หาก“กัญชา” กลับสู่ “ยาเสพติด” หนทางที่จะไปต่อถูกกฎหมาย

หาก“กัญชา” กลับสู่ “ยาเสพติด”  หนทางที่จะไปต่อถูกกฎหมาย

“นำกัญชากลับไปอยู่บัญชียาเสพติด ผ่านบัญญัติของสธ. มีกฎหมายควบคุม รองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา” หนึ่งใน MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล หากเป็นเช่นนี้ การจะใช้กัญชาที่ถูกกฎหมาย อาจเป็นไปได้ 3 แนวทาง เข้าถึงเฉพาะบางกลุ่ม มีช่องสำหรับภาคธุรกิจ แต่ประชาชนทั่วไปปลูกไม่ได้

 Keypoints :

  • สถานะและการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงในปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาเสพติด ซึ่งมีผู้ประกอบการขออนุญาตกับอย.ทำเป็นเครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่ม และสารสกัดราว 2,500 ใบอนุญาตและขอใช้ประโยชน์ช่อดอกกับกรมการแพทย์แผนไทยฯกว่า 12,000 แห่ง 
  • ขั้นตอนดำเนินการในการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ต้องผ่านอย่างน้อย 2 บอร์ด คือ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ และบอร์ดป.ป.ส. ก่อนลงนามโดยรมว.สาธารณสุข 
  •  หากกัญชากัญชงกลับเป็นยาเสพติดประเภท 5 แนวทางที่อาจจะเป็นไปได้ในการการใช้ประโยชน์จากแบบถูกกฎหมายที่อาจจะเป็นไปได้ พิจารณาจากกฎหมายก่อนปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด

สถานะปัจจุบันกัญชา
      ตามพรบ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 กำหนดยาเสพติดให้โทษมี 5 ประเภท ประเภท 1 ให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน ประเภท 2 ให้โทษทั่วไป เช่น มอร์ฟีน โคเดอีน หรือฝิ่นยา  ประเภท 3 ให้โทษลักษณะเป็นตำรับยาและมียาเสพติดประเภท2ผสมอยู่ด้วย ประเภท 4 สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือ 2 และ ประเภท 5 ยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท 1-4 เช่น พืชฝิ่น 

        ทั้งนี้ การระบุชื่อยาเสพติดชื่อใดอยู่ในประเภทใด รวมถึง การเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงชื่อหรือประเภทให้เป็นไปตามที่รมว.สาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป.ป.ส.ประกาศกำหนด

    ตั้งแต่  9 มิ.ย.2565 “ทุกส่วนของกัญชากัญชง” จึง “ไม่เป็นยาเสพติด”  ยกเว้น สารสกัดที่มีปริมาณ THCเกิน 0.2 % และสารสกัดจากเมล็ดกัญชากัญชงที่ได้จากการปลูกนอกประเทศ ที่ยังเป็นยาเสพติด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ภายใต้การเห็นชอบของคณะกรรมการป.ป.ส.

       ปัจจุบัน ประชาชน วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ สามารถปลูกและใช้ได้ทุกส่วนของกัญชา ยกเว้นเพียง “ช่อดอก” ที่จะต้องขออนุญาตจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกก่อน เนื่องจาก “ช่อดอก” จัดเป็นสมุนไพรควบคุม ตามประกาศกรมการแพทย์แผนไทยฯ  
    กรณีใช้สารสกัดจะต้องมีปริมาณ THC ไม่เกิน 0.2 % จึงจะไม่ผิดกฎหมาย  และหากเป็นสารสกัดจากเมล็ดกัญชากัญชง จะต้องได้จากการปลูกภายในประเทศ
       และกรณีนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งยา เครื่องสำอาง หรืออาหาร จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) พิจารณาตามข้อกำหนดกฎหมายของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น พรบ.ยา พรบ.เครื่องสำอาง พรบ.อาหาร
       อย่างไรก็ตาม  กฎหมายปัจจุบันห้ามไม่ให้จำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และหญิงตั้งครรภ์  ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ “ห้ามการสูบ” เพียงแต่ห้ามสูบในที่สาธารณะ เพราะถือว่ากลิ่นและควันจากกัญชาเป็นเหตุรำคาญ ตามประกาศสธ.เท่านั้น 
     ขณะนี้ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับกัญชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อย. ประมาณ 2,500 ใบอนุญาต ได้แก่ เครื่องสำอาง ยา สมุนไพร อาหารและเครื่องดื่ม ส่วนสถานประกอบการที่ยื่นขออนุญาตใช้ช่อดอกเพื่อจำหน่าย แปรรูป ส่งออก ศึกษาวิจัยทั่วประเทศ 12,000 แห่ง 
     แน่นอน หากกำหนดให้ “ทุกส่วนของกัญชา” กลับไปเป็นยาเสพติด “ผู้รับอนุญาตจะถูกล้มกระดานทั้งหมด” เว้นแต่ว่า “รัฐบาลใหม่”จะกำหนด “เฉพาะส่วนของกัญชาเป็นยาเสพติด”

ขั้นตอนกัญชากลับเป็นยาเสพติด
        เมื่อในMOU 8 พรรคร่วมรัฐบาล ระบุจะนำ “กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” ขั้นตอนดำเนินการจึงมีดังนี้ 
    1.นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษที่มีปลัดสธ.เป็นประธาน หากเห็นชอบส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการป.ป.ส.พิจารณา

    2.คณะกรรมการป.ป.ส.พิจารณา หากเห็นชอบส่งเรื่องให้รมว.สาธารณสุข ลงนาม

     3.รมว.สาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยใส่ชื่อของ “กัญชา”ไว้แนบท้าย 
      4.ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       5.กัญชากลับเป็นยาเสพติด ณ วันที่ระบุไว้ตามที่ประกาศกำหนด

หาก“กัญชา” กลับสู่ “ยาเสพติด”  หนทางที่จะไปต่อถูกกฎหมาย

3 แนวทางใช้กัญชาหากเป็นยาเสพติด
       จุดสำคัญอยู่ที่ว่า “การกลับไปเป็นยาเสพติด”ตามMOUนั้น จะรวมถึง “กัญชง”ด้วยหรือไม่ และที่ระบุว่า “มีกฎหมายควบคุม รองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา” นั้นจะหมายความว่าอย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 
         1.กำหนด  “ทุกส่วนของกัญชาเป็นยาเสพติด”
       หากเป็นกรณีนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นกลับไปใช้แนวทางของ พรบ.ยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 19 ก.พ.2562 ซึ่งมีการใช้ตอนที่ยังไม่ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด 
      โดยมุ่งเน้นใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ผู้ได้รับอนุญาตอยู่ที่  7 กลุ่มเท่านั้น ประชาชนไม่สามารถปลูกทั่วไปได้ เว้นแต่เป็นรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์โดยต้องมีความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่กำหนดหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยครอบครองได้ในปริมาณที่จำเป็นและต้องมีใบสั่งยาหรือใบรับรอง 

      เนื่องจากพรบ.นี้มีการกำหนดไว้ว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก ยาเสพติดประเภท 5 ให้ดำเนินการได้ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึง การเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยได้รับใบอนุญาต

        กรณีคนไข้ที่ใช้รักษาตัวจะพกนำเข้ามาได้ไม่เกินปริมาณที่กำหนดและครอบครองได้เพื่อรักษาโรค โดยต้องมีใบสั่งยาหรือหนังสือรับรอง
       ผู้ที่ออกใบสั่งยาและหนังสือรับรองได้ ต้องเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน
       คนที่จะขอใบอนุญาตกัญชาได้ มี 7 ประเภทเท่านั้น ประกอบด้วย

1.หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือเกษตรศาสตร์ หรือมีหน้าที่ให้บริการทางการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์หรือเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์ประโยชน์ทางการแพทย์หรือเภสัชกรรม

2.แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร สัตวแพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้าน
3.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์
4.เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตรภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานตามข้อ 1 และ 3

5.ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ

6.ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศที่มีความจำเป็นต้องนำติดตัวเข้ามาเพื่อใช้รักษาโรคเฉพาะตัว

7.ผู้ขออนุญาตอื่นตามที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดในกฎกระทรวง

หาก“กัญชา” กลับสู่ “ยาเสพติด”  หนทางที่จะไปต่อถูกกฎหมาย
    
 2 .กำหนดเฉพาะส่วนของกัญชา ไม่เป็นยาเสพติด
       ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 31 ส.ค.2562  ที่ยังกำหนดให้ “กัญชา”เป็นยาเสพติด แต่มีส่วนที่ยกเว้นไม่เป็นยาเสพติด คือ  CBD ที่มีTHC ไม่เกิน 0.01 % ,สารสกัดหรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัดCBDเป็นส่วนประกอบหลักมี THC ไม่เกิน 0.2 %ซึ่งเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ไม่เป็นยาเสพติด โดยใน  5 ปีแรกที่ประกาศนี้บังคับใช้ ส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดนั้นเฉพาะการผลิตในประเทศของผู้รับอนุญาต และเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสิ่งเหล่านี้
        ส่วน “กัญชง” มีการยกเว้นเพิ่มเติมส่วนที่ไม่ใช่ยาสเพติดเพิ่มเติมจากกัญชา คือ เมล็ดกัญชงหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชงที่เป็นอาหาร,น้ำมันจากเมล็ดกัญชงหรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชงที่เป็นเครื่องสำอาง โดยต้องเป็นเมล็ดที่ไม่สามารถนำไปเพาะพันธุ์ได้ 

       กรณีนี้ ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะสามารถนำส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติดไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ แต่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถปลูกได้  ไม่สามารถนำส่วนอื่นๆของกัญชา เช่น ใบ ราก กิ่งก้าน ไปใช้ประโยชน์ได้
3.กำหนดเฉพาะ “ช่อดอก”และสารต่างๆ เช่น ยาง น้ำมัน เป็นยาเสพติด
     ตามประกาศสธ.ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 15 ธ.ค.2563 ที่กำหนดให้เฉพาะส่วนของกัญชากัญชง ไม่เป็นยาเสพติด คือ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ,ใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย, สารสกัดที่มีCBDและมีTHCไม่เกิน 0.2 % , กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดที่มีTHCไม่เกิน 0.2 % และเมล็ดกัญชง น้ำมันเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง
      กรณีนี้ผู้ที่ได้รับอนุญาตจะสามารถนำส่วนที่ไม่ใช่ยาเสพติดไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ แต่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถปลูกได้  สามารถนำส่วนอื่นๆของกัญชา เช่น ใบ ราก กิ่งก้าน หรืออื่นๆที่ไม่ใช่ยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ได้
     ทั้งนี้ ทั้ง 3 แนวทาง จะเป็นการควบคุมการนำ “ช่อดอก”กัญชามาใช้ในการสูบหรือเชิงสันทนาการได้ทั้งหมด และมีการควบคุมที่เข้มข้นในระดับ “ยาเสพติด” โดยประชาชนทั่วไปไม่สามารถปลูกได้ 

หาก“กัญชา” กลับสู่ “ยาเสพติด”  หนทางที่จะไปต่อถูกกฎหมาย
ข้อเสนอแนะกัญชาถึงรัฐบาล
      ในมุมของภาคธุกิจและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสาร CBD นั้น เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ “ทุกส่วนของกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด และให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาเฉพาะทางการแพทย์” ยกเว้น สารCBD ไม่ใช่ยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่ CBD ที่นำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์นั้นจะได้จาก“กัญชง”

      ที่สำคัญ จะเป็นการสร้างความเข้าใจให้กับสังคมให้ชัดเจนขึ้น ระหว่าง “กัญชา” กับ “ สารCBD” เนื่องจากกัญชา มีสารTHC ทำให้มึนเมา แต่สารนี้มีประโยชน์ในการใช้รักษาโรคบางอย่าง จึงควรมุ่งใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น  ไม่ควรให้เกิดการนำช่อดอกมาใช้สันทนาการ

      ส่วน“สารCBD” ที่นำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องสำอาง หรืออื่นๆนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดการมึนเมา และมีประโยชน์ซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในลายประเทศ 

      และมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่ารัฐบาลควรโฟกัส 5 เรื่อง ประกอบด้วย  1.การให้ความรู้ความเข้าใจกับภาคประชาชนในการใช้ประโยชน์สารสกัดจากพืชกัญชา กัญชงและกระท่อมในเชิงสุขภาพ 2.ทำให้มีความชัดเจนด้านกฎหมายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่ดี ขจัดร้านขายช่อดอกให้คนสูบออกไป 3.ตั้งเป็นพันธกิจประเทศในการทำเรื่องข้อ 1 และ 2 ให้สำเร็จ และสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้จริง  เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจการเป็น Medical Tourism Hubของเอเชีย

           4.สร้างมาตรฐานและระบบดูแลความปลอดภัยของสินค้าและบริการที่นำออกสู่ประชาชนในทุกประเภท และ5.ผลักดันการสร้างอุตสาหกรรมในเชิงยั่งยืนทั้งเรื่องการแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ศูนย์ฟื้นฟูนักกีฬา ศูนย์บำบัดคนติดยา และศูนย์บำบัดสุขภาพทางจิต  เพื่อให้ไทยเป็น Medical Hub ,Wellness Hub และMedical Tourism Hub ที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นศูนย์กลางที่มาสูบกัญชาเสรี  และอย่ามองธุรกิจกัญชา กัญชง กระท่อมเป็นผู้ร้าย แต่ควรส่งเสริมการใช้สมุนไพรเชิงมาตรฐานร่วมกับการใช้สารสกัดในกลุ่มกัญชา กัญชง กระท่อม เพื่อแข่งขันกับต่างประเทศและสร้างตลาดใหม่
       ขณะที่ในมุมของผู้ไม่เห็นด้วยที่จะให้นำกลับไปเป็นยาเสพติดนั้น มีข้อเสนแนะว่า รัฐไม่ควรนำกลับไปเป็นยาเสพติด แต่ควรออกกฎหมาย ที่เป็นพรบ.กัญชากัญชง ออกมาควบคุมการใช้ให้เข้มข้น เหมือนการมีพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ  
         หรือมิเช่นนั้น หากนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ก็ควรนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ยาสูบกลับไปเป็นยาเสพติดด้วย เว้นแต่จะมีหลักฐานเชิงประจักษ์บอกได้ว่า “กัญชาอันตรายกว่าเหล้า บุหรี่ อย่างไรจึงสมควรนำเฉพาะกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด”
         ทั้งหมดทั้งมวล ต้องดูรายละเอียดแนวทางที่ชัดเจนภายหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จว่า “นโยบายกัญชา”จะเดินต่อไปอย่างไร ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม สร้างการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ของผู้ป่วยและไม่เกิดการผูกขาด