กรมวิทย์ฯตรวจพิสูจน์ตัวอย่างสารตั้งต้น 'หัวน้ำหวาน' พบส่วนผสมยาอันตราย

กรมวิทย์ฯตรวจพิสูจน์ตัวอย่างสารตั้งต้น 'หัวน้ำหวาน' พบส่วนผสมยาอันตราย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจพิสูจน์ตัวอย่างสารตั้งต้น "หัวน้ำหวาน" มีลักษณะเป็นของเหลวสีแดง คล้ายน้ำหวาน บรรจุในถุงพลาสติกใสมัดปากถุงด้วยหนังยาง พบส่วนผสมของตัวยาคลอร์เฟนิรามีน ซึ่งเป็นยาอันตราย

วันนี้ (16 พ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ได้รับตัวอย่าง “หัวน้ำหวาน” จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นของเหลวสีแดง คล้ายน้ำหวาน บรรจุในถุงพลาสติกใสมัดปากถุงด้วยหนังยาง ไม่มีฉลากแจ้งชื่อผลิตภัณฑ์ เลขสารบบ ส่วนประกอบ และสถานที่ผลิต ตรวจพบส่วนผสมของตัวยาคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) จัดเป็นยาอันตราย ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ลำดับที่ 32 ยาจำพวกฮิสตามีนและแอนติฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ แต่ตรวจไม่พบสารเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทชนิดอื่นๆ พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของยาดังกล่าว

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการลักลอบผลิต "หัวน้ำหวาน" สี่คูณร้อย ในอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคนกลุ่มหนึ่งลักลอบผลิตสารตั้งต้นที่ใช้เป็นส่วนผสมของสารเสพติด เรียกกันว่า "หัวน้ำหวาน" มีลักษณะคล้ายน้ำหวานสีแดง มีกลิ่นคล้ายผลไม้สละและมีความเหนียวข้น ส่งขายให้กับกลุ่มผู้ดื่ม "สี่คูณร้อย" โดยกระจายขายตามร้านค้าชุมชน และส่งขายในช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้ดื่มสี่คูณร้อยบอกว่าหัวน้ำหวานดังกล่าวถูกนำมาทดแทนยาแก้ไอที่ผสมน้ำกระท่อมเพื่อดื่ม ชาวบ้านในพื้นที่จึงเกิดความเป็นห่วง และได้นำตัวอย่างหัวน้ำหวานส่งให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อตรวจพิสูจน์ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ได้รับตัวอย่าง "หัวน้ำหวาน" ดังกล่าวจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มีลักษณะเป็นของเหลวสีแดง คล้ายน้ำหวาน บรรจุในถุงพลาสติกใส มัดปากถุงด้วยหนังยาง ไม่มีฉลากแจ้งชื่อผลิตภัณฑ์ เลขสารบบ ส่วนประกอบ และสถานที่ผลิต ได้ทำการตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดและตัวยาที่อาจผสมในตัวอย่างดังกล่าวด้วยวิธี TLC และ LCMS

ผลตรวจพบว่ามีส่วนผสมของตัวยาคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) จัดเป็นยาอันตราย ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ลำดับที่ 32 ยาจำพวกฮิสตามีนและแอนติฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของสารฮีสตามีน ซึ่งเป็นสารที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างขึ้นและก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อภูมิแพ้ ยาคลอร์เฟนิรามีนจึงใช้บรรเทาอาการจากหวัด จาม น้ำมูกไหล น้ำตาไหล อาการคัน นอกจากนี้แพทย์ยังอาจใช้รักษาอาการอื่นๆ ตามความเหมาะสมด้วย แต่ตรวจไม่พบสารเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทชนิดอื่นๆ ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน แอมเฟตามีน อีเฟดรีน และสารสำคัญของพืชกระท่อม (สารไมทราไจนีน Mitragynine) สำหรับตัวยาแก้แพ้ แก้ไออื่นๆ ได้แก่ ไดเฟนไฮดรามีน และเด็กซ์โตรเมทอร์แฟน ก็ยังตรวจไม่พบในตัวอย่างนี้ ทั้งนี้ได้รายงานผลให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชทราบแล้ว

“ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่มีฉลากแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ เลขสารบบ สถานที่ผลิตใดๆ แสดงถึงการผลิตที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน และยังตรวจพบตัวยาอันตรายชนิดคลอร์เฟนิรามีน ซึ่งมีอาจเกิดอาการข้างเคียง เช่น ง่วงนอน มึนงง เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว การมองเห็นไม่ชัดเจน ปากคอจมูกแห้ง ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น และยังก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม ปัญหายาเสพติด จึงขอแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบถึงผลิตภัณฑ์เสี่ยงในชุมชน และเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลในครอบครัวหรือชุมชนได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ช่วยกันเป็นหูเป็นตาและเป็นเครือข่าย เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตรายในชุมชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. และหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไป” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว