ไขความจริง 'โควิด XBB.1.16' ทำไมตรวจ ATK ไม่เจอ

ไขความจริง 'โควิด XBB.1.16' ทำไมตรวจ ATK ไม่เจอ

กรมวิทย์เผยโควิด-19สายพันธุ์หลักในไทยยังเป็น XBB 30 % ส่วน XBB.1.16 เจอ 10 %  ติดตามราวกลางพ.ค.เบียดเข้าแทนที่หรือไม่ ย้ำยังตรวจด้วยATKได้  อาการไม่ต่างไข้หวัดใหญ่ ไม่รุนแรงเหมือนเดลตา ตาแดงไม่ใช่ข้อบ่งชี้การติดเชื้อ

เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2566 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวอัปเดตสายพันธุ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดชั้นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง (VOC) ทั้งหมด 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BQ.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกา ,BA.2.75 , CH.1.1 , XBB , XBB.1.16 , XBB.1.9.1 และ XBF ทั้งหมดยังเป็นสายพันธุ์โอมิครอน แต่ด้วยการระบาดเร็ว ทำให้มีสายพันธุ์ย่อย หรือบางครั้งผสมพันธุ์กันเอง 

10 %ไทยเจอ XBB.1.16

ประเทศไทยส่งรายงานการถอดรหัสพันธุกรรมไปที่ GISAID เป็น XBB.1.5 จำนวน 43 ราย ส่วน XBB.1.16 จำนวน 27 ราย

ข้อมูลสายพันธุ์โควิดในไทย ระหว่างวันที่ 8 – 14 เม.ย. 2566 พบ

  • XBB มากที่สุด 30 %
  • XBB.1.5 คิดเป็น 27.5 %
  • XBB.1.9.1 คิดเป็น 15%
  • XBB.1.16 คิดเป็น 10 % 

พบในตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อช่วงเดือนมี.ค. 2566 จำนวน 22 ราย และเดือนเม.ย. 2566 จำนวน 5 ราย (XBB.1.16 = 26 ราย และ XBB.1.16.1 = 1 ราย) รวม 27

ส่วน BN.1 ที่เคยจับตา ตอนนี้ก็ไม่เจอในไทยแล้ว  

 

สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก

ขณะนี้องค์การอนามัยโลก(WHO)จัดระดับสายพันธุ์ที่น่าสนใจ(VOI) เพียง XBB.1.5  พบ 47.9 % มีรายงานตรวจพบจาก 95 ประเทศ

สายพันธุ์ต้องติดตาม(VUM)มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ

  • XBB พบ 17.6 % ,XBB.1.16 คิดเป็น 7.6 %
  • XBB.1.9.1 พบ 4 %  

โดยจะต้องจับตา XBB.1.16 ว่าแพร่เร็วจริงหรือไม่ ถ้าเร็วจริงก็จะเบียด XBB.1.5

 
ในประเทศไทยจะต้องติดตามข้อมูลถึงประมาณกลางเดือน พ.ค. เพื่อดูว่า XBB.1.16 จะมาเบียด XBB.1.5 หรือไม่  หากขึ้น 20-30% ก็ถือว่าเร็ว แต่หากไม่มากก็ไม่ได้เบียดสายพันธุ์ปัจจุบัน  

XBB.1.16ไม่รุนแรงเหมือนเดลตา

สำหรับสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XBB.1.16 เป็นการผสมระหว่าง BA.2.10.1 และ BA.2.75 มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งโปรตีนหนาม ได้แก่ E180v , F486P ซึ่งเหมือนกับสายพันธุ์ XBB.1.5 และ K478R ซึ่งกรณีเดลตาจะเป็นตำแหน่ง T478K โดยการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง 478 เหมือนเดลตา แต่ยืนยันว่า ไม่ทำให้เชื้อรุนแรงเหมือนเดลตา ขณะนี้ ข้อมูลทั่วโลกพบผู้ป่วย XBB.1.16 ในอินเดียมากที่สุด รองมาเป็นสหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 4 % เป็น 7 %ซึ่งมากกว่าภาพรวมของโลก ส่วนแพร่เร็วกว่า BA.1.5 หรือไม่ ถ้าสันนิษฐานจากตำแหน่งของการกลายพันธุ์ ก็จะแพร่ได้เร็วกว่าเล็กน้อย ซึ่งมีโอกาสจะเบียดสายพันธุ์ XBB.1.5 ได้

 

ตาแดงไม่ใช่ข้อบ่งชี้ติดเชื้อ

การหลบภูมิคุ้มกัน จะทำให้ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ว สามารถติดเชื้อได้อีก วัคซีนโควิด-19 ในการป้องกันการติดเชื้อ ก็ได้ผลลดลง แต่หากติดเชื้อแล้วอาการจะไม่รุนแรง ส่วนความรุนแรงWHO รายงานว่า ยังไม่มีหลักฐานแสดงว่า XBB.1.16 ส่งผลต่อความรุนแรงของโรค ยังต้องติดตามต่อไป แต่ตอนนี้อาการป่วย จะไม่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น

"ส่วนที่มีรายงานในประเทศอินเดียพบว่าเด็กเล็ก มีอาการตาแดง คันตา รวมถึงตาลืมยาก ไม่มีหนองนั้น เป็นอาการที่พบได้แต่ไม่มีข้อมูลว่า มีจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการทางตามากน้อยอย่างไร แต่อาการสำคัญคือ เป็นไข้ ที่มีอินโฟกราฟิกออกมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย แยกอาการจากโควิดต่างสายพันธุ์ เช่น ตาแดงไม่มีไข้ แสดงว่าเป็น ซึ่งอาจไม่ใช่ การมีอาการตาแดงหรือไม่มีย่อมไม่ได้หมายความว่าเป็น XBB.1.16” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ยังตรวจATK เจอ

“การตรวจ ATK ยังตรวจพบได้ บางคนบอกตรวจไม่ได้ ขอนั่งยันนอนยันว่าไม่จริง ยังตรวจได้หมด เพราะการตรวจ ATK ตรวจโปรตีนโควิด ไม่ว่าสายพันธุ์ไหนก็ต้องมีโปรตีนนี้ เพียงแต่ต้องเข้าใจพื้นฐานของ ATK ว่าหากเชื้อไม่มากก็อาจหาไม่เจอได้ ต้องใช้เวลาหลังติดเชื้อ 4-5 วันหรือมีอาการ แต่การตรวจ PCR จะตรวจเจอได้เร็วมากกว่า แม้ปริมาณไม่มากก็ตรวจเจอ บางคนไม่เข้าใจตรงนี้ก็ว่าตรวจATKไม่เจอ แต่เมื่อไปตรวจPCRเจอ  ยกเว้นชุดตรวจ ATKเสื่อมสภาพ เก็บมานาน” นพ.ศุภกิจกล่าว

อาการXBB.1.16 ไม่ต่างไข้หวัดใหญ่

นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจากประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2566 ยืนยันว่า อาการของ XBB.1.16 ไม่แตกต่างจากไข้หวัดใหญ่ อาการคล้ายกันมาก ส่วนอาการเยื่อบุตาอักเสบพบมากในผู้ป่วยเด็กเล็กในอินเดีย และคู่กับมีไข้ ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนักจนเกินไป

“การเพิ่มกำลังเฝ้าระวังสายพันธุ์ โดยปลัดสธ. สั่งการให้รพ.จังหวัดทุกแห่ง ส่งตัวอย่างเชื้อ อย่างน้อย 15 ตัวอย่าง ด้วยเกณฑ์ 1.คนที่เสียชีวิต 2.คนที่มีอาการรุนแรง 3.เป็นชาวต่างชาติ 4.บุคลากรทางการแพทย์ 5.กลุ่มผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และ 6.การติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ ทั้งเล็กและใหญ่ โดยให้ส่งตัวอย่างมายังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แล้วส่งต่อมาส่วนกลางจะได้ตัวอย่างสัปดาห์ละ 700 ตัวอย่าง เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมหาสายพันธุ์ในระดับประเทศ”นพ.บัลลังก์กล่าว