุ 18-24 ปี และผู้ป่วยหายเป็นปกติได้เกือบทั้งหมด ทั้งนี้ หากมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจหอบ เหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย ใจสั่น หากมีอากการภายใน 30 วันหลังได้รับวัคซีนควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ กรณีเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลวมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อประเมินภาวะของโรคก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA

     “เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนที่ประเทศไทยใช้อยู่ยังมีมากกว่าอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น จึงยังคงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนต่อไป ดังนั้น ขอให้ประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่ติดโควิด-19แล้วมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคและหญิงตั้งครรภ์ให้เข้ารับการฉีดวัคซีน”นพ.จักรรัฐกล่าว