อย่าปล่อยให้'ปอด'ถูกทำร้าย จนกลายเป็น'มะเร็ง'

อย่าปล่อยให้'ปอด'ถูกทำร้าย จนกลายเป็น'มะเร็ง'

รู้ไหม..."มะเร็งปอด"ร้ายแรงขนาดไหน ไม่ได้มาจากสารพิษจากควันบุหรี่อย่างเดียว ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อีก

วันมะเร็งปอดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้คนทั่วโลกหันมาตระหนักถึงภัยของมะเร็งปอด ซึ่งเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงและเป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก

จากความตระหนักดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการจัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “ดูแลปอด ดูแลใจ เพื่อผู้ป่วยมะเร็งปอดโดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง กลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยมะเร็งปอดและผู้ดูแล (Lung Cancer Patient Advocacy Group) แพลตฟอร์มความรู้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอด LungAndMe และคณะทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย (Thai Lung Cancer Group: TLCG) เพื่อเจาะลึกประเด็นต่าง ๆ

 

อัตราเสียชีวิตจากมะเร็งปอด 

สถิติในปี 2563 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยมะเร็งปอดในประเทศไทยประมาณ 23,713 ราย และเสียชีวิตประมาณ 20,395 ราย ซึ่งนับเป็นมะเร็งที่มีอุบัติการณ์และอัตราการเสียชีวิตที่สูงเป็นอันดับสองในประเทศไทย

โดยปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นเมื่อเกิดมะเร็งขึ้นจึงมีโอกาสเสียชีวิตสูง ในด้านของปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน

ปัจจัยภายนอกเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้เช่น การสูบบุหรี่และการได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มือสองหรือมือสาม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปอด รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การสัมผัสกับแก๊สเรดอนและสารก่อมะเร็งอื่น ๆ เช่น แร่ใยหิน โครเมียมและรังสี

ในด้านของปัจจัยภายใน จะเป็นเรื่องของพันธุกรรม ซึ่งเกิดขึ้นจากยีนที่ผิดปกติทำให้เซลล์ในปอดแบ่งตัวอย่างต่อเนื่อง จนกลายแป็นมะเร็งในที่สุด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมนั้นจะพบได้มากในผู้ป่วยชาวเอเชียที่อาจไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงภายนอก เช่น ไม่ได้สูบบุหรี่ เป็นต้น

 

163039866164

(คนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปอดมาก สูงเป็นอันดับสองในประเทศ) 

ความเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอด

รศ.พญ.บุษยามาส ชีวสกุลยง อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา รพ.มหาราชนครเชียงใหม่กล่าวว่า การเดินทางของผู้ป่วยมะเร็งปอดแบ่งออกเป็นสี่ขั้นหลักๆ ดังนี้

"หนึ่ง คือ ก่อนที่จะตรวจพบมะเร็งผู้ป่วยควรสังเกตการณ์อาการและความเสี่ยงของตนเอง รวมถึงวิธีป้องกันและแนวทางการตรวจคัดกรอง

ขั้นที่สองคือเมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งแล้ว เราจะมีการตรวจยืนยันอย่างไร เช่น เป็นมะเร็งชนิดไหน ระยะที่เท่าไหร่ มีตัวบ่งชี้ทางชีวภาพหรือไม่ ซึ่งนับเป็นขั้นตอนของการวินิจฉัย

ขั้นตอนต่อมาคือการรักษา ควรศึกษาว่ามีแนวทางการรักษาตามชนิดและระยะอย่างไร ผ่าตัดได้ไหม ต้องฉายรังสีไหม มีตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่เหมาะกับยามุ่งเป้าหรือไม่ เพื่อวางแผนแนวทางการรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย

ขั้นตอนสุดท้ายคือช่วงเวลาที่ผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ บางคนรักษาเป็นเดือน แต่หลายคนจำเป็นต้องรักษานานเป็นปีถึงหลายปี หากเป็นมะเร็งปอดระยะต้น ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้

แต่หากเป็นมะเร็งระยะลุกลามเฉพาะที่หรือระยะแพร่กระจายก็สามารถรักษาและเฝ้าระวังอาการไปได้เรื่อย ๆ ทั้งนี้เส้นทางการรักษาของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นแตกต่างกันออกไป บางรายตอบสนองดีต่อการรักษา

แต่หากผู้ป่วยดื้อยาก็อาจประสบอุปสรรคระหว่างทางและอาจต้องมีการปรับแนวทางการรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลลัพธ์การรักษาที่ดีกว่า”

 

 

163039892460

ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา รพ.พระมงกุฎเกล้า

 

ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา รพ.พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า "หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะที่ 1-2 เราสามารถที่จะผ่าตัดได้ เพราะจุดมุ่งหมายคือการหายขาด

ระยะที่สามหรือลุกลามเฉพาะที่ถือเป็นระยะกลาง ๆ ถึงแม้ยังไม่ได้เกิดการกระจายไปที่จุดอื่นของร่างกาย แต่มะเร็งเป็นก้อนที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ จึงอาจผ่าตัดไม่ได้ ซึ่งในกรณีนี้อาจจะต้องใช้เคมีบำบัดหรือการฉายแสง เพื่อให้ก้อนยุบลงแล้วค่อยพิจารณาผ่าตัด

หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะสามปลาย ๆ ผ่าไม่ได้แล้วจะรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง ส่วนผู้ป่วยระยะที่สี่ หรือระยะแพร่กระจายการรักษาจึงจะเป็นการให้ยาเพื่อเพิ่มระยะเวลารอดชีวิต ลดการกำเริบ บรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดจากตัวโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิต

ดังนั้นจุดมุ่งหมายของการรักษาผู้ป่วยระยะลุกลามเฉพาะที่หรือระยะที่สี่ไม่ใช่การหายขาด แต่เป็นการรักษาเพื่อลดอาการและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี”

ปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งปอด

จิตนิภา ภักดี ผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิด EGFR ระยะที่สี่ ได้ร่วมเล่าประสบการณ์ตั้งแต่การวินิจฉัยไปจนถึงอาการปัจจุบัน

ส่วนตัวเป็นมะเร็งปอดชนิดที่เกิดจากพันธุกรรมโดยมียีนผิดปกติเป็นชนิด EGFR ตอนตรวจพบมีอายุเพียง 29 ปีและค่อนข้างดูแลสุขภาพดีพอสมควร ไม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ และคนในครอบครัวก็ไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งต่อให้เราเป็นมะเร็งได้เลย ก่อนที่จะตรวจพบมะเร็ง

ตอนนั้นมีอาการไอเรื้อรัง แต่ไม่มีเสมหะหรือเจ็บคออย่างใด จึงประมาทและไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็นอะไรมาก จนเริ่มมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยกว่าปกติ และน้ำหนักลดลงเรื่อย ๆ จึงยอมไปพบแพทย์ในที่สุด

ระหว่างที่รอผลตรวจอาการก็เริ่มแย่ลงตามลำดับ เริ่มหายใจไม่ปกติ และน้ำหนักลงไปกว่า 9 กิโล ต่อมาเมื่อทราบว่าเป็นมะเร็งปอดระยะแพร่กระจาย ชนิดที่มียีนกลายพันธุ์ EGFR จึงเริ่มการรักษาทันที ด้วยการทานยามุ่งเป้า โดยได้เริ่มทานยามาประมาณ 17 เดือน

จากที่เรามีอาการผิดปกติหอบหายใจไม่ค่อยสะดวก หลังจากที่ทานยามุ่งเป้าไปเพียงหนึ่งสัปดาห์อาการก็เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผลข้างเคียงอย่างเดียวคือมีผื่นคล้ายสิวขึ้นที่หน้าและลำตัว และทุกวันนี้เราก็สามารถใช้ชีวิตได้เกือบจะปกติเท่ากับตอนก่อนเป็นมะเร็ง”

ทางด้าน สลิลลา หงษ์นคร ผู้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิด ALK ระยะที่สี่ เล่าถึง การดูแลคุณแม่ที่เป็นมะเร็งปอดระยะที่สี่ว่า ตรวจพบประมาณเดือนเมษายน 2560 โดยคุณแม่เป็นคนที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว จนมาวันหนึ่งคุณแม่เริ่มรู้สึกอึดอัดเหมือนหายใจไม่เต็มปอด และหายใจไม่สะดวก

"เป็นไม่มาก แต่รู้สึกได้ว่าผิดปกติ ดังนั้นจึงไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และพบว่ามีน้ำอยู่ในปอด จากนั้นจึงตรวจพบเซลล์มะเร็ง และหลังจากทำ ซีที สแกน และตรวจชิ้นเนื้อ จึงทราบว่าคุณแม่เป็นมะเร็งปอดระยะที่สี่ ชนิดที่ยีนกลายพันธุ์ ALK

ในฐานะผู้ดูแลตอนแรกค่อนข้างหนักใจว่า เราจะผ่านตรงนี้ไปได้อย่างไร กังวลทุกหนทาง แต่สุดท้ายเราต้องเชื่อมั่นในความก้าวหน้าทางการแพทย์ปัจจุบัน คอยให้กำลังใจและดูแลคุณแม่เป็นอย่างดี”