'หมอธีระ' อัปเดตสถานการณ์ โควิด-19 จับตา 9 สายพันธุ์ย่อย Omicron

'หมอธีระ' อัปเดตสถานการณ์ โควิด-19 จับตา 9 สายพันธุ์ย่อย Omicron

"หมอธีระ" อัปเดตสถานการณ์ โควิด-19 สายพันธุ์ย่อยของ โอมิครอน (Omicron) ที่กำลังเฝ้าระวังอยู่ มี 9 ตัว ซึ่ง XBB.1.5 และ XBB.1.16 ถือว่าเป็น 2 สายพันธุ์ย่อยที่ครองการระบาดทั่วโลก

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า

  • สายพันธุ์ย่อยของ Omicron ที่กำลังจับตาดู

องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อ 18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

อัปเดตให้เราทราบว่า Omicron สายพันธุ์ย่อยที่กำลังเฝ้าระวังอยู่นั้นมี 9 ตัวได้แก่ XBB.1.5 และ XBB.1.16 ซึ่งถือว่าเป็น 2 สายพันธุ์ย่อยที่ครองการระบาดทั่วโลก จัดอยู่ในกลุ่ม Variants of Interest (VOI)

ในขณะที่มีอีก 7 ตัว ที่จัดอยู่ใน Variants under Monitoring (VUM) ประกอบด้วย BA.2.75, CH.1.1, BQ.1, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2, และตัวล่าสุดที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่ม VUM คือ XBB.2.3

  • อัปเดตความรู้โควิด-19

"สตรีที่ตั้งครรภ์ติดโควิดจะส่งผลต่อลูกในท้องได้"

เมื่อ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา วารสารการแพทย์ Placenta เผยแพร่บทความวิชาการทบทวนความรู้จนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับผลของการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในสตรีมีครรภ์

การศึกษาจากทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลให้เกิดการอักเสบ และการอุดตันของหลอดเลือดขนาดเล็กในรก

การอักเสบ รวมถึงการอุดตันของหลอดเลือดเล็กๆ จะทำให้เกิดปัญหาการไหลเวียนเลือด และความผิดปกติในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนระหว่างแม่ลูกผ่านทางรก นำไปสู่ภาวะออกซิเจนต่ำลง และทำให้เสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษของคุณแม่ และทำให้ทารกเจริญเติบโตช้า (Intrauterine growth retardation)

...ผลการศึกษาข้างต้น กระตุ้นเตือนให้เราเห็นความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งหากเป็นสตรีมีครรภ์ การติดเชื้อไม่ได้ส่งผลต่อตัวคุณแม่เท่านั้น แต่ส่งผลต่อลูกในท้องด้วย

การระบาดในไทยยังมีการติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน ควรใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน ไม่สบาย ควรแยกตัว 7-10 วัน รักษาตัวจนหายดีไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ

ติดเชื้อแต่ละครั้ง ไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตในระยะยาว การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

 

อ้างอิง

Heeralall C et al. The effects of COVID-19 on placental morphology. Placenta. 18 May 2023.