สธ.แถลง! กรณีพบผู้ป่วย 'COVID-19' ที่รพ.รามาธิบดี หลังกักตัวครบ 14 วัน

สธ.แถลง! กรณีพบผู้ป่วย 'COVID-19' ที่รพ.รามาธิบดี หลังกักตัวครบ 14 วัน

สธ.แถลงกรณีพบผู้ป่วย "COVID-19" ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี หลังกลับจากต่างประเทศ และกักตัวครบ 14 วัน

เมื่อวันที่ 19 ส.ค.63  แถลงข่าว กรณีมีผู้สงสัยเชื้อติดไวรัสโควิด-19 ที่ รพ.รามาธิบดี โดยโฆษก ศบค. พร้อมด้วย อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะบดีคณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี ที่ ห้องประชุมชั้น 1 กรมควบคุมโรค สธ. 

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวชี้แจงถึง 2 เคสที่เป็นประเด็น  มีรายละเอียดดังนี้

ผู้ติดเชื้อรายแรก เป็นเพศหญิง 34 ปี จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เดินทางกลับไทยวันที่ 2 มิ.ย.63 ไม่มีอาการ เข้ารับการกักตัว 14 วัน โดยตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกวันที่ 5 มิ.ย. พบสารพันธุกรรมปริมาณน้อย สรุปผลกำกวม (inconclusive)

ตรวจครั้งที่สองในวันที่ 13 มิ.ย. ไม่พบเชื้อ และได้รับอนุญาตเดินทางกลับภูมิลำเนา จ.ชัยภูมิ และพักแยกตัวที่บ้านจนครบ 30 วัน

ต่อมาในวันที่ 17 ส.ค. เนื่องจากต้องเตรียมตัวไปต่างประเทศ จึงได้มาตรวจสุขภาพ ที่ รพ.รามาธิบดี 

ผลตรวจออกมาในวันที่ 18 ส.ค. พบสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 ปริมาณน้อย ขณะเดียวกันตรวจเลือดตรวจพบมีภูมิคุ้มกันแล้ว ขณะนี้ แพทย์รับไว้ดูแล และสรุปว่า เคสแรก เป็นผู้ติดเชื้อรายเดิม และพบซากเชื้อ รวมถึงเนื่องจากรายนี้ ได้กักตัวครบตามมาตรการ จึงถือว่า ไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ผู้ติดเชื้อรายที่สอง เพศหญิง 35 ปี ทำงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตน์ เดินทางกลับไทย 24 มิถุนายน กักตัว 14 วัน ตรวจเชื้อ 2 ครั้งไม่พบเชื้อ ได้รับอนุญาติให้กลับจังหวัดเลย จากนั้น วันที่ 16 สิงหาคม เดินทางเข้ากทม. โดยรถยนต์ส่วนตัว เตรียมตัวไปทำงานต่างประเทศ โดย 18 สิงหาคม ตรวจสุขภาพ หาเชื้อโควิด-19 พบสารพันธุกรรม แต่ไม่มีอาการ ขณะนี้ รพ.รามาฯ ได้ติดตามนำตัวมาไว้ดูแลแล้ว อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทางระบาดวิทยา คาดว่าจะเป็นการติดเชื้อในประเทศได้น้อยมาก ต้องตรวจสอบโดยใช้กระบวนการเดียวกับรายแรก หากได้ผลเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบต่อไป

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยง รายแรก เนื่องจาก เป็นผู้ติดเชื้อรายเดิม สารพันธุกรรมปริมาณน้อย เป็นซากเชื้อ ไม่มีความสามารถในการแพร่โรค คนที่ใกล้ชิด ไม่มีความเสี่ยง เพียงแต่ว่าเราดำเนินการตามมาตรการปลอดภัยสูงสุด แนะนำให้คนอยู่กล้ชิดเฝ้าระวังและปฏิบัติตนให้ครบ 14 วัน ส่วนรายที่ 2 กระบวนการตรวจสอบก็จะดำเนินการเช่นดียวกัน สธ. เมื่อได้รับรายงานเรื่องนี้ได้ให้ทีมสอบสวนโรคสอบสวนเบื้องต้น เพื่อให้ได้ประวัติเสี่ยง ผู้ใกล้ชิดทั้ง 2 ราย และได้ประสานกับสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่เพื่อติดตามผู้ใกล้ชิด ในครอบครัวและชุมชน เพื่อสอบสวนเพิ่มเติม และแนะนำการปฏิบัติตัวในการควบคุมโรคอย่างถูกต้องต่อไป

"จากข้อมูลทางระบาดวิทยาเราไม่มีรายงานในส่วนของผู้ติดเชื้อในประเทศ 86 วัน เราตรวจเชิงรุก ทั้งในชุมชน ในพื้นที่ ในเหตุการณ์ ทั้งในกรณีระยอง กทม. กระบี่ และบริเวณชายแดนสระแก้ว ทั้งหมดเป็นลบ และผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศและอยู่ในสถานที่กักกัน ในจำนวน 7 หมื่นราย พบผู้ติดเชื้อเพียง 400 กว่าราย ดังนั้น ข้อมูลทางระบาดวิทยา โอกาสที่จะติดเชื้อในประเทศยังน้อย แต่มาตรการการป้องกันโรคของประเทศฯ กำหนดว่าต้องตรวจสอบ สอบสวนโรค จึงเป็นที่มาที่ทาง รพ.รามาฯ รับคนที่มาตรวจและพบสารพันธุกรรมในรายที่ 2 ไว้ เพื่อแยกออกมาเพื่อความปลอดภัย ต่อมาต้องตวจวจภูมิคุ้มกัน และตรวจอื่นๆ เช่นกรณีที่ 1 เช่นกัน

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวเสริมว่าสำหรับเคสแรก มีความมั่นใจในระดับหนี่ง แต่รายที่ 2 ต้องข้อมูลก่อน เพราะชุดข้อมูลต้องรื้อตั้งแต่เดือนมิถุนายนแต่อย่างไรก็ตาม จะต้องเพลย์เซฟตลอด ต้องดูแลอย่างดี ถามว่าปลอดภัยไหม ต้องคิดเหมือนต่างประเทศ ระลอก 2 เกิดขึ้นได้ ต้องไม่ประมาทให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีการติดเชื้อ เพราะฉะนั้น ในสาวนของการชุมนุม ต้องปกป้องตนเอง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ ต้องสม่ำเสมอ"

ด้าน นายแพทย์ โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค อธิบายเพิ่มเติมว่า จากผลงานการตีพิมพ์ศูนย์ป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา วารสารการแพทย์ในต่างประเทศ ที่ออกมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา เรื่องการระบาดวิทยาของผู้ติดเชื้อ สาระสำคัญ คือ มีความเป็นไปได้ที่จะพบเชื้อ ไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรคของคนที่เคยได้รับการวินิจฉัยโควิด-19 แล้ว นานถึง 3 เดือน ไม่ใช่ความรู้ใหม่ เพราะไทยก็เจอ ในเดือน มกราคม ที่พบผู้ป่วยซึ่งทำการรักษาใน รพ. นานถึง 2 เดือน แต่พบว่า เชื้อที่ตรวจเจอไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้

ดังนั้น จึงไม่สามารถแพร่เชื้อได้ อย่างกรณีนี้ อยู่ในกักกัน 14 วัน และยังอยู่ที่บ้านอีก 30 วัน ถือเป็นความปลอดภัยสำหรับประชาชนและคนในครอบครัว