'วัคซีน' ปี 66 ที่ต้อง-ควรฉีด แยกตามวัย รวมผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ

'วัคซีน' ปี 66 ที่ต้อง-ควรฉีด แยกตามวัย รวมผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ

ปี 2566 วัคซีนป้องกันโรค ที่ต้องเข้ารับการฉีดและแนะนำควรต้องฉีด ตามแต่ละช่วงวัย รวมถึง ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ในบางพื้นที่มีข้อกำหนดให้ต้องรับวัคซีนบางชนิดก่อนการเดินทาง

Key Points:

  •  แนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ประจำปี 2566 ที่จะเป็นแบบดูโอ้ คู่กับการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ใน 7 กลุ่มเสี่ยง และแนวโน้มการฉีดในปี 2567
  • แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ปี 2566 ในเด็กที่เป็นวัคซีนพื้นฐานฟรี ตามช่วงอายุต่างๆ และในผู้ใหญ่บางโรคและบางกลุ่ม
  • วัคซีนที่แนะนำควรที่จะฉีดในวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ  รวมถึง วัคซีนที่จะต้องเข้ารับการฉีดก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ

    แนวทางให้วัคซีนโควิด-19

       ปี 2566 จะเป็นปีแรกที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จัดให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนประจำปี โดยในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน พร้อมกับการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ฟรี ตั้งแต่ 1 พ.ค.2566 เป็นต้น  แต่หากประสงค์จะรับวัคซีนโควิด-19ก่อนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็สามารถไปรับได้ก่อนตามความต้องการ

 ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ที่ได้รับสิทธิในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ร่วมกับโควิด-19 ฟรี  ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป

2.เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี

3.ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค  คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน

4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

5.โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)

6.โรคอ้วน (น้ำหนัก > 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)

และ7.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทั้งนี้กรณีหญิงตั้งครรภ์นั้นมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้บริการตลอดทั้งปี      

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เด็กไทยต่ำกว่า 5 ปี 20 % ที่ตกหล่นการรับวัคซีนพื้นฐาน
รู้จัก 'วัคซีนประจำปี’ 2 ตัว กลุ่มเสี่ยง ‘ฉีดฟรี’ พร้อมกัน ปีนี้ปีแรก

 

     สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไปสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19ได้ตามความสมัครใจ หากมีการฉีดเข็มล่าสุดนานเกิน3-4 เดือนแล้ว  หากเข้ารับการฉีดที่สถานพยาบาลของรัฐ จะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากเข้ารับที่สถานพยาบาลเอกชน จะมีค่าใช้จ่ายตามที่แต่ละแห่งกำหนด ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง หากประสงค์เข้ารับจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง   

     ขณะที่หากเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) ให้กับผู้ประกันตน กำหนดปีละ 1 ครั้ง ฟรี ในปี 2566 ได้เปิดให้บริการระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 31 สิงหาคม 2566 ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ประกันตน

แผนวัคซีนปี2566ของสธ.

      กำหนดการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ปี 2566 ประกอบด้วย

1.กำหนดการให้วัคซีนในเด็ก

-แรกเกิดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี(HB1) ควรให้เร็วที่สุดภายใน 24ชั่วโมงหลังคลอด และวัคซีนป้องกันวัณโรค(BCG)ฉีดให้เด็กก่อนออกจากโรงพยาบาล, 1 เดือนวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี(HB2)เฉพาะรายที่คลอดจากมารดาที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี

-2 เดือน วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ(เยื่อหุ้มสมองอักเสบ)หรือDTP-HB-Hib1วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน(OPV1)วัคซีนโรต้า(Rota1)

 

\'วัคซีน\' ปี 66 ที่ต้อง-ควรฉีด แยกตามวัย รวมผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ

-4 เดือน วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ(DTP-HB-Hib2)วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน(OPV2)วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด(IPV) วัคซีนโรต้า(Rota2),

- 6เดือน วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ(DTP-HB-Hib3)วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน(OPV3)วัคซีนโรต้า(Rota3)

-9 เดือน วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน(MMR1)

- 1 ปีวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์(LAJE1)

-1 ปี 6 เดือน วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน(DTP4)วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน(OPV4)วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน(MMR2)

- 2 ปี 6เดือนวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์(LAJE2)

-4ปี วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน(DTP5)วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน(OPV5)

-เด็กป.1ตรวจสอบประวัติและให้วัคซีนเฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์

-เด็ก ป.5(นักเรียนหญิง)วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี(HPV1 และHPV2)

-เด็กป.6 วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก(dT)

2.กำหนดการให้วัคซีนในผู้ใหญ่

-วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก(dT) กลุ่มเป้าหมายหญิงตั้งครรภ์ บุคคลอายุ 20,30...ปี(อายุลงท้ายด้วยเลข0)ให้ 1ครั้งทุก 10 ปี

-วัคซีนไข้หวัดใหญ่ กลุ่มเป้าหมาย หญิงตั้งครรภ์1 ครั้งทุกการตั้งครรภ์ ,บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม ปีละ 1 ครั้ง

-วัคซีนโรคหัด-หัดเยอรมัน(MR)นักศึกษาทางการแพทย์และสาธารณสุขชั้นปีที่ 1 จำนวน 1 ครั้งผู้ใหญ่อายุ 20-40ปี(ช่วงที่มีการณรรงค์) 1 ครั้ง

-และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี(HB)บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้ 3 ครั้ง ในผู้ที่เกิดก่อนปี 2536 ให้กระตุ้น 1 ครั้งในผู้ที่เกิดหลังปี 2536

\'วัคซีน\' ปี 66 ที่ต้อง-ควรฉีด แยกตามวัย รวมผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ
วัคซีนที่แนะนำผู้ใหญ่-ผู้สูงอายุ

      นอกจากนี้ วัคซีนสำหรับวัยทำงานและวัยสูงอายุที่แนะนำควรฉีด ได้แก่ 

 -วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็น (Live Attenuated Japanese Encephalitis vaccine: LAJE) คนไทยส่วนใหญ่มักจะได้รับวัคซีนชนิดนี้ตั้งแต่ยังเด็ก แต่อาจต้องฉีดกระตุ้นจำนวน 1 เข็ม ทุก ๆ 4 – 5 ปี เพื่อคงระดับภูมิคุ้มกันให้สูงพอป้องกันโรคได้ 

 -วัคซีนคอตีบ–บาดทะยัก (diphtheria tetanus vaccine: dT)  แนะนำให้ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันจำนวน 1 เข็ม ทุก 10 ปี เมื่ออายุลงท้ายด้วยเลขศูนย์ (0) 

 -วัคซีนงูสวัด (Shingles vaccine)  แนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคงูสวัด โดยฉีด 2 ครั้งห่างกัน 4 – 8 สัปดาห์

 -วัคซีนปอดอักเสบรุนแรง ชนิด 13 สายพันธุ์ (Pneumococcal Conjugate vaccine: PCV13)  แนะนำให้ฉีดในผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 1 เข็ม เพื่อป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและระบบทางเดินหายใจ รวมถึงผู้ที่มีอายุ 2 – 64 ปีบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการติดโรค เช่น ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น

-วัคซีนปอดอักเสบแบบรุนแรง ชนิด 23 สายพันธุ์ (Pneumococcal Polysaccharide vaccine: PPSV23)  แนะนำให้ฉีดในผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 1 เข็ม หลังได้รับวัคซีน PCV13 อย่างน้อย 1 ปี เพื่อป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้ครบและนานอย่างน้อย 5 ปี 

  -วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella vaccine) แนะนำให้ฉีดในผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน ในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ให้ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

\'วัคซีน\' ปี 66 ที่ต้อง-ควรฉีด แยกตามวัย รวมผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ

วัคซีนฉีดก่อนไปตปท.

    วัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยว  ซึ่งวัคซีนที่จะต้องฉีด คือ วัคซีนไข้เหลือง
-วัคซีนไข้เหลือง ตามกฎหมายอนามัยระหว่างประเทศ (WHO IHR) นักท่องเที่ยวที่จเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของไข้เหลือง คือ ประเทศแถบแอฟริกาและอเมริกาใต้  จำเป็นต้องได้รับวัคซีนไข้เหลืองก่อนการเดินทางอย่างน้อย 10 วัน
     นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนที่แนะนำเพิ่มเติม ได้แก่

-วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ (Typhoid Vaccine) ส่วนใหญ่จะพิจารณาให้ฉีดในนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในประเทศแถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดโรคไทฟอยด์
-วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Vaccine) นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในพื้นที่ห่างไกลอย่างประเทศอินเดีย ประเทศจีน หรือประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ เนื่องจากหากนักท่องเที่ยวถูกสัตว์กัดแล้ว การหาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า Immunoglobulin เพื่อฉีด  อาจทำได้ยากมาก จึงควรพิจารณาให้วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าก่อนการสัมผัสโรค

-วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอีกเสบเอ (Hepatitis A Vaccine) แนะนำให้วัคซีน ในประชากรกลุ่มเด็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น ที่อาจจะไม่มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติมาก่อน  ที่จะเดินทางไปในประเทศกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ คือ ประเทศในทวีปแถบเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียใต้ และประเทศในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ ฉีด 2 เข็ม โดยมีระยะเวลาห่างกัน 6-12 เดือน
-วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Vaccine) เป็นวัคซีนเฉพาะที่แนะนำให้ใช้ในนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม คือ

  •  นักท่องเที่ยวที่จะไปในทวีปแอฟริกา บริเวณที่เรียกว่า Meningitis belt เช่น ประเทศซูดาน  ไนจีเรีย  เอธิโอเปีย ฯลฯ
  •  นักเรียน นักศึกษาไทย ที่จะไปศึกษาต่อในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ซึ่งมีข้อกำหนดให้ต้องฉีดวัคซีนชนิดนี้ต่อไป โดยเฉพาะผู้ที่จะต้องไปอยู่หอพัก
  •  ผู้แสวงบุญที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้กำหนดไว้ว่า ทุกคนที่เข้าไปแสวงบุญจำเป็นต้องฉีดวัคซีนนี้ก่อนไป

-วัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ถ้าหากไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดนี้มาก่อน และไม่เคยมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ (หรือไม่แน่ใจว่าเคยเป็นมาก่อนหรือไม่) ควรรับการฉีด MMR 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง โดยไม่จำเป็นต้องตรวจระดับภูมิคุ้มกันก่อนฉีดวัคซีน ซึ่งจะแนะนำสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอคำแนะนำในการรับวัคซีน และควรตรวจสุขภาพก่อนออกเดินทาง

 อ้างอิง :
กรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข 
รพ.เปาโล
HITAP