พิษ 'ฝุ่น PM 2.5' เชียงใหม่ แค่ 3 เดือนมีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวที่ รพ. กว่าหมื่นคน

พิษ 'ฝุ่น PM 2.5' เชียงใหม่ แค่ 3 เดือนมีผู้ป่วยเข้ารักษาตัวที่ รพ. กว่าหมื่นคน

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เผยผู้ป่วยจาก 'ฝุ่น PM 2.5' เข้ารักษาตัวที่ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ กว่า 1 หมื่นคน ในระยะเวลาแค่ 3 เดือน ชี้เป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

วันที่ 31 มีนาคม 2566 ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) นายแพทย์บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกมาพูดถึงวิกฤติ 'ฝุ่น PM 2.5' ผ่านสารจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยระบุว่า วิกฤตหมอกควันต่อภาวะสุขภาพประชาชน

 

 

สถานการณ์วิกฤตหมอกควันที่เกิดขึ้นอย่างหนักในทุกพื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้ มลพิษอากาศ ฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน มีผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และโรคเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการกำเริบ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จำนวน 12,671 ราย (สถิติระหว่างวันที่ 1 มกราคม จนถึง 31 มีนาคม 2566) และยังมีผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ เนื่องจากหอผู้ป่วยเต็มอย่างต่อเนื่อง

 

ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง 20 กว่าเท่า เมื่อหายใจเข้าไปแล้ว สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ปอดและหลอดลมได้ นอกจากนี้ยังมีฝุ่น PM 0.1 ซึ่งเป็นฝุ่นละเอียดขนาดเล็กมาก สามารถทะลวงผ่านถุงลมเข้าสู่ระบบเลือด ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจและสมองอุดตัน หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ หอบหืดกำเริบ รวมทั้งอาการอื่น ๆ ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

 

 

บุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การวิกฤตหมอกควันภาคเหนือในขณะนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ประชาชนทุกท่านดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัว โดยเริ่มจากตัวท่านเองต้องไม่เผา ไม่เป็นต้นเหตุของปัญหาในการทำให้เกิดมลพิษ หมั่นตรวจสอบปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ จากแอปพลิเคชันรายงานดัชนีคุณภาพอากาศหรือเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ

 

หากระดับเกิน 35 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรลดการทำกิจกรรมนอกอาคาร หากระดับเกิน 50 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร คนทั่วไปควรงดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น วิ่ง ปั่นจักรยาน รวมถึงงดการเข้าร่วมแข่งขันกีฬากลางแจ้งทุกประเภท และหากเกิน 150 ไมโครกรัม/ลบ.เมตร ควรงดการออกนอกอาคาร ปิดประตูหน้าต่างมิดชิด อยู่แต่ภายในบ้าน เปิดเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้

 

หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมใส่หน้ากากที่ป้องกัน PM 2.5 ชนิด N95 และต้องสวมหน้ากากให้ถูกต้อง เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอย่างสูงสุด สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางควรได้รับการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด และหากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

ขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือมั่นใจว่า แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมดูแลประชาชนภาคเหนืออย่างเต็มศักยภาพ