'นิเวศวัฒนธรรมผาดอกเสี้ยว' คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน

'นิเวศวัฒนธรรมผาดอกเสี้ยว' คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน

แต่ละปีมีเพียง 5 % ของนักท่องเที่ยวดอยอินทนนท์ ที่จะเดินศึกษาธรรมชาติในเส้นทางผาดอกเสี้ยว ในจำนวนนี้ 90 % เป็นต่างชาติ  ที่นี่มีความโดดเด่นเรื่องของ “นิเวศวัฒนธรรม”

      เมื่อปี 2565 เอ็กโก กรุ๊ป โดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และชุมชนบ้าน แม่กลางหลวง ปรับปรุงเส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยว อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ให้มีความแข็งแรง ปลอดภัย และเป็นมิตรกับธรรมชาติ โดยนำภูมิปัญญา การก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอมาใช้ในการออกแบบ เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของชุมชน พร้อมพัฒนาระบบสื่อความหมาย ทั้งภายในเส้นทางและระบบออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้เส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยว เป็นแหล่งเรียนรู้ “นิเวศวัฒนธรรม” ที่สำคัญของชุมชนที่อยู่ร่วมกับผืนป่าต้นน้ำได้อย่างยั่งยืน
เป้าหมายขับเคลื่อนผาดอกเสี้ยว
      เทพรัตน์  เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวว่า มูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้ปรับปรุงเส้นทางฯ โดยยึดหลักการออกแบบที่มีผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด การรับฟังความคิดเห็นและมีส่วนร่วมจากกลุ่มต่าง ๆ นำภูมิปัญญาการก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอ มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาระบบสื่อความหมาย 14 จุด ในเส้นทางฯ
          เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ คุณค่า และความสัมพันธ์ของสรรพชีวิตในผืนป่า ตลอดจนพัฒนาระบบสื่อความหมายออนไลน์และวีดิโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา เพื่อให้ผู้สนใจสามารถสัมผัสธรรมชาติในเส้นทางฯ ผาดอกเสี้ยวได้ทุกที่ ทุกเวลา
\'นิเวศวัฒนธรรมผาดอกเสี้ยว\' คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน

       “การทำป้ายสื่อความหมาย แสดงจุดไฮไลท์ของธรรมชาติตลอดเส้นทาง โดยมีนักนิเวศวิทยาเขียนอธิบายสั้นๆถึงความสำคัญ จะทำให้คนเข้าใจเรื่องราวของผืนป่า ตระหนักและเห็นความสำคัญของการพึ่งพากันระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศได้มากขึ้น กว่าที่จะมาเดินท่องเที่ยวแล้วกลับไป ไม่เพียงได้สัมผัสธรรมชาติที่สวยงาม แต่จะเกิดความรู้สึกหวงแหนและอยากที่จะรักษาให้คงอยู่”เทพรัตน์กล่าว
       ทั้งนี้ มูลนิธิฯ มีแผนยกระดับและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลผืนป่าต้นน้ำของบ้านแม่กลางหลวง ระยะเวลา 5 ปี (2565-2569)ใน 6 มิติ ประกอบด้วย   1.การอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ 19,000 ไร่

2.การฟื้นฟูพื้นที่ป่าและปรับระบบเกษตร 500 ไร่

3.การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว

4. การส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์

5.การวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม โดยจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

และ6.การส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบคนอยู่ร่วมกับป่า เพื่อให้บ้านแม่กลางหลวง  เป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวนิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อย่างแท้จริง

      อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า พื้นที่แม่กลางหลวง มีจุดเด่นเรื่องนิเวศวัฒนธรรม ซึ่งนิเวศหมายถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และวัฒนธรรมคือ ชุมชนปกาเกอะญอที่มีความเชื่อ ความเข้าใจและเคารพธรรมชาติ ก่อเกิดเป็นการทำมาหากินที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและร่วมรักษา  ทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน 

    เมื่อยกระดับเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ผูกร้อยเรื่องนิเวศวัฒนธรรม จะช่วยให้ชุมชนมีรายได้อย่างยืนจากการที่คนกับป่าเกื้อกูลกัน  คาดหวังว่าพื้นที่นี้จะเป็นต้นแบบให้กับชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ 4,260 ชุมชน เนื้อที่ 42.7 ล้านไร่เป็นอย่างที่นี่คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน 
\'นิเวศวัฒนธรรมผาดอกเสี้ยว\' คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน
    นิเวศวัฒนธรรมจุดเด่นผาดอกเสี้ยว

     ขณะที่ มานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า อธิบายถึงเรื่องนิเวศวัฒนธรรมว่า  เส้นทางผาดอกเสี้ยว ผ่านป่าดิบเขาระดับล่างที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่เกษตรกรรม และปลายทางเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง จึงมีความโดดเด่นในฐานะแหล่งเรียนรู้  “นิเวศวัฒนธรรม” ที่ผสมผสานองค์ประกอบระหว่างธรรมชาติที่สวยงาม คุณค่าของระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ คนอยู่กับป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
     เส้นทางแข็งแรง-เอกลักษณ์ปกาเกอะญอ

       จุลพร นันทพานิช  ป่าเหนือสตูดิโอ ผู้ออกแบบการปรับเส้นทางฯผาดอกเสี้ยว บอกว่า แนวคิดในการออกแบบที่เน้นเรื่องความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก แล้วนำหลักภูมิปัญญาปกาเกอญอเข้ามาร่วมทั้งหมด โดยใช้ไผ่เป็นวัสดุหลักตลอดเส้นทางทั้งการเป็นราวจับเป็นสะพาน เพราะปกาเกอะญอมีวัฒนธรรมการใช้ไม้ไผ่มาเป็นพันปีทำเป็นของใช้และที่อยู่อาศัย 

        นอกจากนี้ บ้านเรือนของปกาเกอะญอมีแบบแผนเฉพาะ มีหน้าบ้านเป็นสามเหลี่ยม จึงนำมาใช้เป็นแนวคิดของหลักของการออกแบบสะพานสามเหลี่ยม เดินข้ามน้ำตกผาดอกเสี้ยว เพื่อสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญษของชุมชนแห่งนี้ โดยควบคู่กับการคำนวณตามหลักวิศวกรรมทางสาธารณะ จึงมีความแข็งแรง ที่สำคัญ การเชื่อมร้อยกับภูมิปัญญาและวัสดุที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีส่วนที่ชำรุด ชาวบ้านสามารถซ่อมแซม บำรุงรักษาได้
\'นิเวศวัฒนธรรมผาดอกเสี้ยว\' คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ภูมิใจในชุมชนถิ่นที่อยู่
       ธัญารัตน์ ชีพเวียงไพร อายุ  35 ปี ชาวบ้านแม่กลางหลวง และผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่น เส้นทางฯผาดอกเสี้ยว บอกว่า การเป็นผู้นำเที่ยวฯเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของตัวเองควบคู่กับการทอผ้า และการทำนาในช่วงฤดูทำนา  โดยสามารถเดินนำนักท่องเที่ยวได้ 1-2 เที่ยวต่อวัน สลับหมุนเวียนกับคนในหมู่บ้านอีก 50-60 คน  ส่วนตัวเธอไม่ได้มีความคิดที่ลงไปทำงานในเมือง เนื่องจากมีความสุขที่ได้อยู่กับป่า อยู่กับธรรมชาติที่เป็นบ้านเกิด

        “จากนี้หากจะมีนักท่องเที่ยวมาศึกษาธรรมชาติในเส้นทางผาดอกเสี้ยวมากขึ้นก็ยินดีต้อนรับอย่างมาก นอกจากที่จะช่วยให้คำอธิบายผู้เดินทางมาได้เข้าใจถึงธรรมชาตินิเวศในผืนป่าแห่งนี้แล้ว ยังภูมิใจที่ได้นำเสนอวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอที่มีอยู่ตลอดเส้นทางให้คนภายในได้รับรู้และเข้าใจภูมิปัญญาปกาเกอะญอ ที่แสดงถึงการอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูล”ธัญารัตน์กล่าว  
สัมผัสป่าดิบเขา-นาขั้นบันได-วิถีปกาเกอะญอ

      การเข้าศึกษาเส้นทางธรรมชาติผาดอกเสี้ยว มีค่าใช้จ่าย 220 บาทต่อรอบ จำนวนไม่เกิน 10 คนต่อรอบ โดยจะมีต้องมีผู้นำเที่ยวเฉพาะถิ่นที่เป็นชาวบ้านแม่กลางหลวง เป็นผู้นำทุกครั้ง  มีระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 2-2.5 ชั่วโมง มีจุดเริ่มต้นเส้นทาง บริเวณกิโลเมตรที่ 30 ถนนสายจอมทอง-ยอดดอยอินทนนท์ ความสูงกว่า 1,280 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง

          สภาพตลอดเส้นทางมีลักษณะเป็นป่าดิบเขาระดับล่าง ผ่านน้ำตกผาดอกเสี้ยวและลำธารที่สวยงาม นาขั้นบันไดสะท้อนวิถีชุมชน ไปสิ้นสุด ณ หมู่บ้านแม่กลางหลวง มีความหลากหลายทางชีวภาพที่โดดเด่น ประกอบไปด้วยป่าดิบเขาที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ หลากหลายไปด้วยพรรณไม้ซึ่งช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ อากาศ อันเป็นต้นกำเนิดและเป็นบ้านของสรรพชีวิต ป่าดิบเขาเป็นป่าไม่ผลัดใบ แต่จะค่อยๆ ทิ้งใบ ผลัดเปลี่ยนใบเก่าและแตกใบใหม่ขึ้นมาทดแทนอย่างสม่ำเสมอ จึงเห็นป่าที่นี่เขียวตลอดทั้งปี

            ไม้วงศ์ก่อ (Fagaceae) อาหารอันโอชะของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ เป็นพันธุ์ไม้เด่น และมีไม้ชั้นใต้เรือนยอด ไม้พุ่ม และเห็ดชนิดต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วไป บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และระหว่างเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติ อาจได้ยินเสียงร้องหรือพบเห็นชะนีมือขาวได้ในระยะใกล้ ๆ ชะนีมือขาวมักพบในป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่มีชั้นเรือนยอดที่ต่อกัน และมีบทบาทสำคัญในการรักษาสภาพป่าให้มีความหลากหลายและยั่งยืน
\'นิเวศวัฒนธรรมผาดอกเสี้ยว\' คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน

          เมื่อเดินต่อมาจะพบกับ น้ำตกผาดอกเสี้ยว หรือน้ำตกรักจัง ที่เป็นจุดเด่นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ มีทั้งหมด 10 ชั้น ชั้นที่โดดเด่นสวยงามกว่าชั้นอื่น ๆ คือ ชั้นที่ 7 (มีความสูงประมาณ 20 เมตร) น้ำตกรักจัง เรียกตามชื่อภาพยนตร์ที่มาถ่ายทำที่น้ำตกแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2549       

         หลังจากนั้นจะเจอกับผาดอกเสี้ยว สถานที่ที่เป็นภูมินามและเอกลักษณ์ของพื้นที่แห่งนี้ ต้นเสี้ยวดอกขาว พันธุ์ไม้ท้องถิ่นที่ขึ้นหนาแน่นบนหน้าผา บานอวดดอกสวยในช่วงเดือน ก.พ. – มี.ค. และในบริเวณนี้เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างป่าอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และพื้นที่ที่คนอยู่ร่วมกับป่า ยืนยันให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิต ความเชื่อ และจารีตประเพณีดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง ซึ่งยึดโยงคน สัตว์ ป่า และต้นน้ำ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

            ในช่วงปลายเดือนต.ค.-ต้นเดือนพ.ย. จะได้เห็นนาขั้นบันได ที่เริ่มเปลี่ยนสีจากสีเขียวชอุ่มเป็นสีเหลืองทอง จุดสุดท้ายอยู่ที่หมู่บ้านแม่กลางหลวง ที่มีวิถีวัฒนธรรมเรียบง่าย สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนปกาเกอะญอที่รักสงบ สมถะ แต่งามด้วยขนบธรรมเนียม ประเพณี เป็นเสน่ห์แห่งวัฒนธรรมที่สอดแทรกให้เห็นในวิถีความเป็นอยู่ การทำการเกษตร และการสร้างบ้านเรือน